May 21, 2024   3:06:18 AM ICT
กลุ่มแบงก์ปีฉลูสินเชื่อซบ SCB-KBANKอัพไซด์เด่น

ทันหุ้น-แบงก์ปี2552 แข่งระดมเงินฝากตุนสภาพคล่อง  แต่สินเชื่อซบตามเศรษฐกิจ  จุกหนี้เน่าฉุดกำไรลด  โดยเฉพาะแบงก์เล็กเช่าซื้อ  ส่วนแบงก์ใหญ่พื้นฐานธุรกิจแน่นปึ้ก  ส่วนราคาหุ้นแข่งอัพไซด์สูง  คาดฟื้นตัวไวแม้ตลาดผันผวน  ทั้งBBL-KBANKและSCB ขณะที่SCB และKTB ควงคู่รับอานิสงส์รัฐอัดฉีดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ


     นายบุญทักษ์   หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)TMB เปิดเผยว่า แนวโน้มการแข่งขันธนาคารพาณิชย์ปี 2552 เชื่อว่าจะลดลงเนื่องจากผลกระทบเศรษฐกิจชะลอตัว อีกทั้งเชื่อว่าตลาดจะผันผวนต่อเนื่อง  ทั้งนี้ธนาคารพาณิชย์มีความเสี่ยงของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)เพิ่มขึ้น  ซึ่งกดดันให้กำไรจากการดำเนินงานลดลง  แต่ทุกธนาคารต้องทำคือ ดูแลกลุ่มลูกค้าใกล้ชิดเพื่อให้อยู่รอดจากเศรษฐกิจชะลอตัว   ซึ่งเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่จะรักษาฐานลูกค้าไว้ได้


     “เชื่อว่าแบงก์ขนาดใหญ่ยังดำเนินงานได้ต่อเนื่อง แต่น่าห่วงแบงก์ขนาดเล็กเนื่องจากความแข็งแกร่งน้อยกว่า  อีกทั้งเศรษฐกิจชะลอตัวอาจจะส่งผลให้รายได้ และกำไรสุทธิลดลงมากกว่าแบงก์ขนาดใหญ่”นายบุญทักษ์ กล่าว


     ทั้งนี้ธนาคารจะมุ่งดำเนินงานตามแผน 3 ปี โดยตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด(มาร์เก็ตแชร์)เป็น 14% จากปัจจุบันอยู่ที่ 7%   อีกทั้งตั้งเป้าเป็นผู้นำด้านเงินฝาก หรือเพิ่มสัดส่วนเงินฝากกระแสรายวันต่อออมทรัพย์เป็น 50% จาก 40% เพื่อลดต้นทุนให้ต่ำลง  ปัจจุบันธนาคารมีเงินเพียงพอล้างขาดทุนสะสมทั้งหมด  แต่ติดหุ้นบุริมสิทธิ์ของกระทรวงการคลัง  ซึ่งจะต้องรอให้คลังโอนหุ้นดังกล่าวเป็นหุ้นสามัญก่อน  จึงจะล้างขาดทุนสะสมได้


*แข่งตุนเงินฝาก


     นายปรเมศวร์  พรหมบุรี  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ การตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์  ธนาคารเกียรตินาคิน  จำกัด (มหาชน)KK กล่าวว่า  ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ปี2552จะแข่งขันต่อเนื่อง โดยเฉพาะเงินฝาก  ซึ่งจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกกดดันให้สภาพคล่องในระบบลดลง อีกทั้งต้องเผชิญความเสี่ยงจากNPLเพิ่มขึ้น  ทำให้ต้องตั้งสำรองเพิ่มขึ้น 


     นายวรุตม์  ศิวะศริยานนท์  รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด  กล่าวว่า  ธนาคารพาณิชย์ปี2552ยังมีความเสี่ยงจาก NPLที่เริ่มมีสัญญาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง  แต่เชื่อว่าทุกแห่งจะควบคุมNPL โดยเลือกปล่อยสินเชื่อเฉพาะลูกค้าบางกลุ่ม จึงเชื่อว่าอนาคตNPLใหม่จะลดลง


     ทั้งนี้ แนะนำลงทุนหุ้นธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) SCB เพราะจะได้ประโยชน์จากการที่ภาครัฐเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ จึงเชื่อว่า SCB ที่มีพอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัยถึง 25% จะได้รับประโยชน์ และส่งผลให้สินเชื่อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) KTB จะมีสินเชื่อเติบโตก้าวกระโดดภายหลังจากรัฐขอสินเชื่อเพื่อนำไปกระตุ้นระบบเศรษฐกิจ


     ส่วนทิศทางราคาหุ้นทั้งกลุ่ม คาดว่าจะมีแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติ อีกทั้งเศรษฐกิจชะลอตัวชัดเจน  อาจกดดันราคาหุ้นลดลง  ซึ่งปีที่ผ่านมาราคาหุ้นลดลงมากแล้ว  จึงส่งผลให้ราคาหุ้นปี 2552 มีอัพไซด์สูง  อีกทั้งปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งเนื่องจากไม่มีปัญหาเหมือนกับสถาบันการเงินในสหรัฐและยุโรป แนะนำ “หาจังหวะเข้าลงทุน”


     นายวรุตม์  กล่าวต่อว่า ถ้าในปี2552 ถ้าวิกฤติการเงินโลกเริ่มคลี่คลายลงเชื่อว่าธนาคารที่จะฟื้นตัวที่สุด คือ KBANK และ SCB  เพราะนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศต่างมีพอร์ตลงทุนในหุ้นทั้ง 2 ตัวสูง อีกทั้งธนาคารยังมีจุดเด่นคือสินเชื่อรายย่อยที่เติบโตต่อเนื่อง และการบริหารความเสี่ยงสินเชื่อSMEที่ดี  จึงแนะนำ “ซื้อ”  KBANK ให้ราคาเหมาะสม 90 บาท มีอัพไซด์ 97.8% และ SCBราคาเหมาะ 88 บาท มีอัพไซด์  93.4%


*SCBพื้นฐานแกร่ง


     ด้านนายปรเมศร์  ทองบัว  ผู้อำนวยการสำนักวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ทิสโก้ จำกัด  กล่าวว่า  ให้น้ำหนักการลงทุนหุ้นกลุ่มธนาคาร”เท่ากับตลาด” เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัวจะส่งผลให้สินเชื่อเติบโตลดลง  อีกทั้งมีความเสี่ยงจากNPL แต่หุ้นที่แนะนำคือ  SCB เนื่องจากพื้นฐานธุรกิจแข็งแกร่ง  อีกทั้งมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(BIS)สูง  และมีการบริหารหนี้NPLได้ดี  คาดNPLปีนี้อยู่ที่ 5%


     นายวรวัฒน์  สายสุพัฒน์ผล  ผู้ช่วยผู้จัดการ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์เคจีไอ(ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  หุ้นกลุ่มธนาคารผันผวนเนื่องจากได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศชะลอตัวลงกดดันราคาหุ้นลดลง  ส่วนกลยุทธ์ลงทุนแนะนำหุ้น SCB BBL และ KBANK เนื่องจากยังปรับตัวได้ดี อีกทั้งพื้นฐานธุรกิจแข็งแกร่ง  แต่หลีกเลี่ยงกลุ่มเช่าซื้อเพราะราคาหุ้นอาจปรับลดลงเร็วเนื่องจากรายได้ลดลง


     นางสาวสุกัญญา  อุดมวรนันท์  นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ กิมเอ็ง(ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  กลุ่มธนาคารเช่าซื้อจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัวมากสุด   จากยอดขายรถยนต์ลดลงถึง 20% และส่งผลต่อราคาหุ้นทั้งKK  TISCO และ TCAP  


     จึงได้ปรับลดราคาเหมาะสมดังนี้ BBL อยู่ที่  80 บาท , KBANK อยู่ที่ 63  บาท , SCBอยู่ที่ 60 บาท , KTB อยู่ที่  4.20บาท ,  SCIBอยู่ที่  8.8 บาท ,  BAYอยู่ที่ 12 บาท ,  TMBอยู่ที่  0.66 บาท ,  TISCO อยู่ที่ 10.80บาท และTCAPอยู่ที่  8.40 บาท  โดยคาดว่า สินเชื่อกลุ่มธนาคารปี2552จะเติบโต 5% ส่วนปี 2553จะเติบโต 10%เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น


     นักวิเคราะห์กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า   ดัชนีหุ้นกลุ่มธนาคารมีโอกาสลดลงเพราะวิกฤติการเงินโลกยังไม่เห็นสัญญาณบ็อททัม(Bottom) ซึ่งคาดว่าGDPปี2552จะอยู่ที่ 2% ซึ่งส่งผลต่อธุรกิจ และราคาหุ้น  แต่BBL แม้จะได้รับผลกระทบจากการลงทุนในเลห์แมนมากที่สุด  ส่งผลให้ราคาหุ้นที่ผ่านมาลดลง 46.36% แต่ถ้าวิกฤติทั้งในประเทศและต่างประเทศเริ่มผ่อนคลายเชื่อว่าราคาหุ้นจะฟื้นตัวดีสุด


     อย่างไรก็ตาม ได้ปรับลดประมาณการณ์กำไรสุทธิ และปรับประมาณการสินเชื่อทั้งกลุ่มปี 2552 เติบโตเพียง 5.2% จากเดิมที่ 6.3% หรือประมาณ 5.4 ล้านล้านบาท ซึ่งคาดว่า BBL สินเชื่อโต 5% จากเดิม 6% ,  KBANKโต 5% จากเดิม 6% ,    KTBโต 5%,   SCBสินเชื่อโต 5%,  SCIBสินเชื่อโต 7% จากเดิม 6% ,   TISCOโต 8% จากเดิม 16.6%  ,   KKโต 8%จากเดิม 24% ,  TCAPโต  8% จากเดิม 15% และ TMB โต 2%จากเดิม 5% ,


     “สาเหตุที่ไม่ปรับเป้าสินเชื่อ KTB และ SCB ลงเนื่องจากปีนี้ทั้ง 2 ธนาคารจะได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาล  ทั้งการขอสินเชื่อจาก KTBกระตุ้นเศรษฐกิจ และการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องของ SCB


      ส่วนกลยุทธ์ลงทุนแนะนำ “รอจังหวะลงทุน” ประเมินBBLที่ราคาเหมาะสม  98 บาท , KBANK อยู่ที่ 65  บาท , SCBอยู่ที่ 70 บาท ,KTB อยู่ที่ 6.8  บาท ,  SCIB อยู่ที่ 9.8 บาท ,TMBอยู่ที่ 0.94  บาท , TISCO อยู่ที่ 12 บาท และTCAPอยู่ที่ 10.10 บาท  

เข้าชม: 1,108

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com