May 11, 2024   4:05:13 AM ICT
อุตสาหกรรมการบินอ่วม

ทันหุ้น - อุตสาหกรรมการบินปีนี้ ยังเหนื่อยไม่เลิก หลังแนวโน้มจำนวนผู้โดยสารลงต่อเนื่องจากปีก่อน 5 -10% เหตุนักท่องเที่ยวต่างชาติชะลอตัวตามเศรษฐกิจซบ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เชื่อผู้ประกอบการสายการแห่หั่นราคาค่าตั๋วดึงลูกค้าเพียบ มั่นใจสายการบิน Low Cost มีลุ้นเข้ามาชิงส่วนแบ่งการตลาดเพิ่ม ด้าน?ณรงค์ศักดิ์ สังขพงศ์Ž ผู้บริหาร THAI ปรับกลยุทธ์ เพิ่มความถี่เส้นทางการบินทั้งใน -นอกประเทศเพิ่ม พร้อมเสนอแผนปรับปรุงธุรกิจต่อ สคร. ภายใน ก.พ.นี้


     ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า อุตสาหกรรมการบินในปีนี้ ต้องเผชิญภาวะจำนวนผู้โดยสารลดลงต่อเนื่องจากปีก่อน โดยคาดว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารประมาณ 49 -52 ล้านคน ลดลงประมาณ 5 -10% ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากปีก่อนที่ลดลงประมาณ 4.8% ทั้งนี้เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ชะลอตัว ทำให้ผู้โดยสารทั้งไทยและต่างประเทศ ชะลอการท่องเที่ยวลง หรือเลือกเดินทางในรูปแบบที่ประหยัดมากขึ้น ขณะเดียวกันสถานการณ์การเมืองของไทยกรณีการปิดสนามบิน ยังคงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้นักท่องเที่ยวไม่มีความเชื่อมั่นในการเข้ามาในประเทศไทย 


@ภาวะแข่งขันรุนแรง


 สำหรับภาวะการแข่งขันในตลาดปีนี้ คาดว่าจะมีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะการแข่งขันกันปรับลดราคา เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดจากจำนวนผู้โดยสารที่มีแนวโน้มลดลง สอดคล้องกับภาวะที่ราคาน้ำมันมีแนวโน้มลดลง ซึ่งทำให้สายการบินมีความสามารถในการปรับลดราคาตั๋วโดยสารลงได้ ขณะที่ผู้โดยสารจะให้ความสำคัญกับราคาตั๋วโดยสารมากขึ้น ทำให้เป็นโอกาสกับผู้ประกอบการสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost Airlines)ที่อาจจะเข้ามามีส่วนแบ่งการตลาด จากสายการบินปกติมากขึ้น เนื่องจาก Low Cost Airlines สามารถปรับลดราคาลงได้ต่ำกว่าสายการบินปกติ 


     ทั้งนี้ มาตรการกระตุ้นภาคท่องเที่ยวของภาครัฐ อาทิ การลดค่าธรรมเนียมขึ้นลง และค่าธรรมเนียมที่เก็บอากาศยาน การยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นเวลา 3 เดือน ฯลฯ ถือเป็นมาตรการที่จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการบิน แต่อาจเป็นเพียงทางอ้อม


      ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการ คือการสร้างความเชื่อมั่น และทำการตลาดด้านการท่องเที่ยวให้มากขึ้น โดยการเสริมสร้างบรรยากาศทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว รวมถึงการเดินสายโรดโชว์ควบคู่กับทำการตลาดในประเทศโดยเฉพาะประเทศที่ยังมีกำลังซื้ออยู่ รวมทั้งการออกแคมเปญกระตุ้นการท่องเที่ยวเพื่อช่วยฟื้นฟูภาคท่องเที่ยวรวมถึงอุตสาหกรรมการบินให้กลับมาเติบโตได้อีกครั้ง


@THAI เพิ่มเที่ยวบิน


     พล.อ.อ. ณรงค์ศักดิ์ สังขพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส สำนักเลขานุการ รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน)THAI เปิดเผยว่า บริษัทได้เพิ่มความถี่ในเส้นทางการบิน กรุงเทพ -นิวเดลลี และกรุงเทพ -มุมไบ หรือบอบเบย์ จากวันละ 1 เที่ยวบิน เป็น 2 เที่ยวบิน หรือจาก 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์เป็น 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์


     นอกจากนี้ บริษัทยังได้เพิ่มความถี่ของเที่ยวบินเส้นทางภายในประเทศ ได้แก่ กรุงเทพ-ขอนแก่น กรุงเทพ-อุดรธานี และกรุงเทพ-อุบลราชธานี จากวันละ 2 เที่ยวบิน เป็น 3 เที่ยวบิน ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อรองรับความต้องการเดินทางที่เพิ่มมากขึ้น


     ขณะเดียวกัน บริษัทอาจมีการพิจารณาการเพิ่มความถี่ของเที่ยวไปยังหลายเมืองที่มีความต้องการเดินทางเพิ่มขึ้น อาทิ มิวนิค มิลาน โซล กวางเจา และฟูกูโอกะ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเพิ่มเที่ยวบินกลับสู่ภาวะปกติได้ในเดือนมีนาคมนี้


      ทั้งนี้ ในช่วงเดือนม.ค.ที่ผ่านมา จำนวนผู้โดยสารเริ่มทยอยกลับมาใช้บริการอีกครั้ง แม้ว่าสัดส่วนจะยังไม่เท่าช่วงเดียวกันของปีก่อนก็ตาม ซึ่งนับว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่กลุ่มนักท่องเที่ยว และนักธุรกิจ กลับมาเชื่อมั่นอีกครั้ง


      ?ตั้งแต่มีการปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ช่วง พ.ย.-ธ.ค. 2551ที่ผ่านมา ทำให้บริษัทต้องลดเที่ยวบินลดเที่ยวบินลงถึง 11% เมื่อเทียบกับก่อนปิดสนามบิน ส่งผลให้บริษัทต้องประสบปัญหาจำนวนผู้โดยสารลดลงอย่างต่อเนื่องในหลายเส้นทางการบินŽ พล.อ.อ. ณรงค์ศักดิ์ กล่าว


@พ.ย.51ผู้โดยสารลด68.6%


     ขณะเดียวกันในช่วงเดือนพ.ย.2551 อัตราส่วนการขนส่งผู้โดยสาร(Cabin Factor) อยู่ที่ 68.6% ลดลงจาก 80.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยมีจำนวนผู้โดยสาร 1.29 ล้านคน ลดลง 27% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้าที่อยู่ในระดับ 1.77 ล้านคน สำหรับอัตราส่วนการขนส่งพัสดุภัณฑ์อยู่ที่ 54.5% ลดลง 8.3% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนที่มี 59.4%


          ประกอบกับในช่วงเดือนพ.ย.2551 ตลาดส่วนใหญ่ปรับลดลง โดยตลาดแอฟริกา ปรับลดลงมากสุดถึง 40.8% หรือมี Cabin Factor ที่ระดับ 47.4% จาก 80.0% รองลงมาเป็นตลาดอเมริกาเหนือ ลดลง 17.8%, ตลาดเอเชีย ปรับลง 17%, ตลาดยุโรป ลดลง 16.2%, ตลาดออสเตรเลีย ลดลง 13.1% ตลาดในประเทศลดลง 3.9%


 @ชงสคร.ปรับปรุงธุรกิจ
                 
         อย่างไรก็ตาม พล.อ.อ. ณรงศักดิ์ กล่าวอีกว่า  คณะทำงานจัดทำแผนปรับปรุงธุรกิจ ได้นำร่างแผนปรับปรุงธุรกิจของ THAI นำเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)พร้อมกับนำเสนอต่อคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาโครงข่ายระบบการขนส่งทางอากาศ ที่มีนายศรีสุข จันทรางศุ เป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบในภาพรวมของแผนฯ และให้คณะทำงานฯ นำความเห็นของที่ประชุมไปจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อนำเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลังภายในเดือนก.พ.2552นี้ 


         ทั้งนี้แผนปรับปรุงธุรกิจ THAI ประกอบด้วย 3 ระยะ ได้แก่  แผนระยะแรก จะเน้นการเพิ่มกระแสเงินสด การบริหารจัดการทรัพย์สิน การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และการปรับโครงสร้างเงินทุน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่อง  


         แผนระยะที่สอง จะเน้นการเพิ่มรายได้ การบริหารจัดการค่าใช้จ่าย การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และการปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์และการบริการ  และแผนสุดท้ายซึ่งเป็นแผนระยะยาว จะพิจารณาถึงการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจ การปรับโครงสร้างองค์กรให้เกิดความคล่องตัว และการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน


                " แผนปรับปรุงธุรกิจจะนำเสนอต่อกระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคมในเดือนก.พ.นี้ จะครอบคลุมเฉพาะแผนระยะแรก และบางส่วนของแผนระยะที่สอง ส่วนแผนระยะยาวนั้นจะพิจารณาหลังจากที่แผนการแก้ไขปัญหาสภาพคล่องได้รับการอนุมัติแล้ว"

เข้าชม: 1,218

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com