May 10, 2024   11:26:00 AM ICT
BSIวอนรายย่อยใช้สิทธิเทนเดอร์ วงการเหล็กร่อแร่จ่อควบ3ดีล

ทันหุ้น-BSI วอนรายย่อยออกมาใช้สิทธิเทนเดอร์ให้กับพร้อมศรี พร็อพเพอร์ตี้ก่อนปิดรับซื้อหุ้น 11-12 ก.พ.นี้  และเพิกถอนจากตลาด  ด้านที่ปรึกษาแผนฯ “ชำนิ จันทร์ฉาย”เผยปี2553 ครบกำหนดชำระหนี้ให้บสก. 3 พันล้านคาดอาจถกเจ้าหนี้เพื่อขอยืดหนี้ออกไป  พร้อมมองวงการเหล็กจ่อควบรวม 3 ราย ไซซ์ตั้งแต่ 1.2 หมื่นล้านขึ้นไป หลังราคาเหล็กผันผวนหนัก  ดีมานด์ลดลง หวังพึ่งรัฐอัดงบกระตุ้นเพิ่ม


     นายชำนิ จันทร์ฉาย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซี.เจ.มอร์แกน จำกัด ในฐานะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของ บริษัท กรุงเทพผลิตเหล็ก จำกัด (มหาชน) BSI เปิดเผยว่า การทำเสนอซื้อหลักทรัพย์ บริษัทพร้อมศรี พร็อพเพอร์ตี้ จำกัดใกล้จะปิดรับซื้อหุ้นในวันที่ 11-12 กุมภาพันธ์นี้


     ดังนั้นอยากให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยมาใช้สิทธิตามระยะเวลาดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันมีผู้มาใช้สิทธิเพียง 5.8 ล้านหุ้น จากจำนวนหุ้นทั้งหมด 30 ล้านหุ้น เพื่อไม่ยุ่งยากได้ในภายหลังเพราะผู้ถือหุ้นใหญ่มีแนวทางเพิกถอนหุ้น BSI ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯโดยสมัครใจ  จึงจะไม่มีตลาดรองในการซื้อขาย
     “ซี.เจ ในนามของผู้บริหารแผนอยากให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยมาใช้สิทธิ เพื่อแปลงสภาพใบหุ้นเป็นเงินสดเก็บไว้ในมือจะดีกว่า ในยามที่เศรษฐกิจอยู่ช่วงถดถอยเช่นนี้  ซึ่งในเร็ว ๆ นี้ผู้ถือหุ้นจะขอใช้สิทธิเพิกถอน BSI ออกจากตลาดถือใบหุ้นไว้ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะไม่มีการซื้อขายหุ้นมานานถึง10 ปีแล้ว”นายชำนิ กล่าว


     ขณะที่ผลประกอบการของ BSI ในช่วงปี2551 ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาเหล็กในตลาดโลกอย่างหนัก โดยเฉพาะในช่วงปลายปี ทำให้บริษัทมี EBITDA ต่อเดือนประมาณ 10 ล้านบาท ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับช่วง ม.ค.-ต.ค.ปี 2551 ที่ราคาเหล็กอยู่ในระดับสูงถึง 40,000 บาทต่อตัน ส่งผลให้งบของบริษัทขาดทุน


     ส่วนในปี 2552 เชื่อว่าจะดีขึ้น จากเม็ดเงินการลงทุนในโครงการภาครัฐ แต่ยอมรับว่าเป็นเรื่องลำบากเพราะอุตสาหกรรมเหล็กได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน และในช่วง ปี 2553  BSI จะครบกำหนดชำระหนี้ให้กับบสก.จำนวน 3,000 ล้านบาท จากมูลหนี้ทั้งหมดที่ต้องชำระ 10,290 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นไปได้ยากเมื่อเทียบกับผลประกอบการของบริษัท แต่ก็ต้องชี้แจงให้เจ้าหนี้ต่อไป


     นายชำนิ กล่าวต่อว่า จากความผันผวนของเศรษฐกิจ ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง กดดันราคาเหล็กมีความผันผวนหนักปลายปี 2551 ดังนั้นมองว่าบริษัทในอุตสาหกรรมเหล็กเตรียมควบรวมกิจการเพิ่มไม่ต่ำกว่า 3 ดีล ซึ่งเป็นบริษัททั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์ โดยซี.เจ.ฯจะเป็นที่ปรึกษาในการควบรวมกิจการ โดยรายแรกจะเป็นการควบรวมกิจการระหว่างผู้ผลิตเหล็กเส้นและเหล็กรูปพรรณมีมูลค่าสินทรัพย์รวมกันประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท


     อีกทั้งยังมีผู้ประกอบการเหล็กรูปพรรณกับเหล็กรูปพรรณต่างๆมูลค่ารวมกันประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท และอีก 1 ดีลอยู่ในอุตสาหกรรมเหล็กมีสินทรัพย์รวมกันประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท และคาดว่าจะสรุปได้ 1 ดีลในปี 2552


     ส่วนของอุตสาหกรรมเหล็กปี 2552 คาดว่าเริ่มมีการฟื้นตัวดีขึ้น โดยราคาเหล็กเริ่มกลับมาดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 18,000 บาทต่อตัน จากเดือนธันวาคมอยู่ที่ 14,000-15,000 บาทต่อตัน จากการที่รัฐบาลเร่งการเบิกจ่ายและการก่อสร้างสาธารณูปโภคน่าจะช่วยให้อุตสาหกรรมเหล็กกลับมาคึกคักอีกครั้ง


     อย่างไรก็ตาม  ความต้องการใช้เหล็กไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับการผลิต โดยความต้องการในประเทศอยู่ที่ 5-6 ล้านตัน จากยอดที่ผลิตได้ 10 ล้านตันต่อปี และอุตสาหกรรมเหล็กโลกสูงถึง 1,000 ล้านตันต่อปี


     นอกจากนี้ ทางซี.เจ.มอร์แกน ยังได้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาฯให้กับผู้ส่งออกหลายรายที่กำลังประสบปัญหา ทั้งผู้ส่งออกอาหารเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์กีฬา ดีลอยู่ในหลักพันล้านบาท   ซึ่งเศรษฐกิจส่งสัญญาณมีปัญหา ส่งผลให้ผู้ประกอบการและบริษัทต้องปรับตัว และโครงสร้างบริษัท  ส่วนบริษัทจดทะเบียนคาดว่าจะได้รับผลกระทบและต้องดูงบไตรมาส 1/2552 ที่จะออกมา จึงจะประเมินได้ว่าสถานการณ์จะรุนแรงขนาดใด

เข้าชม: 1,282

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com