May 3, 2024   12:03:14 AM ICT
หาหุ้นดี มีปันผล สำหรับคนลงทุนยาว
     บริษัทที่มีบรรษัทภิบาลที่ดี ก็มักจะสะท้อนอยู่ในความสามารถของผู้บริหารที่ระดับหนึ่งอยู่แล้ว เพราะแม้แต่เรื่องการเลือกสรรหาผู้บริหารระดับสูง หรือการพิจารณาผลตอบแทนให้แก่ผู้บริหารและคณะกรรมการ ก็ถือเป็นหนึ่งในเรื่องของการกำกับและดูแลกิจการที่ดีเหมือนกัน

ในช่วงเวลาที่หุ้นขึ้นๆลงๆ แกว่งไปแกว่งมานั้น วิธีที่ดีที่สุดในการสร้างวินัยการลงทุน ก็คือ พยายามถือหุ้นส่วนหนึ่งเก็บไว้เป็นการลงทุนระยะยาว ในขณะที่อีกส่วนหนึ่ง เราก็ขายออกไป ถ้าเห็นว่าภาวะตลาด (Market Sentitment) ไม่ดี หรือซื้อเพิ่มเข้ามาถ้าเห็นว่ากระแสกำลังมาแรง โดยส่วนที่เราถือไว้ระยะยาวนั้น อาจจะเรียกได้ว่า เป็นหุ้นที่เราเก็บไว้เป็นหลัก ถ้าตามภาษาการบริหารลงทุน ก็ต้องเรียกว่าเป็น Core Holding คือไม่ว่าหุ้นจะขึ้นหรือลง ก็ควรจะมีหุ้นพวกนี้ไว้ประจำพอร์ต ลองมาดูกันครับว่า ถ้าจะหาหุ้นดีสำหรับการลงทุนในระยะยาว (ความหมายการลงทุนทั่วๆไปอยู่ที่ ประมาณ 1-2 ปี) ควรจะดูที่อะไรบ้าง

เรื่องแรก เวลาเราไปลงทุน นอกเหนือจากผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับจาก Capital Gain หรือราคาหุ้นที่ปรับตัวสูงขึ้นแล้ว เรายังหวังที่จะได้รับเงินปันผล ซึ่งถือได้ว่าเป็นผลตอบแทนจากผลประกอบการ หรือกำไรของบริษัทโดยตรง ซึ่งดูได้จาก อัตราผลตอบแทนของเงินปันผล (Dividend Yield) ที่คำนวณได้ง่ายๆ โดยเอาเงินปันผลที่บริษัทจ่าย หารด้วยราคาหุ้น

เช่น บริษัทที่เราเข้าซื้อหุ้นมาในราคา 50 บาท จ่ายเงินปันผล 2.50 บาท ก็จะคำนวณได้ Dividend Yield เท่ากับ 2.50/50 = 5% อัตราผลตอบแทนนี้ก็ไปดูเทียบกับการลงทุนประเภทอื่น หรือเงินฝากก็ได้ว่า ได้ดอกเบี้ยเท่าไหร่ และสูงกว่าต่ำกว่าอย่างไร ปกติโดยทั่วไป บริษัทมักจะจ่ายเงินปันผลปีละหนึ่งครั้ง ในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคม หลังจากที่มีการประกาศผลการดำเนินงานของปีที่ผ่านมา และได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นเรียบร้อยแล้ว และในบางบริษัทก็อาจจะมีการจ่ายเงินปันผลกลางปี หรือรายไตรมาสเพิ่มเข้ามา

ส่วนที่สองก็คือ ดูอัตราการจ่ายเงินปันผล เพื่อดูว่าบริษัทที่เราเข้าไปลงทุนนั้น มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลอย่างไร ตรงนี้ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Payout Ratio คือบริษัททุกๆปี พอได้กำไรมา ถ้าไม่เอาไปสำรองตามกฎหมายหรือเก็บไว้ เผื่อการขยายธุรกิจในอนาคตแล้ว ก็มักจะจ่ายคืนมาให้กับผู้ถือหุ้น บริษัทไทยส่วนใหญ่มักจะมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลที่ประมาณ 50% ของกำไรสุทธิ แปลง่ายๆ ก็เก็บไว้ทำธุรกิจต่อซักครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งก็คืนเป็นผลตอบแทนให้เจ้าของบริษัท อัตราการจ่ายเงินปันผลนี้ ตัวเลขยิ่งสูงก็ยิ่งดี โดยเฉพาะในบางบริษัทที่ธุรกิจค่อนข้างนิ่ง อยู่ตัว มีกำไรสม่ำเสมอ ก็สามารถจ่ายเงินปันผลในอัตราที่ค่อนข้างสูงได้ แต่ก็มีเหมือนกันนะครับ ที่บางบริษัทไม่ค่อยยอมจ่ายเงินปันผล อันนี้ก็ต้องไปวิเคราะห์เจาะลึกต่อว่า เค๊าเก็บเงินไว้ทำอะไร ถ้าเก็บไว้ไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์ ก็สู้จ่ายออกมาให้เราที่เป็นผู้ถือหุ้นไปเลือกลงทุนเองยังจะดีกว่า ยกเว้นก็แต่ในบางบริษัทที่อาจจะอยู่ในช่วงที่กำลังเติบโตมาก มีแผนการขยายธุรกิจและการลงทุนสูง ก็อาจจะเก็บกำไรไว้มากหน่อย ก็จะทำให้ Payout ratio น้อยลง

ส่วนที่สาม แน่นอนครับ เราวางเป้าเลือกหุ้นที่จะลงทุนระยะยาวและถืออยู่เป็นหลัก นอกจากต้องการเงินปันผลแล้ว เรายังต้องการเห็นราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้นในระยะเวลานานๆด้วย เพราะฉะนั้น เราก็ต้องมองหาหุ้นที่มีความสามารถในการเติบโตในระยะยาว (Sustainable long-term growth) ในประเทศไทยเรา ยังไม่ค่อยคุ้นกับการซื้อหุ้นเก็บไว้เป็นมรดกให้ลูกหลาน ส่วนใหญ่ยังมองถึงการลงทุนชั่วลูกชั่วหลานเป็นเรื่องของบ้าน ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ เสียมากกว่า

ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว เรื่องการลงทุนครอบคลุมไปทุกด้าน โดยเฉพาะเรื่องหุ้นเป็นเรื่องธรรมดามากครับ เพราะผลตอบแทนที่ดีที่สุดในระยะยาว ยังคงเป็นการลงทุนในหุ้น ผมจำได้ว่า เคยอ่านข่าวเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ว่ามีหมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่งในประเทศฟินแลนด์ ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ พบว่าได้เคยมีผู้ใจบุญบริจาคหุ้น (ของบริษัทซึ่งในขณะนั้นเป็นโรงงานแห่งหนึ่ง) ให้แก่บ้านพักคนชราเพื่อเป็นมรดกให้หาประโยชน์ในภายภาคหน้า ปรากฏว่าเวลาผ่านไปหลายสิบปี บริษัทนั้นได้เติบโตขึ้นกลายเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกในธุรกิจโทรศัพท์มือถือ คือ โนเกีย นั่นเอง และมูลค่ามรดกที่ทิ้งไว้กลับกลายเป็นจำนวนเงินมหาศาล ที่สามารถนำมาพัฒนาสวัสดิการต่างๆในหมู่บ้านได้อย่างหาค่าไม่ได้

ส่วนที่สี่ เป็นเรื่องของการแข่งขันของบริษัท คือ Competitive edges ว่าบริษัทที่น่าลงทุนในระยะยาวนั้น จะต้องเป็นบริษัทที่นอกจากในข้อที่สาม ที่บอกว่ามีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่องในระยะยาวแล้ว ความสามารถในการแข่งขันก็ต้องยั่งยืนด้วย ก็เราเป็นนักลงทุนระยะยาวนี่ครับ เพราะฉะนั้น เราก็ต้องมั่นใจด้วยว่า หุ้นที่เราเข้าไปซื้อนั้น ในวันข้างหน้ายังคงดูดีเหมือนตอนปัจจุบัน จุดเด่นของบริษัทยังสามารถเป็นจุดขายได้อย่างต่อเนื่อง ถ้าเป็นบริษัทขายสินค้า ก็ต้องมีความสามารถในการแข่งขันที่จะรักษาภาพลักษณ์ของสินค้าให้ยั่งยืน หรือถ้าเป็นพวกโรงงานหรือผู้ผลิตก็อาจมองถึงทรัพยากร เคล็ดลับกระบวนการผลิตที่ไม่มีใครมาลอกเลียนแบบได้ เป็นต้น

ส่วนที่ห้า คือ ผู้ที่ทำให้ผู้ถือหุ้นวางใจในการนำบริษัทไปสู่ความสำเร็จ คือ ผู้บริหารนั่นเองครับ ถ้าเป็นธุรกิจที่เจ้าของสร้างมากับมือ เราที่เป็นผู้ไปร่วมถือหุ้น ก็ต้องมั่นใจได้ว่า เจ้าของหรือเถ้าแก่มีความสามารถในการบริหาร และที่สำคัญมีความสามารถในการถ่ายทอด การนำองค์กรให้แก่ลูกหลานต่อไปในอนาคตได้ หรือถ้าเราไปดูบริษัทใหญ่ๆระดับโลกหลายๆแห่ง ก็จะเห็นได้ว่า พอไปถึงรุ่นที่สามรุ่นที่สี่ ก็มีเหมือนกันที่ เจ้าของบริษัทเดิม หรือผู้ถือหุ้นใหญ่ แทนที่เอาลูกหลานมาเป็นผู้บริหารระดับสูง กลับกลายเป็นไปเสาะหาผู้บริหารมืออาชีพที่มีฝีมือฉมังมาเป็นซีอีโอแทน แล้วบรรดาลูกหลานเจ้าของเดิม ก็ไปนั่งในระดับกรรมการเพื่อดูเรื่องนโยบายในภาพใหญ่แทนการไปรับผิดชอบทำธุรกิจเป็นงานประจำ สำหรับเราที่เป็นนักลงทุน ผมว่าใครก็ได้ ขอให้มั่นใจว่าทำธุรกิจเป็น และสามารถบริหารบริษัทให้มีผลกำไรดีทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว ก็พอใจแล้วครับ

ส่วนสุดท้าย ตามธรรมเนียมยุคนี้ คือเรื่องของการกำกับและดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance) เป็นเรื่องที่สำคัญว่าบริษัทที่เราลงทุนทำทุกอย่างอย่างโปร่งใส ตรงไปตรงมา และเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ถือหุ้น (ซึ่งคือเรานั่นเอง) จริงๆแล้ว บริษัทที่มีบรรษัทภิบาลที่ดี ก็มักจะสะท้อนอยู่ในความสามารถของผู้บริหารที่ระดับหนึ่งอยู่แล้ว เพราะแม้แต่เรื่องการเลือกสรรหาผู้บริหารระดับสูง หรือการพิจารณาผลตอบแทนให้แก่ผู้บริหารและคณะกรรมการ ก็ถือเป็นหนึ่งในเรื่องของการกำกับและดูแลกิจการที่ดีเหมือนกัน เพราะถือว่าเป็นเรื่องของการสร้างความโปร่งใสและมั่นใจได้ว่า ได้คนดีมีฝีมือมาสร้างธุรกิจให้เติบโตยั่งยืน

ท้ายที่สุด ถึงแม้ว่า ที่คุยมาทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องของการลงทุนในระยะยาว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เวลาที่ราคาหุ้นขึ้นไปสูงมากๆแล้ว จะขายไม่ได้ ดีเสียอีกถ้าสมมติว่า ราคาหุ้นขึ้นไปสูงมาก จนถึงเป้าหมายของการสร้างผลกำไรจากการลงทุนในหุ้นนั้นๆ ก็ขายทำกำไรออกไป ถือว่าประหยัดเวลา ในการลงทุนอีกต่างหาก แต่อย่าลืมว่า ถ้าศึกษาบริษัทนั้นมาดีแล้ว เชื่อว่า ต่อไปยังจะดีแน่ๆ ก็รอโอกาสที่ราคาปรับตัวลงมาในระดับที่เหมาะสมแล้วก็กลับเข้าไปลงทุนใหม่ส่วนที่ขายออกไปก่อนรอบหนึ่งก็ถือว่าเป็นโบนัสก้อนโตของการลงทุนครับ


ที่มา คุณ  เกรียงชัย บุญโพธิ์อภิชาติ
บทความตีพิมพ์ลงคอลัมน์ Investment Appetizer วารสาร business.com

เข้าชม: 3,104

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com