May 12, 2024   6:09:31 PM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > เผด็จการ กับ หุ้นทองคำ
 

Pooky
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 19
วันที่: 11/01/2007 @ 14:34:50
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

มีคำถามมากมายว่า ร่างแก้ไขกฎหมายประกอบอาชีพคนต่างด้าวตามมาตรการ 9มกราคม 2550 ของรัฐบาลขิงแก่ จะนำประเทศไทยไปสู่อะไร?
ผมนั่งคิดหลายตลบ แล้วก็ได้คำตอบกับตัวเองว่า ไม่ใช่การถอยไปสู่ลัทธิมอนโรแบบอเมริกาในอดีต หรือ ลัทธิ isolationism แบบเมียนมาร์ แต่กำลังจะกลายเป็นสาธารณรัฐกล้วยหอม หรือ บานาน่า รีพับลิก(ที่ไม่ใช่ยี่ห้อเสื้อผ้าวัยรุ่นนะครับ) เลยทีเดียว
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ หากเปรียบประเทศเป็นบริษัทจำกัด ตอนนี้ รัฐบาลขิงแก่และเผด็จการทหาร คมช. กฎกำลังใช้อำนาจรอนสิทธิของผู้ถือหุ้นรายย่อย (ได้แก่คนไทยทั้งหลาย) ด้วยการอ้างสิทธิหุ้นทองคำ หรือ golden shares มาโหวตลงคะแนน โดยไม่มีกฎหมายรองรับ
พฤติกรรมแบบนี้ ไม่ต่างอะไรกับที่รัฐบาลสิงคโปร์ของตระกูลลี ใช้กับกรณีเตมาเซคโฮลดิ้งในสิงคโปร์ไม่มีผิดเพี้ยน
เรื่องของหุ้นทองคำนี้ หากได้รัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์และไม่ฉ้อฉล มันก็มีเหตุสมควร แต่ถ้าได้รัฐบาลโง่ และฉ้อฉล มันก็เวรกรรมของชาติแหละครับ

สำหรับคนไทย เรื่องของหุ้นทองคำ อาจจะแปลกประหลาด แต่ในโลกนี้ มีหลายประเทศใช้กันอยู่
ประเทศแรกที่เริ่มนำเรื่องหุ้นทองคำมาใช้ ได้แก่อังกฤษในยุคของนางสิงห์ มาร์กาเรตแธตเชอร์ นั่นเอง การขายรัฐหรือแปลงรัฐวิสาหกิจจำนวนมหาศาลของรัฐบาลอังกฤษในคริสต์ทศวรรษที่ 1980 ที่เป็นตำนาน ล้วนแล้วแต่มีข้อกำหนดเรื่องหุ้นทองคำทั้งสิ้น

จุดนี้ ถือเป็นการซ่อนเร้นเจตนาที่แนบเนียนและชาญฉลาดของนางแธตเชอร์จากอังกฤษ หุ้นทองคำ ได้แพร่กระจายไปใช้ทั่วประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป แต่ลามไปถึงรัสเซียยุคหลังคอมมิวนิสต์ ที่มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อลดภาระการเงินของรัฐบาลเครมลินลงอย่างมหาศาลนับตั้งแต่มีการยอมรับกฎหมายเรื่องหุ้นทองคำนี้ ในปลายปี ค.ศ. 1992แล้วก็ระบาดมายังเอเชีย โดยเฉพาะประเทศที่มีนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ อยากจะคงอำนาจของรัฐบาลเอาไว้ต่อไป เป็นการใช้สิทธิ์เกินกว่าความเป็นเจ้าของ

ความหมายของ golden shares โดยทั่วไป หมายถึงหุ้นที่ผู้ถือครอง สามารถที่จะล้มอำนาจการใช้สิทธิออกเสียงของผู้ถือหุ้นอื่นๆได้ทั้งหมด ในเหตุการณ์ที่กำหนดเอาไว้ในระเบียบบริษัทหรือองค์กรธุรกิจ ซึ่งส่วนใหญ่ จะเกิดขึ้นโดยบริษัทที่มีรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้น ซึ่งมีการแปรรูปจากรับวิสาหกิจเป็นบริษัทเอกชน หรือ มหาชน
รัฐบาลที่ถือหุ้นทองคำในมือ สามารถใช้อำนาจได้เต็มที่เหนือผู้ถือหุ้นรายอื่นๆทั้งหมดโดยไม่ต้องไปสนใจว่า สัดส่วนการถือครองหุ้นจะมากหรือน้อยเท่าใด เพื่อควบคุมทิศทางของบริษัทให้เป็นไปตามที่รัฐบาลต้องการ เช่น สิทธิการป้องกันการครอบงำกิจการโดยต่างชาติหรือ สิทธิในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐให้เป็นเอกภาพ หรือ ผลประโยชน์บางประการ

อำนาจเหนือสิทธิ หรือ veto power ซึ่งสามารถใช้อำนาจในการออกเสียง มากเกินจำนวนหุ้นปกติ ถือเป็นการแทรกแซงโดยตรงต่อบริษัท ผู้ถือหุ้น พนักงาน และผู้บริหารของบริษัท หรือ บริษัทในเครือและบริษัทลูก หรือบริษัทร่วมทุนด้วย และรัฐบาลที่ถือหุ้นเหล่านี้ ก็มักจะอ้างเหตุผลเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ เป็นสาเหตุสำคัญในการใช้สิทธิดังกล่าว

โดยทั่วไป ภารกิจหลักของ หุ้นทองคำ นี้มีเป้าหมาย 6 ประการด้วยกันคือ
*ป้องกันการทุ่มซื้อกิจการซึ่งรัฐบาลถือว่าเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องผลประโยชน์สาธารณะ
*จำกัดการสูญเสียอำนาจของผู้ถือหุ้นเดิม(หรือรัฐ)ในการเพิ่มทุนคราวต่อไป
*สร้างข้อจำกัดในเรื่องการดูแลสินทรัพย์ของกิจการ
*จำกัดอำนาจของผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่ๆ
*สร้างหลักประกันว่า จะป้องกันไม่ให้มีผู้บริหารที่ไม่พึงปรารถนาเข้ามาควบคุมกิจการ
*สร้างหลักประกันรักษาจำนวนกรรมการของรัฐ(หรือผู้ถือหุ้นก่อตั้ง)ในคณะกรรมการบริษัท

ในบางกรณี บริษัท เตมาเซค โฮลดิ้ง ของรัฐบาลสิงคโปร์ ได้ใช้อภิสิทธิในส่วนของหุ้นทองคำนี้ จากการที่เข้าไปถือหุ้นในบริษัทต่างๆ โดยเฉพาะบริษัทที่มีสัญชาติสิงคโปร์ โดยถือหุ้นจำนวนเล็กน้อยเท่านั้น

จีนก็มีกฎหมายรองรับ หุ้นทองคำ เช่นกัน โดยรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง จะต้องให้รัฐบาลจีน(กระทรวง หรือ กรม หรือบริษัทโฮลดิ้งเฉพาะกิจ) หรือ เครือข่ายของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน (PLA)เข้าถือหุ้นทองคำ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นหุ้นใหญ่ แต่มีอำนาจทัดเทียมกับผุ้ถือหุ้นใหญ่ได้ และยังถือเสมือนหนึ่งว่า บริษัทที่มีหุ้นทองคำนี้ เป็น SOEs (State-owned Enterprises)ตามเดิม

ที่มาเลเซีย ไปไกลกว่าใครเพื่อน เพราะระบุเอาไว้เลยว่า บริษัททุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นอดีตรัฐวิสาหกิจหรือไม่ จะต้องให้คนมาเลเซียเข้าถือถือหุ้นทองคำนี้ ภายใต้กรอบนโยบายหลักของพรรคอัมโน คือ Malay Agenda ซึ่งสามารถที่จะคัดค้านผู้ถือหุ้นเชื้อชาติอื่นๆได้ทั้งหมด

ในบางประเทศ(เช่นสหรัฐฯ) บริษัทที่เป็นเอกชน ก็สามารถออกหุ้นทองคำแก่ผู้ก่อตั้งแต่ใช้ชื่อเรียกว่า dual-class shares หรือ super-voting sharesซึ่งแบ่งหุ้นออกเป็น หุ้น A หรือ B ซึ่งมีสิทธิในการออกเสียงได้ไม่เท่ากัน เพื่อให้คนถือหุ้นกลุ่มหนึ่งใช้อำนาจเหนือผู้ถือหุ้นทั่วไป

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ในค.ศ. 2003 ศาลสูงของสหภาพยุโรป ได้มีคำพิพากษาหลังจากถูกผู้ถือหุ้นของบริษัทบริหารสนามบินนานาชาติ(BAA) ยื่นฟ้อง ว่า หุ้นทองคำของรัฐบาลอังกฤษผิดต่อกฎหมายของสหภาพ เพราะเป็นการใช้อภิสิทธิ์ขัดขวางการเคลื่อนย้ายทุนตามปรัชญาของสหภาพยุโรปผลลัพธ์ก็คือ บริษัทในสหภาพยุโรปจำ นวนมหาศาล จำต้องยกเลิกกฎเรื่องหุ้นทองคำกันหมด

เพียงแต่ บางชาติที่รับเอาแนวคิดหุ้นทองคำไปใช้อย่างรัสเซีย สิงคโปร์ มาเลเซียและจีน ก็ดูเหมือนว่า ยังพึงพอใจอย่างยิ่งกับการรักษากติกานี้เอาไว้เคร่งครัด

สำหรับเมืองไทยแล้ว ไม่มีกฎหมายรับรองหุ้นทองคำ และ super-voting sharesแต่อย่างใด แต่รัฐบาลเผด็จการจะใช้เสียอย่าง
ใครจะทำไม?




.0003

 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com