May 3, 2024   6:35:39 PM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > พฤติกรรมการใช้บัตรเครดิตในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
 

mrarthy
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 38
วันที่: 13/09/2006 @ 15:02:33
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ในปี 49 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยถูกรุมเร้าจากปัจจัยลบต่างๆที่มีมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมัน ที่ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าอุปโภคและบริโภค อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงและปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ได้ทำให้การบริโภคในประเทศชะลอตัวลง อย่างไรก็ตามสินเชื่อบัตรเครดิตที่จัดเป็นสินเชื่อเพื่อการอุปโภคและบริโภคใช้ในชีวิตประจำวันยังคงขยายได้ต่อเนื่อง ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจดังกล่าวมีส่วนในอันที่จะมีผลต่อปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตได้มากน้อยเพียงใด รวมทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจดังกล่าวจะทำให้ผู้ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตหันมาพึ่งพาบัตรเครดิตมากขึ้นเพียงใด เนื่องจากมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เป็นต้น ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้จัดทำแบบสอบถาม ภายใต้หัวข้อ ศึกษาพฤติกรรมการใช้บัตรเครดิตในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งจำนวนกลุ่มตัวอย่างมีทั้งสิ้น 562 ชุด โดยเป็นการสัมภาษณ์เชิงลึกเจาะจงเฉพาะผู้ที่ใช้บัตรเครดิตจับจ่ายสินค้าและบริการ โดยกระจายไปตามห้างสรรพสินค้าและตามสถานที่ทำงานทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ประเด็นสำคัญในการทำแบบสอบถามในครั้งนี้ คือ เพื่อศึกษาถึงผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวที่มีต่อผู้ถือบัตรเครดิต ทั้งนี้เพื่อเป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์นโยบายการทำธุรกิจบัตรเครดิตให้เหมาะสมกับพฤติกรรมของผู้ใช้บัตรเครดิตในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวของสถาบันการเงิน โดยกลุ่มตัวอย่างที่ได้จากการสำรวจในครั้งนี้เน้นไปยังกลุ่มผู้มีอายุระหว่าง 21-40 ปี ประกอบอาชีพพนักงานบริษัท และข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ รายได้ระดับตั้งแต่ 25,000 บาท ขึ้นไป และเน้นไปยังกลุ่มผู้ถือบัตรเครดิตของธนาคารพาณิชย์ไทยและสาขาธนาคารต่างประเทศเป็นหลัก

ทั้งนี้จากการสำรวจพบว่า ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจในการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตนั้น คือ ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง มีผลทำให้ผู้ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น โดยผู้ใช้บัตรเครดิตมีการวางแผนการใช้บัตรเครดิตที่ดี ซึ่งจะเห็นได้จากประเภทของสินค้าที่ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วส่วนใหญ่แล้วจะเป็นค่าใช้จ่ายในหมวดสินค้าที่มีความจำเป็นน้อยในชีวิตประจำวัน ซึ่ง 3 อันดับแรก ได้แก่ ค่าใช้จ่ายสินค้าเครื่องแต่งกาย ค่าใช้จ่ายด้านท่องเที่ยว และค่าใช้จ่ายด้านบันเทิงและสันทนาการ เป็นต้น

ทั้งนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว พบว่า ผู้ถือบัตรเครดิตมีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น ซึ่งการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของผู้ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตน่าจะเป็นผลสะท้อนมาจากการปรับขึ้นของราคาสินค้า เนื่องมาจากการที่ราคาน้ำมันได้ปรับตัวสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่งผลกระทบถึงราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคให้มีราคาแพง ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจที่ว่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วประเภทของสินค้าที่ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น 3 อันดับแรกนั้น ได้แก่ ค่าใช้จ่ายด้านสินค้าอุปโภคและบริโภค ค่าใช้จ่ายในการเติมน้ำมัน และค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค สำหรับธุรกิจการเบิกเงินสดล่วงหน้าจากบัตรเครดิตนั้น พบว่า ผู้ใช้บัตรเครดิตส่วนใหญ่นั้นไม่เคยใช้บริการดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าไม่มีความจำเป็นและไม่ต้องการเสียค่าธรรมเนียม ในส่วนของผู้ที่ใช้บริการเบิกเงินสดล่วงหน้าจากบัตรเครดิตนั้นสาเหตุส่วนใหญ่มาจากมีค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน เช่น ค่าเรียน และค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ใช้บัตรเครดิตเบิกเงินสดล่วงหน้าเพื่อนำไปชำระบัตรอื่น ซึ่งพฤติกรรมนี้เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

สำหรับในส่วนของการชำระยอดคงค้างบัตรเครดิต ผลสำรวจพบว่า ผู้ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตโดยส่วนใหญ่มีการชำระยอดคงค้างบัตรเครดิตแบบเต็มจำนวน ซึ่งนับได้ว่าความเสี่ยงของปัญหาคุณภาพสินเชื่อบัตรเครดิตจึงน่าที่จะอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ สำหรับความเป็นไปได้ในประเด็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตนั้น จากแบบสอบถามพบว่า อาจจะส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้ถือบัตรเครดิต และอาจส่งผลกระทบต่อแคมเปญการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของผู้ประกอบการด้วย เนื่องจากในขณะนี้ผู้บริโภคมีความอ่อนไหวอย่างมากต่อปัจจัยลบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้และราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นที่มีอยู่ในขณะนี้

สำหรับการแข่งขันธุรกิจบัตรเครดิต คาดว่า ธุรกิจบัตรเครดิตจะยังคงมีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้นต่อไปทั้งนี้แนวโน้มการทำการตลาดในขณะนี้ จะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการยังคงเน้นการส่งเสริมปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมากขึ้น เนื่องจากปัจจัยลบทางเศรษฐกิจส่งผลทำให้ผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการใช้จ่าย ทั้งนี้กลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการจะมีการใช้ในการแข่งขันมากที่สุดในขณะนี้ คือ การเพิ่มสิทธิประโยชน์จากบัตรเครดิตให้ตรงกับพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภค เช่น การเพิ่มสิทธิประโยชน์จากบัตรเครดิตในกลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภค ซึ่งเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวและเป็นค่าใช้จ่ายที่ทุกคนต้องใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เป็นต้น โดยเน้นการออกแคมเปญที่แตกต่างกันไปเพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าต่างกลุ่มกันให้ชัดเจนมากขึ้น เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าถึงผู้บริโภค และตอบสนองพฤติกรรมการใช้จ่ายผ่านบัตรที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้าในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว อีกทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างความจงรักภักดี (Loyalty) คงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยมีการนำกลยุทธ์การ Cross Sell เพื่อเป็นการเสนอความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ให้ตรงตามความต้องการลูกค้าในกลุ่มต่างๆ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านการเงินที่อำนวยความสะดวกได้อย่างครบวงจร เป็นต้น

นอกจากนี้การบริหารความเสี่ยงธุรกิจบัตรเครดิตก็จะเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในส่วนของการติดตามพฤติกรรมการผิดนัดชำระยอดคงค้างบัตรเครดิต ทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาระดับคุณภาพของระบบสินเชื่อบัตรเครดิตของผู้ประกอบการ ก่อนที่สินเชื่อบัตรเครดิตจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ [/color:c72b2b0223">

 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com