April 28, 2024   7:30:14 AM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > BSEC ชุมนุมพ่อมดการเงิน ???
 

kaisel
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 3,380
วันที่: 31/10/2006 @ 10:38:46
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

ในที่สุดบริษัทหลักทรัพย์ บีฟิท จำกัด(มหาชน)หรือBSEC ก็ได้ฤกษ์ที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เสียที หลังจากที่รอกันมานาน หลังจากที่มีความพยายามผลักดันให้โบรกเกอร์แห่งนี้เข้าตลาดหุ้นมาตั้งแต่ปลายปี 2547

นอกเหนือจากความต้องการเป็นบริษัทมหาชนของ BSEC ที่จะสามารถใช้ตลาดหุ้นเป็นแหล่งระดมทุนแล้ว การเข้าตลาดหุ้นพร้อมเสนอราคาจองซื้อหุ้นไอพีโอที่ 4.20 บาทนั้น เห็นได้ชัดว่าเป็นการสร้างความมั่งคั่งให้กับผู้ถือหุ้นใหญ่ ที่ชื่อ นายยืนยง พันธุ์วงศ์กล่อม , นายสมเกียรติ วงศ์คุณทรัพย์ , น.ส. ยุพา การชฎิล และ นายชาตรี มหัทธนาดุลย์ ได้เป็นอย่างดี

โดยเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าบุคคลเหล่านี้ สวมหมวกอีกใบที่อยู่บทบาทของการเป็น นักลงทุนรายใหญ่ ที่เทรดหุ้นหนักของเมืองไทย

การกำหนดราคาหุ้นไอพีโอ 4.20 บาท ที่อ้างว่าเป็นการมอบส่วนลดราคาสูง เพื่อให้ผู้จองซื้อได้รับผลตอบแทนจากส่วนต่างราคาหุ้นได้ทันที น่าจะเป็นข้อมูลลอยๆ ที่ไม่สามารถอธิบายที่มาและที่ไปของการกำหนดราคาไอพีโอครั้งนี้ได้ เนื่องจากทางอันเดอร์ไรเตอร์อย่าง บล.นครหลวงไทย ยังไม่สามารถที่จะบอกระดับค่า P/E ของราคาหุ้นBSEC ได้เลย

การจะฟันธงว่าหุ้น BSEC จะถูกจริงหรือไม่นั้น นักลงทุนควรที่จะพินิจวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วน ถึงพื้นฐานและปัจจัยเสี่ยงของบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเห็นต้นทุนราคาหุ้นที่ได้มาของ 4 ผู้ถือหุ้นใหญ่ดังกล่าว อยู่ที่ 1.477 บาท ต่อหุ้นเท่านั้น คงไม่ต้องบอกว่าผู้ถือหุ้นใหญ่กลุ่มนี้ได้รับส่วนต่างกำไรทางบัญชีทันที 2.723 บาท หรือ 64.83 %

-พีอีต่ำกว่าอุตสาหกรรม
นาย สุวิช รัตนยานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.บีฟิท หรือ BSEC เปิดเผยว่า บริษัทจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก(ไอพีโอ)จำนวน 200.005 ล้านหุ้น โดยกำหนดราคาเสนอขายที่ 4.20 บาทต่อหุ้น ถือเป็นราคาที่มีส่วนลด โดยผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนจากส่วนต่างทันที หุ้นที่เสนอขายจะมีส่วนลดเพื่อให้ผู้ถือหุ้นและผู้สนใจได้รับผลประโยชน์อย่างยุติธรรม ทั้งนี้ราคานี้มี ส่วนลดให้กับนักลงทุนอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ นายสันทัด สงวนดีกุล ผู้ช่วยกรรมการฝ่ายวานิชธนกิจ บล.นครหลวงไทยจำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวถึงที่มาของราคาหุ้นไอพีโอBSEC ว่า การกำหนดราคาหุ้นครั้งนี้ มีค่าพีอีที่ต่ำกว่าค่าพีอีของอุตสาหกรรมที่อยู่ในระดับ 13-14 เท่า แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าราคาหุ้นที่ 4.20 บาท จะมีค่าพีอีเท่าไร

การกำหนดราคาหุ้นไอพีโอครั้งนี้ จะยึดการกำหนดราคาที่มีค่าพีอีที่ต่ำกว่าอุตสาหกรรมส่วนจะเป็นเท่าไรนั้นคงไม่สามารถที่จะบอกได้ แต่จะส่วนต่างให้กับนักลงทุนอยู่ที่ประมาณ 25-26 % ของค่าพีอีอุตสาหกรรม

โดยจะมีการเสนอแบ่งเป็น 2 ช่วงสำหรับการเปิดจองซื้อ แบ่งเป็นการใช้สิทธิของผู้ถือหุ้นบริษัทแม่(บริษัทเงินทุน กรุงเทพธนาทร จำกัด(มหาชน)หรือBFIT) ระหว่างวันที่ 1-3และ 6-7 พฤศจิกายน 2549 ซึ่งจะเปิดประชาชนทั่วไปจองซื้อในระหว่างวันที่ 8-10พฤศจิกายน 2549 และคาดว่าจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในหมวดเงินทุนและหลักทรัพย์ประมาณ 22 พ.ย.โดยมี บล.นครหลวงไทย เป็นที่ปรึกษาการเงินและเป็นผู้จัดการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท

สำหรับวัตถุประสงค์ของการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯครั้งนี้ เพื่อขยายสาขาใหม่ในปีนี้ 3 แห่งในช่วงพฤศจิกายน-ธันวาคม 2549 จากปัจจุบันที่มีสาขาอยู่ 4 แห่ง ซึ่งรวมสำนักงานใหญ่ด้วย โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนสาขาละไม่เกิน 10 ล้านบาท

บริษัทจะขยายสาขาไปยังปิ่นเกล้า ในช่วงปลายพฤศจิกายน และเปิดสาขาโคราชประมาณวันที่ 20 พฤศจิกายน และมีแผนที่จะเปิดสาขาเชียงใหม่ประมาณต้นเดือนธันวาคม

นอกจากนี้ยังมีแผนใช้เงินอีกราว 20 ล้านบาท ในการพัฒนาคุณภาพของระบบงานและเทคโนโลยีสารสนเทศไว้รองรับการขยายตัว และการแข่งขันในอนาคต ตลอดจนจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการตามแต่ฝ่ายบริหารของบริษัทจะเห็นสมควร และคณะกรรมการบริษัทลงมติอนุมัติ โดยจะนำไปปล่อยกู้ให้กับลูกค้า

ด้านมาร์เก็ตแชร์ในปีหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 4% จากปีนี้อยู่ที่ประมาณ 3.63%โดยมีการคาดการณ์ว่า ปีหน้าจีดีพีของประเทศจะอยู่ที่ 5% ทำให้มูลค่าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์น่าจะอยู่ที่ 17,000- 20,000 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งมีผลให้ธุรกิจหลักทรัพย์ได้รับความสนใจจากผู้ลงทุน รวมถึงปัจจัยบวกจากกรณีที่การเมืองมีเสถียรภาพ แนวโน้มดอกเบี้ยและราคาน้ำมันลดลง

ในความเป็นจริงแล้ว แผนเดิมที่ตั้งเป้าหมายมาร์เก็ตแชร์ปีนี้ไว้ที่ 4% เมื่อดูสภาพแล้วคงทำได้ไม่ถึง แต่มองว่าปีหน้าน่าจะทำได้แน่นอน เนื่องจากการขยายฐานลูกค้ารายย่อยเพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา

-ราคา4.20ถูกหรือแพง
การกำหนดราคาหุ้นจองไอพีโอของBSEC ที่ระดับ 4.20 บาทครั้งนี้ คงยังตอบไม่ได้ชัดเจนนัก โดยเฉพาะเมื่อที่ปรึกษาทางการเงินและอันเดอร์ไรเตอร์ ออกมากล่าวว่าไม่สามารถที่จะบอกค่าพีอีของราคาหุ้นในครั้งนี้ได้ คงจะทำให้นักลงทุนต้องเดาไปต่างๆนานาว่า ราคาหุ้นที่กำหนดมา ที่อ้างว่ามีค่าพีอีต่ำกว่าอุตสาหกรรมนั้น ในความเป็นจริงแล้วต่ำกว่าแค่ไหน เพราะถ้าต่ำกว่า 0.01 เท่าก็ถือว่าต่ำแล้ว

สิ่งนี้คงไม่ใช่ประเด็นหลักเท่ากับการย้อนมาดูต้นทุนราคาหุ้นBSEC ที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้ง 4ราย ที่ นายยืนยง พันธุ์วงศ์กล่อม , นายสมเกียรติ วงศ์คุณทรัพย์ , น.ส. ยุพา การชฎิลและ นายชาตรี มหัทธนาดุลย์ ซื้อมาจากบริษัท ฟินันซ่า จำกัด (มหาชน)หรือ FNS เมื่อตอนที่บริษัทได้เสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิแปลงสภาพ ซึ่งเม็ดเงินที่กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่เหล่านี้จ่ายให้กับบมจ. ฟินันซ่า ไม่น่าจะเกินมูลค่าของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ถูกคำนวนเป็นตัวเงินจากราคาแปลงสภาพที่มีมูลค่ารวม 295,392,615 บาท

เพราะต้นทุนของราคาแปลงสภาพหุ้นกู้ด้อยสภาพ อยู่ที่ 1.477 บาท ซึ่งถือเป็นต้นทุนของผู้ถือหุ้นทั้ง 4 รายเมื่อเทียบกับราคาจองซื้อไอพีโอที่ระดับ 4.20 บาท ถือว่ามีส่วนต่างที่ทำให้ผู้ถือหุ้นใหญ่กำไรทางบัญชีทันทีเลย 2.723 บาทต่อหุ้น หรือ 64.83 % และถ้าคิดจากจำนวนหุ้นทั้งหมด ที่ผู้ถือหุ้นใหญ่กลุ่มนี้ ที่ถือหุ้นBSEC จำนวน 199,995,000 หุ้น เท่ากับว่าฟันกำไรไปแบบเหนาะๆ จำนวน 544 ,586,385 บาทเลยทีเดียว

ส่วนจะเป็นเหตุผลเดียวกับการที่ผู้บริหารFNS ไม่ยอมเปิดเผยชื่อ 4 นักลงทุนที่ซื้อหุ้นกู้ด้อยสิทธิไป จนถูกตลาดหลักทรัพย์ฯจี้ให้เปิดรายชื่อคนซื้อถึง 4 ครั้งในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2549 ที่ผ่านมา หรือเปล่านั้น ยังไม่มีการยืนยันจากปากของผู้บริหารทั้งสองฝ่าย

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ผู้บริหารของ BSEC จะออกมาประกาศว่าผู้ถือหุ้นใหญ่กลุ่มดังกล่าวติดไซเรนต์ พีเรียด โดยที่ไม่สามารถขายหุ้นที่ถืออยู่ได้แม้แต่หุ้นเดียว นับตั้งแต่วันที่หุ้นเข้าเทรดวันแรกไปอีก 2 ปี แต่ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับนักลงทุนรายย่อยนั้น คงต้องไปถามไถ่กันอีกรอบว่า จะมีความเชื่อมั่นที่จะจองหุ้นตัวนี้หรือไม่
-ความเสี่ยงขององค์กร

หนึ่งในความเสี่ยงที่เป็นปัจจัยหลักที่น่าจับตามองของ BSEC ในการทำหน้าที่เป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์นอกเหนือจากภาวะความผันผันของปัจจัยภายนอกแล้ว การพึ่งพิงลูกค้ารายใหญ่ ถือเป็นความเสี่ยงที่ให้ทั้งผลบวกที่หวือหวา และผลลบที่อันตราย

เหตุที่กล่าวเช่นนั้นเพราะในช่วงปี 2548 และช่วงหกเดือนแรกของปี 2549 BSEC มีสัดส่วนการซื้อขายหลักทรัพย์ของกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ 10 อันดับแรก คิดเป็นสัดส่วน 48.70และ 38.32 %ของมูลค่าการซื้อขายรวมของบริษัท โดยมีนักลงทุนรายใหญ่อันดับแรก ที่มีมูลค่าการซื้อขายในปี 2548 และงวดหกเดือนแรกของปี 2549 คิดเป็น 19.42 และ 16.42 %ของมูลค่าการซื้อขายรวมของบริษัท

จากตัวเลขดังกล่าว ทำให้เห็นว่านักลงทุนรายใหญ่ได้สร้างผลบวกให้กับบริษัทได้ในภาวะที่มีการซื้อขายหุ้นกันมากๆ ในทางกลับกัน ก็ถือเป็นผลลบที่ร้ายแรง เพราะทางบริษัทก็ยอมรับว่าหากสูญเสียนักลงทุนรายใหญ่เหล่านี้ไปแล้ว จะส่งผลกระทบต่อรายได้ค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทได้

เพราะปริมาณการซื้อขายของกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่เกือบทั้งหมด โดยมากมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ประมาณ 40-50 % ของมูลค่าการซื้อขายรวมของบริษัทนั้น เป็นปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ที่มาจากการชักชวนของผู้บริหารของบริษัทล้วนๆ โดยมิได้เกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่การตลาดรายใดรายหนึ่งเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าบริษัทจะมีนโยบายที่ลดความเสี่ยงดังกล่าว โดยการกระจายฐานนักลงทุนให้มีสัดส่วนของนักลงทุนรายย่อยเพิ่มขึ้นนั้น ถือว่าคงต้องใช้เวลาอีกมากพอสมควร เนื่องจากไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสร้างนักลงทุนรายย่อยหน้าใหม่ให้เกิดขึ้นในช่วงนี้ โดยเฉพาะในภาวะที่การเมืองไม่นิ่ง ปัญหาเศรษฐกิจ น้ำท่วม ที่จะเป็นตัวกดดันการเติบโตในส่วนของภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวคงจะเห็นชัดจากมูลค่าการซื้อขายของตลาดหุ้นที่ยังอยู่ในช่วงซบเซาแบบนี้


.000002

 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com