May 5, 2024   4:25:43 AM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > CLSAแนะขายKTB-KBANK-SCBสวนทางโบรกฯไทย
 

????
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 1,238
วันที่: 28/09/2006 @ 21:14:12
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

CLSA ฟันหุ้นแบงก์ไม่น่าเข้าใกล้ หลังคาดจีดีพีปีหน้าโตได้แค่ 1.8% เหตุการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้ม ทรุดหลังมีการยึดอำนาจ ซึ่งจะเหมือนกับการปฏิวัติเมื่อ 15 ปีก่อนที่การลงทุนภาคเอกชนจะทรุดในปีถัดมาหลังมีการปฏิวัติ ลดคำแนะนำการลงทุนจาก Neutral เป็น Underperform และคงคำแนะนำขาย KTB SCB และ TCAP รวมทั้งแนะนำการลงทุนจาก Underperform เป็น Sell ต่อ KBANK และ SCIB ด้านโบรกฯไทยประสานเสียงหุ้นแบงก์วันนี้กระทบไม่มาก และยังแนะซื้อลงทุนได้ทั้ง KBANK - KTB -SCB และKTB

ช่วง 10 วันหลังการปฏิรูปการปกครองของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตรยิ์ทรงเป็นประมุขเมื่อคืนวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมานั้น ท่ามกลางความไม่ชัดเจนทางการเมืองแต่ก็จะเห็นได้ว่า อย่างน้อยตลาดหลักทรัพย์ของไทยก็ไม่ได้แพนิกมากมายอย่างที่กังวลกันไว้แต่แต่อย่างใด ดัชนีปรับตัวลดลงมากเพียงแค่วันแรกที่ตลาดเปิดในวันที่ 21 ก.ย. เท่านั้น แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้ปรับตัวลดลงมากนักใน ขณะที่บางวันดัชนียังสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ด้วยซ้ำ โดยช่วงเวลาดังกล่าวนั้นหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ถือเป็นหุ้นดาวเด่นจากการแนะนำของบรรดาโบรกเกอร์หลายสำนัก ที่แนะนำให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนอีกครั้ง เพราะกลุ่มธนาคารนั้นไม่ได้รับผลกระทบจากเรื่องของปัจจัยการเมือง
อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมา ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงต่อเนื่อง รวมไปถึงอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มทรงตัว ได้ส่งผลดีต่อหุ้นกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง ประกอบการทางสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือมูดี้ส์อินเวสเตอร์สเซอร์วิส หรือ มูดี้ส์ ยังยืนยันว่าอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารไทยทั้ง 12 แแห่งจะยังไม่ได้รับผลกระทบทันทีจากสถานการณ์ทางการเมือง ทำให้สัปดาห์ที่ผ่านมาหุ้นกลุ่มธนาคารฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหุ้นธนาคารฯขนาดใหญ่อย่าง บมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL) บมจ.ธนาคารกรุงไทย(KTB) บมจ.ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) และบมจ. ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)
อย่างไรก็ตามปรากฎว่าวานนี้ (28 ก.ย.) หลังจากที่ราคาปรับตัวขึ้นแรงมาหลายวัน ก็มีแรงเทขายหุ้นในกลุ่มนี้ออกมาอย่างหนัก ส่งผลให้ดัชนีกลุ่มธนาคารฯ ปรับตัวลดลงไป 1.9062% หรือ 53.07 จุด มาปิดที่ 260.90 จุด มีมูลค่าการซื้อขายรวม 2,273.59 ล้านบาท และเป็นการปรับลดลงของหุ้นธนาคารฯ ขนาดใหญ่ทั้งหมด คือ BBL ปิดที่ 109 บาท ลดลง 2 บาท มูลค่าการซื้อขาย 448.17 ล้านบาท SCB ปิดที่ 60 บาท ลดลง 2 บาท มูลค่าการซื้อขาย 849.92 ล้านบาท หุ้น KTB อยู่ที่ 11.60 บาท ลดลง 0.10 บาท มูลค่าการซื้อขาย 148.14 ล้านบาท KBANK ปิดที่ 67 บาท ลดลง 1 บาท มูลค่าการซื้อขาย 247.72 ล้านบาท BAY ปิดที่ 17.80 บาท ลดลง 0.30 บาท มูลค่าการซื้อขาย 71.67 ล้านบา TMB ปิดที่ 3 บาท ลดลง 0.16 บาท มูลค่าการซื้อขาย 387.56 ล้านบาท และ SCIB ปิดที่ 19.80 บาท ลดลง 0.20 บาท มูลค่าการซื้อขาย 72.55 ล้านบาท
ทั้งนี้การปรับลดลงอย่างหนักของหุ้นกลุ่มธนาคารฯ คาดว่าเป็นผลมาจากการราคาหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปค่อนข้างมาก จึงทำให้มีแรงเทขายทำกำไรออกมา ขณะเดียวยังพบว่านักลงทุนบางส่วนอาจจะโยกเงินไปจองซื้อหุ้นไอพีโอของธนาคารไอซีบีซีของประเทศจีน ซึ่งถือเป็นหุ้นบลูชิพขนาดใหญ่ ที่มีมูลค่าถึง 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่เตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ในวันที่ 27 ตุลาคมนี้ นอกจากนั้นวานนี้ยังมีบทวิเคราะห์ของ CLSA แนะนำให้ขายหุ้นกลุ่มธนาคารฯ อีก ดังนั้นจึงส่งผลให้ราคาหุ้นกลุ่มดังกล่าวปรับลดลงและส่งผลกระทบต่อดัชนีตลาดหลักทรัพย์โดยรวมด้วยเช่นกัน ซึ่งเมื่อวานนี้ดัชนีฯ ปิดที่ 687.90 จุด ลดลง 5.13 จุด มีมูลค่าการซื้อขาย 14,112.02 ล้านบาท

*CLSA ให้มุมมองเชิงลบหุ้นแบงก์ แนะขายอย่างเดียว
บทวิเคราะห์การลงทุนโดย CLSA ระบุว่า หุ้นในกลุ่มธนาคารของไทยมีแนวโน้มไม่สดใส ทำให้ CLSA มีมุมมองเชิงลบ เนื่องจากคาดว่า อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพีของไทยมีแนวโน้มชะลอตัวในปี 2006 และ 2007 หลังเกิดการยึดอำนาจ
โดยทีมวิเคราะห์เศรษฐกิจของ CLSA ประเมินว่า จีดีพีไทยในปี 2006 จะขยายตัวในอัตรา 3.9% และจะชะลอตัวไปขยายตัวในอัตราเพียง 1.8% ในปี 2007 ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับลดประมาณการมูลค่าการลงทุนจากภาคเอกชนในปีหน้า โดยวิเคราะห์จากข้อมูลสถิติในช่วงที่เกิดการปฏิวัติครั้งก่อน ซึ่งในปี 1990 ก่อนการปฏิวัติ การลงทุนภาคเอกชนไทยขยายตัวในอัตรา 11.2% ก่อนจะชะลอลงมาอยู่ที่ 8.6% ในปี 1991 ซึ่งเกิดการปฏิวัติ และในปี 1992 หลังการปฏิวัติ การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเพียง 8.1%
ทั้งนี้ หากคำนวณจากอัตราการเติบโตของสินเชื่อมีผลต่อจีดีพีในสัดส่วน 1.4% คาดว่า อัตราการขยายตัวของสินเชื่อในไทยจะอยู่ที่ระดับประมาณ 7%
การลงทุนภาคเอกชนที่จะชะลอลงในปีหน้าย่อมบ่งชี้ถึงอัตราการขยายสินเชื่อที่จะชะลอลงตามไปด้วย ซึ่งจะกดดันต่อการดำเนินงานของธนาคารโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของอัตรากำไรขั้นต้นที่จะลดลง
ขณะเดียวกันระดมออกแคมเปญเงินฝากในปีนี้ ซึ่งทำให้สภาพคล่องเพิ่มขึ้นไปพร้อมๆกับภาระอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้โครงสร้างเงินฝากที่ส่วนใหญ่เป็นเงินฝากประจำซึ่งเพิ่มขึ้นสวนทางกับเงินฝากออมทรัพย์ (เป็นผลจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่จูงใจ) ยิ่งส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินของธนาคารไทยเพิ่มขึ้น
จากการประเมินปัจจัยกดดันดังกล่าวทำให้ CLSA ลดคำแนะนำการลงทุนจาก Neutral เป็น Underperform โดยได้คงคำแนะนำ Sell ต่อ KTB SCB และ TCAP แต่ได้ลดคำแนะนำการลงทุนจาก Underperform เป็น Sell ต่อ KBANK และ SCIB
โดย CLSA ได้ให้ราคาเป้าหมายต่อ KTB ที่ 10.00 บาท จาก P/E ปี 2006 ที่ 9.5 เท่า SCB มีราคาเป้าหมายที่ 55.00 บาท P/E ปี 2006 ที่ 13.7 เท่า ส่วน TCAP มีราคาเป้าหมายที่ 13.00 บาท P/E ปี 2006 ที่ 7.5 เท่า
ขณะที่ KBANK และ SCIB มีราคาเป้าหมายที่ 65.00 บาท และ 18.00 บาทตามลำดับ จาก P/E ปี 2006 ที่ 13.7 เท่า และ 12.9 เท่าตามลำดับ
ทั้งนี้ CLSA ระบุในกลุ่มธนาคารไทยดูเหมือนว่า KBNAK จะได้รับผลกระทบจากต้นทุนเงินฝากที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด เนื่องจากในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา KBANK มีเงินฝากและสภาพคล่องสูงถึง 55% ของสินทรัพย์ซึ่งเป็นระดับที่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อกำไรจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย



*ซีมิโก้ มองหุ้นแบงก์สะเทือนไม่มาก ยังให้ทยอยซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว
เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ซีมิโก้ เปิดเผยว่า จากกรณีที่ CLSA แนะนำให้ขายหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ของไทย ทั้งนี้มีความคิดเห็นว่าเรื่องดังกล่าวส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นในกุล่มธนาคารพาณิชย์อย่างแน่นอน แต่ไม่น่าจะส่งผลกระทบมากนัก เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่รับรู้แล้ว และในช่วงที่ผ่านมานักวิเคราะห์จากหลายค่ายต่างออกมาคาดการณ์ว่าหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ของไทยจะได้รับผลกระทบจากอัตราการปล่อยสินเชื่อที่ชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงเช่นกัน
ไม่ใช่เพราะ CLSA อย่างเดียวแต่นักวิเคราะห์หลายค่ายเขาก็มองอย่างนี้ และก็มีอีกเรื่องที่ทำให้หุ้นกลุ่มแบงก์ปรับตัวลงวันนี้ เพราะนักลงทุนชะลอการลงทุนเพื่อนำเงินบ้างส่วนไปไว้ซื้อหุ้น IPO ของหุ้นแบงก์ที่ประเทศจีนซึ่งเป็นหุ้นที่มีมาร์เก็ตแคปใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์เลย แหล่งข่าวรายเดิมกล่าว
ทั้งนี้หุ้นในกลุ่มดังกล่าวยังคงมีโอกาสเติบโตได้ในอนาคต ดังนั้นจึงแนะนำทยอยซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว อย่างไรก็ตามคาดว่าหุ้นกุล่มแบงก์คงไม่มีผลกระทบต่อดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในวันนี้ เนื่องจากยังคงมีหุ้นกลุ่มอื่นๆ ที่จะช่วยพยุงดัชนีฯไม่ให้ปรับลดลงได้


* ซิกโก้ ยังแนะนำซื้อหุ้น SCB-KBANK
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ซิกโก้ กล่าวถึง การออกบทวิเคราะห์ดังกล่าวของ CLSA ว่า การปรับตัวลดลงของหุ้นกลุ่มธนาคารแบงก์วานนี้ ส่วนหนึ่งน่าจะมีผลจากบทวิเคราะห์ของ CLSA ด้วย แต่อย่างไรก็ตามมองว่าในปี 2550 ถึงแม้การปล่อยสินเชื่อในปี 2549 จะเติบโตลดลงไม่เป็นไปอย่างที่คาดการณ์ไว้ แต่เชื่อว่าในปี 2550 หากรัฐบาลที่เข้ามาดำเนินการในเรื่องเศรษฐกิจ ก็เชื่อว่าการเติบโตของการปล่อยสินเชื่อน่าจะพลิกกลับมาดีขึ้นได้ในกลางปี 2550 ซึ่งน่าจะปล่อยสินเชื่อได้เต็มที่มากขึ้น
ข่าวดังกล่าวคาดว่าไม่น่าจะกระทบกับหุ้นในกลุ่มธนาคารในวันนี้มากนัก โดยยังมีมุมมองแนะนำซื้อลงทุนหุ้นในกลุ่มธนาคาร ซึ่งบริษัทที่มีความน่าสนใจ คือ SCB ให้ราคาเหมาะสมตามปัจจัยพื้นฐานปี 2550 ไว้ที่ 71 บาท เนื่องจากมองว่าการดำเนินงานในปีนี้ ในส่วนของการปล่อยสินเชื่อครึ่งปีแรกที่ผ่านมา SCB สามารถปล่อยสินเชื่อได้แล้วมีอัตราการเติบโต 5% ซึ่งทั้งปีคาดว่าน่าจะอยู่ในระดับ 10% หรือประมาณ 665,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นไปตามเป้าหมายที่มีการคาดการณ์ไว้
ส่วนหุ้นอีกตัวที่มีความน่าสนใจคือ KBANK ให้ราคาเหมาะสมตามปัจจัยพื้นฐานปี 2550 ที่ 84 บาท เนื่องจากยังมองว่า KBANK ยังคงมีอัตราการเติบโตในการปล่อยสินเชื่อในกลุ่ม SMEs อย่างต่อเนื่อง



* บล.กรุงศรี ยังให้น้ำหนักลงทุนต่อ เชื่อปีหน้าฟ้าใส
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า การที่ CLSA มีการปรับลดน้ำหนักการลงทุนและแนะนำขายในหุ้นกลุ่มธนาคารนั้นคงเกิดจากการที่มองว่าเหตุการณ์ยึดอำนาจของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้นเป็นเหตุการณ์ที่มีความรุนแรงในสายตาของชาวต่างชาติซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมรวมไปถึงผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของธนาคาร
อย่างไรก็ดี ทาง บล.กรุงศรีฯยังแนะนำให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารโดยมองว่าในปี 2550 หลังจากที่สถานการณ์ทางการเมืองมีความชัดเจนขึ้นในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเริ่มนิ่ง ก็จะส่งผลให้ธนาคารมีการปล่อยกู้ได้มากขึ้นซึ่งก็จะทำให้ผลประกอบการก็ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง
แต่ทั้งนี้ ในระยะสั้นหุ้นในกลุ่มธนาคารยังคงได้รับผลกระทบจากการที่นักลงทุนต่างชาติได้โยกเงินไปลงทุนในหุ้นไอพีโอจำนวน 2 บริษัทซึ่งมีขนาดใหญ่ของประเทศจีนมีการเข้าซื้อขายในซื้อขายฯในสัปดาห์หน้าและเดือนหน้า ดังนั้น หุ้นในกลุ่มธนาคารจึงยังคงมีแรงเทขายออกมาอย่างต่อเนื่องซึ่งก็ย่อมส่งผลกระทบต่อภาพรวมตลาดหุ้นไทยให้ปรับตัวลดลงไปด้วยหากไม่มีหุ้นขนาดใหญ่กลุ่มอื่นมาช่วยพยุงดัชนีฯเนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีมาร์เก็ตแคปขนาดใหญ่
โดยหุ้นที่มีความน่าสนใจลงทุนนั้นจะเป็น ธนาคารกรุงเทพ หรือ BBLประเมินราคาเหมาะสมอยู่ที่ 135 บาท
ด้านนักวิเคราะห์หลักทรัพย์รายหนึ่ง กล่าวว่า การปรับลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นแบงก์ดังกล่าวของ CLSA เป็นเพราะนักลงทุนต่างประเทศเห็นว่าการปฏิรูปฯมีความรุนแรงและอาจส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจจึงแนะนำลดพอร์ตการลงทุน ทั้งนี้ แม้ CLSA จะมีมุมมองเชิงลบกับหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์แต่ประเมินว่ากลุ่มธนาคารพาณิชย์ยังขยายตัวดี และน่าสนใจลงทุน เนื่องจากเชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้นทำให้การปล่อยสินเชื่อขยายตัวและเอื้อต่อผลประกอบการให้เติบโต
อย่างไรก็ตาม แม้ระยะสั้นจะมีปัจจัยลบกดดันการลงทุนหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ทั้งจากผลประกอบการในครึ่งปีหลังที่มีแนวโน้มจะไม่ค่อยดีหากเทียบกับครึ่งปีแรกหลังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและอาจมีเม็ดเงินบางส่วนโดยเฉพาะจากนักลงทุนต่างประเทศโยกเงินไปซื้อหุ้น IPO ของ ICBC ที่เตรียมเข้าจดทะเบียนในวันที่ 27 ตุลาคมนี้ รวมถึง S&P ปรับลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ แต่ยังแนะนำเลือกซื้อหุ้นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่และราคาปรับลดลงเนื่องจากประเมินแนวโน้มธุรกิจระยะยาวเติบโตดี โดยเฉพาะ BBL และ KTB ประเมินราคาเหมาะสม 120 บาท และ12.50 บาทตามลำดับ
ประเด็น CLSA อาจมีผลต่อจิตวิทยาการลงทุนบ้าง แต่คงไม่มากนักเพราะในส่วนของโบรกฯอื่นก็ยังให้น้ำหนักการลงทุนหุ้นแบงก์อยู่แต่คงเป็นลักษณะเลือกเล่นหุ้นใหญ่ราคาลดลง นักวิเคราะห์ กล่าว

 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com