April 29, 2024   4:25:39 AM ICT
DTAC

บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC)      ซื้อ

คาดกำไรปกติ 4Q50 เติบโตโดดเด่น ทำสถิติสูงสุดใหม่         11 มกราคม 2551

ราคาปิด 41.00 บาท
หมวดธุรกิจ : เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร           ราคาเป้าหมาย 45.00 บาท


คำแนะนำการลงทุน
        คาดกำไรปกติ 4Q50 เพิ่มขึ้นถึง 24.7% YoY และ 17.1% QoQ มาอยู่ที่ 1,602 ล้านบาท
เนื่องจากเป็นช่วง High Season ของอุตสาหกรรม และเป็นผลมาจากภาระการเป็นผู้จ่ายสุทธิค่า IC ที่
ลดลงต่อเนื่อง จากการบริหาร Traffic ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านทางการออกโปรโมชั่นใหม่ที่เน้นให้
โทรภายในโครงข่ายมากขึ้น ในขณะที่โปรโมชั่น Buffet ทุกโครงข่ายที่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ DTAC ยัง
เป็นผู้จ่ายสุทธิค่า IC อยู่เริ่มทยอยหมดอายุลง กอปรกับ DTAC ได้ยกเลิกบันทึกค่าเชื่อมต่อโครงข่ายสุทธิที่
จ่ายให้กับทีโอทีตั้งแต่ พ.ย. 50 เป็นต้นมาอีกด้วย 
        จากแนวโน้มการเติบโตที่ดีใน 4Q50 ต่อเนื่องถึงปี 51 ที่ DTAC ยังคงได้ประโยชน์จากการใช้
IC ช่วงรอการพิจารณาคดีจากศาลที่คาดว่าจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี อีกทั้งในปีนี้ DTAC จะเริ่มได้รับ
สิทธิประโยชน์จากอัตราภาษีที่ลดลงเหลือ 25% หลังเข้ามาจดทะเบียนใน ตลท. และเป็นปีแรกที่ DTAC จะ
ประกาศจ่ายปันผลสำหรับงวดปี 50 ประมาณ 2% ต่อปี ในขณะเดียวกันความคืบหน้าในการออกใบอนุญาต 3G
จะช่วยกระตุ้นการเคลื่อนไหวของภาวะอุตสาหกรรมได้ตลอดทั้งปี จึงแนะนำ "ซื้อ" เพื่อเก็งกำไร ที่ราคา
เป้าหมายปี 51 เท่ากับ 45 บาท จากวิธี DCF
       
สาระสำคัญ
        * คาดกำไรปกติ 4Q50 เติบโตโดดเด่น: แม้คาดว่ารายได้จากการให้บริการจะทรงตัว QoQ
และค่าใช้จ่ายทางการตลาดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการรีแบรนด์ดิ้ง แต่คาดว่ากำไรปกติ 4Q50 จะเพิ่มขึ้นถึง
24.7% YoY และ 17.1% QoQ มาอยู่ที่ 1,620 ล้านบาท โดยสาเหตุสำคัญมาจากภาระการเป็นผู้จ่ายสุทธิ
ค่า IC ที่ลดลงทั้ง Termination Interconnection cost ที่จ่ายให้กับผู้ประกอบการเอกชน และ
Transit Interconnection cost ที่จ่ายให้กับทีโอที กอปรกับคาดว่าในไตรมาสนี้จะไม่มีค่าใช่จ่าย
พิเศษเหมือนกับ 3Q50 ที่มีการยกเลิกสัญญาการให้บริการกับ IEC จำนวน 290 ล้านบาท  ทำให้คาดว่า
EBITDA Margin จะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 29.6% จาก 27.7% ใน 3Q50 โดยประเมินกำไรปกติปี 50
ที่ 5,924 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.6% YoY
        * คาดรายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้น 5.7% YoY และ 1.9% QoQ: มาอยู่ที่ 12,699 ล้าน
บาท จากยอด Net adds ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และ ARPU ที่ชะลอการปรับตัวลดลง
        o คาด Net adds ใน 4Q50 เท่ากับ 7.5 แสนเลขหมาย: ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 4 แสนเลข
หมายใน 3Q50 ที่ชะลอตัวอย่างมาก โดยได้รับปัจจัยหนุนจากภาวะอุตสาหกรรมที่อยู่ในช่วง High Season
รวมถึงการกระตุ้นตลาดจาก DTAC เอง โดยการรีแบรนด์ดิ้ง และการออกโปรโมชั่นใหม่ โดยเฉพาะ
ซิมฝาแฝดที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
        o คาด Blended ARPU ยังปรับตัวลดลงต่อเนื่อง: โดยคาดว่า Blended ARPU จะปรับตัวลด
ลง 17.7% YoY และ 3.2% QoQ มาอยู่ที่ 268 บาท ซึ่งถือว่าเริ่มชะลอการปรับตัวลดลง เนื่องจากเป็น
ช่วงที่มีเทศกาลค่อนข้างมาก ทำให้มีปริมาณการใช้งานมากกว่าช่วงปกติ แต่ผลของการขยายตลาดไปยัง
ระดับล่าง และต่างจังหวัดมากขึ้น รวมถึงผู้บริโภคยังไม่มีความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยอย่างเต็มที่
กอปรกับ DTAC ไม่สามารถปรับอัตราค่าบริการให้เพิ่มสูงขึ้นได้ เพราะผู้ประกอบการรายอื่นยังมีการใช้
กลยุทธ์การแข่งขันทางด้านราคาอยู่ ทำให้ Blended ARPU ยังมีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง

        * คาดภาระต้นทุนการเป็นผู้จ่ายสุทธิค่า IC ลดลงเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกัน: จากการทยอย
หมดอายุลงของโปรโมชั่น Buffet ทุกโครงข่ายในระบบ Post - paid และโปรโมชั่นที่ออกมาใหม่แทน
โปรโมชั่นเดิมอื่นๆที่เริ่มทยอยหมดอายุลงต่างมีการเน้นให้โทรภายในโครงข่ายมากขึ้น โดยการกำหนดอัตรา
ค่าโทรภายในโครงข่ายให้ต่ำกว่าอัตราค่าโทรภายนอกโครงข่ายอย่างชัดเจน จึงทำให้ภาระการเป็นผู้จ่าย
สุทธิค่า IC ให้กับ ADVANC และ TRUE move ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าต้นทุนสุทธิค่า IC จะอยู่ที่
383 ล้านบาท ลดลงจาก 525 ล้านบาทใน 3Q50
        ในขณะเดียวกัน ก็คาดว่าต้นทุนค่าเชื่อมต่อโครงข่ายสุทธิที่จ่ายให้กับทีโอทีจะปรับตัวลดลงด้วย
เหลือประมาณ 60 ล้านบาท จาก 220 ล้านบาท ใน 3Q50 หลังจากทีโอทีไม่ยอมเจรจาเพื่อเชื่อมต่อโครง
ข่ายกับ DTAC ทำให้ DTAC หยุดบันทึกรายการดังกล่าวตั้งแต่ พ.ย. 50 ที่ผ่านมา
โดยเมื่อพิจารณาร่วมกัน ต้นทุนค่าเชื่อมต่อโครงข่ายสุทธิจะอยู่ที่ 468 ล้านบาท ลดลงถึง 37% QoQ ถือเป็น
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลการดำเนินงาน 4Q50 เติบโตโดดเด่น

Assumption                1Q50      2Q50        3Q50        4Q50F
MOU                        449       406        372          371
On-Net : Off-Net     45% : 55%   54% : 45%  60% : 40%  60% : 40%
Incoming : Outgoing
(Off - Net Traffic)  47% : 53%   46% : 54%  50% : 50%  50% : 50%
Incoming IC revenue      3,199      3,784      3,653       4,006
Outgoing IC cost        -3,711     -4,961     -4,178      -4,394
IC gain/loss              -512     -1,177       -525        -388
Transit IC cost: TOT      -984       -338       -221         -80
   Total Net IC         -1,496     -1,515       -746        -468
แหล่งข้อมูล : ข้อมูลบริษัท, ACLS

        * คาดค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารทรงตัว QoQ: แม้ 4Q50 จะมีการบันทึกค่าใช้จ่ายในการ
รีแบรนด์ดิ้งประมาณ 200 ล้านบาท แต่คาดว่าค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารจะทรงตัว QoQ ที่ 2,654
ล้านบาท เนื่องจากคาดว่าในไตรมาสนี้จะไม่มีการบันทึกค่าใช้จ่ายพิเศษเหมือนกับ 3Q50 ที่มีการยกเลิก
สัญญาการให้บริการกับ IEC ซึ่งเป็นการบันทึกเพียงครั้งเดียวจำนวน 290 ล้านบาท ในขณะเดียวกันค่าใช้
จ่ายในการสำรองหนี้สูญก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในระดับ 5% - 6% ของรายได้จากการให้
บริการในระบบ Post - paid เช่นเดียวกับ 3Q50 ที่ผ่านมา
        * การแปลงสัญญาสัมปทานไม่ใช่เรื่องง่าย: ACLS คาดว่าหัวใจสำคัญของการแปลงสัญญา
สัมปทาน คือ ช่วยให้ DTAC หลุดพ้นจากการใช้ AC ภายใต้สัญญาเดิม เพราะ กสท. จะได้ประโยชน์
มากกว่าหลังใช้ IC จากส่วนแบ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งหากสามารถแปลงจากการจ่ายส่วนแบ่งรายได้เป็น
สัญญาเช่าในอัตราเดิมได้ จะเป็นการการันตีรายได้ของ กสท.ในอนาคต เพราะถ้าเจรจาหลังอายุสัมปทาน
สิ้นสุดลงมูลค่าการเช่าในตอนนั้นอาจจะลดลงตามอายุการใช้งาน และหาก กสท. คิดค่าเช่าสูงอาจไม่จูงใจ
ให้เกิดการเช่า ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการหันไปลงทุนเองได้ อย่างไรก็ตามการเจรจาดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานที่
ภาครัฐจะเสียประโยชน์ไม่ได้หากไม่สามารถพิสูจน์ได้จริงว่าเป็นประโยชน์กับส่วนรวม ส่วนผู้ประกอบการก็
ต้องการค่าเช่าที่ถูกลงกว่าการจ่ายส่วนแบ่งรายได้เดิม เพราะอาจต้องมีการขอใบอนุญาตใหม่ซึ่งตรงนั้นจะมี
ค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น ACLS จึงเห็นว่าการเจรจาดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้การแปลงสัญญาสัมปทานจบ
สิ้นในระยะสั้น จึงให้ความสำคัญกับการออกใบอนุญาต 3G มากกว่า
        * การออกใบอนุญาต 3G ยังล่าช้า: ปัจจุบัน กทช. ยังไม่สามารถจัดหาบริษัทที่ปรึกษาได้ ใน
การที่จะมาศึกษาสภาพตลาดโดยรวม การออกใบอนุญาต รวมถึงเทคนิคอื่นๆ จากเดิมที่คาดว่าจะสามารถคัด
เลือกได้ใน ก.ย.50 และจะได้ผลการศึกษาประมาณ พ.ย.50 ทำให้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะสามารถออก
ใบอนุญาตได้จริงเมื่อไหร่   อย่างไรก็ตามจากการที่สนช. พิจารณา พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ไม่ทัน
รัฐบาลชุดนี้ ทำให้ กทช. (ซึ่งกฤษฎีกาได้ตีความแล้วว่ามีอำนาจในการออกใบอนุญาต 3G) ยังดำเนินงาน
ได้ต่อไป ทำให้ยังมีความหวังว่าจะเห็นความคืบหน้าในการออกใบอนุญาต 3G มากขึ้นในปีนี้ ซึ่งจะส่งผลบวก
ต่อภาวะอุตสาหกรรมโดยรวมอย่างมาก 
        * ต้นทุนที่ลดลงทำให้ DTAC ยังมีแนวโน้มเติบโตที่ดีในปี 51: แม้ภาพรวมของภาวะอุตสาหกรรม
อาจชะลอตัวต่อเนื่อง และการออกใบอนุญาต 3G ที่เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญจะยังล่าช้า แต่จากการที่ DTAC
ยังคงได้รับผลประโยชน์จากการใช้ IC ช่วงรอการพิจารณาคดีจากศาล ซึ่งคาดว่าภาระการเป็นผู้จ่ายสุทธิ
ค่า IC จะมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง จากการบริหาร Traffic ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และโปรโมชั่น
Buffet ทุกโครงข่ายจะหมดอายุลงอย่างสิ้นเชิงใน 2Q51 นอกจากนี้ DTAC ยังได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี
จากการเข้ามาจดทะเบียนในตลท. อีกด้วย ซึ่งทำให้อัตราภาษีจ่ายลดลงเหลือ 25% ACLS จึงคาดว่ากำไร
ปกติปี 51 จะเติบโต 18.3% YoY มาอยู่ที่ 7,011 ล้านบาท

11 ม.ค.--บล.สินเอเชีย

เข้าชม: 1,569

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com