May 12, 2024   5:02:22 AM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์: ?บาทผันผวน ขณะที่หุ้นฟื้น
 

samjin
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 352
วันที่: 13/01/2007 @ 09:34:43
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

?บาทผันผวน
ขณะที่หุ้นฟื้น...หลังมีความชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับการแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าว?

ตลาดเงิน
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นยังทรงตัวต่อเนื่อง โดยปัจจัยในตลาดเงิน ได้แก่ การเริ่มต้นปักษ์สุดท้ายก่อนที่การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์จะมีการปรับช่วงเวลาให้สอดคล้องกับกำหนดการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินตั้งแต่วันที่ 17 มกราคมเป็นต้นไป การนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย และการชำระค่าพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยที่ประมูลในระหว่างสัปดาห์ ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์ประเภทข้ามคืน (Overnight) ยังคงหนาแน่นอยู่ที่ระดับเดิมที่ 4.95% ตลอดสัปดาห์ ขณะที่ อัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน ปิดสัปดาห์ที่ 5.00% เพิ่มขึ้นจากสิ้นสัปดาห์ก่อนที่ 4.9375%

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย ประเภทอายุ 5 ปี (TH5YY) ปิดที่ระดับ 4.86% ในวันศุกร์ ร่วงลงจาก 5.04% เมื่อวันศุกร์แรกของปี 2550 อัตราผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรไทยปรับลงอย่างมากโดยเฉพาะประเภทอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป โดยเป็นผลจากบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยจะสดใสได้สนับสนุนการคาดการณ์ที่ว่าทางการไทยอาจจะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเร็วกว่าที่คาด การตอบรับเป็นอย่างดีต่อการประมูลตราสารหนี้ภาครัฐระหว่างสัปดาห์ และการเข้าซื้อพันธบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่แรงขายพันธบัตรเพื่อทำกำไร แรงขายพันธบัตรจากนักลงทุนต่างชาติ และการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ ได้ช่วยชะลอการดิ่งลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยไว้ ด้านตลาดพันธบัตรสหรัฐฯนั้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ประเภทอายุ 10 ปี (US10YY) ปิดที่ระดับ 4.74% ในวันพฤหัสบดี ปรับขึ้นจาก 4.65% เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ในวันจันทร์ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ขยับขึ้นเล็กน้อยจากวันศุกร์ก่อนหน้า โดยนักลงทุนชะลอการลงทุน ภายหลังรายงานข้อมูลการจ้างงานเดือนธันวาคมที่แข็งแกร่งและความวิตกเกี่ยวกับการปรับขึ้นของค่าจ้างแรงงาน ทำให้ตลาดลดการคาดการณ์ถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในระยะใกล้ลง อีกทั้ง สุนทรพจน์ของนายโดนัลด์ คอห์น รองประธานเฟด ได้กล่าวย้ำว่าความเสี่ยงทางด้านเงินเฟ้อยังคงเป็นปัจจัยหลักที่เฟดมีความวิตกมากกว่าการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจ ต่อมาในวันอังคาร อัตราผลตอบแทนพันธบัตรทรงตัว ขณะที่ตลาดขาดข้อมูลเศรษฐกิจเพิ่มเติมที่มีนัยสำคัญต่อตลาด ในวันพุธ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับขึ้นอีก ภายหลังรายงานการขาดดุลการค้าเดือนพฤศจิกายนที่ลดลงเหนือความคาดหมาย รวมทั้งยอดการสมัครขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งช่วยกระตุ้นมุมมองในเชิงบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังเป็นผลมาจากปริมาณอุปทานตราสารหนี้ที่มีมากอีกด้วย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรยังคงปรับขึ้นเป็นวันที่สี่ติดต่อกันในวันพฤหัสบดี โดยได้รับผลกระทบจากการประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเหนือความคาดหมายของธนาคารกลางอังกฤษ การประมูลตราสารหนี้สหรัฐฯ ประเภทที่อัตราผลตอบแทนปลอดผลกระทบจากเงินเฟ้อ (Treasury Inflation-Protected Securities) ที่ได้รับการตอบรับไม่ดีเท่าที่ควร การลดลงของราคาน้ำมัน และการปรับลงอย่างมากของจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานรายสัปดาห์

เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยในวันจันทร์ เงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ ตามแรงขายเงินดอลลาร์ฯ จากผู้ส่งออก ในขณะที่เงินบาทไม่ได้รับผลกระทบจากการที่ธปท. ประกาศว่าจะยังไม่ยกเลิกมาตรการสกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาทออกไป แม้จะมีการเรียกร้องให้ผ่อนคลาย หรือยกเลิกมาตรการก็ตาม อย่างไรก็ตาม เงินบาทอ่อนค่าลงใกล้ระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันอังคาร สอดคล้องกับการร่วงลงอย่างหนักของตลาดหุ้นไทยเมื่อ ครม.เห็นชอบการแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าว เนื่องจากนักลงทุนยังไม่มั่นใจในรายละเอียดของการแก้ไข ส่วนในวันพุธและพฤหัสบดี เงินบาทยังแกว่งตัวอยู่ในกรอบที่อ่อนค่า โดยได้รับอิทธิพลต่อเนื่องบางส่วนจากความกังวลเกี่ยวกับการแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าว ประกอบกับเงินสกุลภูมิภาคอ่อนค่า สำหรับในวันศุกร์ เงินบาทอ่อนค่าต่อ สอดคล้องกับทิศทางเงินสกุลภูมิภาคและเงินเยน อีกทั้งปัจจัยพื้นฐานของเงินบาทที่ยังคงมีความเสี่ยงอยู่ ขณะที่ปริมาณการซื้อขายเบาบางมาก เนื่องจากขาดปัจจัยใหม่ๆ มากระตุ้นตลาด ทั้งนี้ ในวันศุกร์ที่ 12 มกราคม เงินบาทมีค่าเฉลี่ยในการซื้อขายช่วงบ่ายที่ 36.067 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 35.967 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ก่อนหน้า

สัปดาห์นี้ (15-19 มกราคม 2550) ตลาดคงจะจับตาการประชุมนโยบายอัตราดอกเบี้ยของทางการไทยในวันที่ 17 มกราคม ซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จากอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน มาเป็นอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน พร้อมกันนั้น ธนาคารพาณิชย์จะมีการเริ่มปักษ์ของการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องแบบใหม่ด้วย ทั้งนี้ ในกรณีที่ทางการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายใหม่ที่ 5.00% คาดว่าอัตราดอกเบี้ยตลาดเงินระยะสั้นน่าจะทรงตัว โดยอัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์คงจะปรับตัวในกรอบประมาณ 4.95-4.97%

ด้านค่าเงินบาท คาดว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบประมาณ 35.40-35.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทคงจะแกว่งตัวตามทิศทางเงินสกุลภูมิภาคเป็นหลัก ท่ามกลางปริมาณธุรกรรมในประเทศที่เบาบาง ในขณะที่การประชุมนโยบายการเงินของธปท.ในวันพุธ อาจไม่ส่งผลกระทบต่อเงินบาทมากนัก หากธปท.กำหนดอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนระยะ 1 วันไว้สอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่

การเคลื่อนไหวของเงินเยนและเงินยูโร
เงินเยนอ่อนค่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยในช่วงต้นสัปดาห์ เงินดอลลาร์ฯ/เยน ได้รับปัจจัยบวกจากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนธันวาคมของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นแข็งแกร่งเกินคาด ซึ่งกระตุ้นให้ตลาดเชื่อมั่นมากขึ้นว่าเฟดอาจไม่จำเป็นต้องรีบลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเร็วๆ นี้ นอกจากนี้ แม้นักลงทุนบางส่วนเชื่อว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์ถัดไป แต่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ก็จะยังคงเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำให้เงินเยนอาจเสียเปรียบด้านอัตราผลตอบแทนเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอื่นๆ และนักลงทุนจะเดินหน้าทำ Carry Trade ด้วยการกู้ยืมเงินเยนเพื่อไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าต่อไป ส่วนในช่วงกลางและปลายสัปดาห์ เงินดอลลาร์ฯ ยังแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเงินเยน เพราะได้รับแรงหนุนจากราคาน้ำมันที่ลดลงแรง ประกอบกับตัวเลขยอดการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ เดือนพฤศจิกายนลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 16 เดือน ซึ่งทำให้นักวิเคราะห์หลายรายปรับเพิ่มประมาณการจีดีพีไตรมาส 4/2549 ของสหรัฐฯ อีกทั้ง เจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟดท่านหนึ่งได้กล่าวว่าความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อยังคงเป็นความกังวลหลักและมีความเป็นไปได้ที่เฟดอาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก ขณะที่ การแสดงความคิดเห็นของนายฮิเดโอะ ฮายาคาวา หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารกลางญี่ปุ่น ที่ระบุว่าการบริโภคน่าจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในไตรมาส 4/2549 นั้น มีผลหนุนเงินเยนเพียงเล็กน้อย และไม่สามารถหักล้างปัจจัยลบจากการเปิดเผยดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเดือนพฤศจิกายนที่ชะลอตัวลงได้ สำหรับในวันศุกร์ เงินดอลลาร์ฯ เดินหน้าแข็งค่าขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในรอบ 13 เดือนเมื่อเทียบกับเงินเยน ท่ามกลางความหวังในเชิงบวกต่อข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะประกาศออกมาในช่วงคืนวันศุกร์ (ตามเวลาในประเทศไทย) ทั้งนี้ ในวันศุกร์ที่ 12 มกราคม เงินเยนมีค่าเฉลี่ยที่ 120.55 เยน/ดอลลาร์ฯ เทียบกับ 118.18 เยนต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ก่อนหน้า

เงินยูโรมีทิศทางที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยในวันจันทร์ เงินยูโรเผชิญแรงเทขาย จากการที่สหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขจากตลาดแรงงานล่าสุดที่แข็งแกร่ง ก่อนที่เงินยูโรจะฟื้นตัวขึ้นได้เล็กน้อยในวันอังคาร เนื่องจากนักลงทุนลังเลที่จะเทขายเงินยูโรเพิ่มเติมก่อนการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรปในวันพฤหัสบดี อีกทั้งนักลงทุนมองว่าเงินดอลลาร์ฯ แข็งค่ารับข่าวข้อมูลการจ้างงานที่แข็งแกร่งมากเกินไป สำหรับในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ เงินยูโรยังคงอ่อนค่า ถึงแม้ว่าเยอรมนีจะรายงานยอดการเกินดุลการค้าที่พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนพฤศจิกายน และดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมก็ออกมาดีกว่าความคาดหมายของตลาด ทั้งนี้ เงินยูโรเผชิญแรงกดดันจากการที่ประธานธนาคารกลางยุโรปไม่ได้ส่งสัญญาณสนับสนุนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกุมภาพันธ์ที่ชัดเจน ซึ่งสร้างความผิดหวังให้กับตลาด หลังจากที่คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เท่าเดิมที่ 3.5% ตามความคาดหมายของตลาด ในทางตรงกันข้าม นักลงทุนเข้าซื้อเงินดอลลาร์ฯ เพิ่มขึ้นจากรายงานการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ที่ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่สามในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเมื่อผนวกกับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะนี้ที่ค่อนข้างดี และการแสดงความเห็นของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟดในเชิงที่กังวลต่อความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อในช่วงระหว่างสัปดาห์ ก็ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าเฟดอาจไม่จำเป็นต้องรีบลดอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ สำหรับในวันศุกร์ที่ 12 มกราคม เงินยูโรมีค่าเฉลี่ยที่ 1.2907 ดอลลาร์ฯ เทียบกับ 1.3087 ดอลลาร์ฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ก่อนหน้า




 กลับขึ้นบน
samjin
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 352
#1 วันที่: 13/01/2007 @ 09:35:49 : re: สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์: ?บาทผันผวน ขณะที่หุ้น
ภาวะตลาดทุน

ตลาดหุ้นไทย
ในสัปดาห์ที่สองของปี 2550 ดัชนีหุ้นไทยปิดที่ 645.71 จุด เพิ่มขึ้น 2.79% จากระดับปิดที่ 628.19 จุดในสัปดาห์ก่อน แต่ลดลง 5.0% จากสิ้นปีก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสัปดาห์เพิ่มขึ้น 107.53% จาก 45,092.73 ล้านบาทในสัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ 93,580.74 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่เพิ่มจาก 15,030.91 ล้านบาทในสัปดาห์ก่อน มาอยู่ที่ 19,052.36 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 183.35 จุด ขยับขึ้น 2.1% จาก 179.51 จุดในสัปดาห์ก่อน แต่ลดลง 5.2% จากสิ้นปีก่อน

ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นได้จากสัปดาห์ก่อนหน้า โดยนักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิได้เป็นครั้งแรกในรอบ 4 สัปดาห์ที่ 2.88 พันล้านบาท ขณะที่นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยเป็นกลุ่มที่ขายสุทธิจำนวน 1.5 พันล้านบาท และ 1.38 พันล้านบาท ตามลำดับ ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดบวกขึ้นได้เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยมีแรงซื้อกลับเข้ามาในหุ้นขนาดใหญ่ในกลุ่มพลังงาน อสังหาริมทรัพย์ และวัสดุก่อสร้าง หลังจากที่ดัชนีร่วงลงอย่างมากในสัปดาห์ก่อนหน้า ขณะที่ในวันอังคารนั้น ดัชนีเคลื่อนไหวในกรอบแคบก่อนที่จะรูดลงอย่างมากในการซื้อขายช่วงบ่าย หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจคนต่างด้าว ซึ่งส่งผลนักลงทุนเกิดความวิตกกังวลและขายหุ้นออกมาในทุกกลุ่ม ส่งผลให้ดัชนีร่วงลงถึง 17.07 จุด โดยปิดที่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปีที่ 616.75 จุด ส่วนในวันพุธจนถึงวันศุกร์นั้น ดัชนีตลาดหุ้นไทยสามารถฟื้นตัวขึ้นได้ตามลำดับ จากแรงซื้อกลับในหุ้นกลุ่มธนาคาร พลังงานและอสังหาริมทรัพย์ หลังจากที่ทางการได้มีการชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเพิ่มขึ้น และการที่คาดว่าจะมีจำนวนบริษัทจดทะเบียนไม่กี่รายที่จะได้รับผลกระทบจากการปรับปรุง พ.ร.บ. โดยในวันพฤหัสบดีนั้น ดัชนีปิดเพิ่มขึ้นถึง 2.47% หรือ 15.36 จุด ไปปิดที่ 637.63 จุด นักลงทุนต่างชาติกลับมาเป็นกลุ่มที่ซื้อสุทธิอีกครั้งที่ 2.06 พันล้านบาท ขณะที่ในวันศุกร์นั้น ดัชนีแกว่งตัวค่อนข้างแคบ โดยยังคงรักษาแรงบวกได้จากวันก่อน และนักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาซื้อสุทธิถึง 3.8 พันล้านบาท ขณะที่การทะยานขึ้นของตลาดหุ้นหลายแห่งในภูมิภาคได้ช่วยหนุนบรรยากาศในการซื้อขาย

สำหรับแนวโน้มในสัปดาห์หน้า (15-19 ม.ค.2549) ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การปรับตัวของตลาดหุ้นไทยคงจะเป็นไปอย่างระมัดระวังจากการที่ยังขาดปัจจัยบวกที่ชัดเจนมาช่วยหนุนการซื้อขาย โดยปัจจัยต่างๆไม่ว่าจะเป็นความคืบหน้าในการติดตามผู้กระทำความผิดในเหตุการณ์ลอบวางระเบิด สถานการณ์ทางการเมือง รวมไปถึง มาตรการป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินของธปท. และการปรับปรุง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าวจะยังคงมีผลต่อการซื้อขายในสัปดาห์หน้า ขณะที่นักลงทุนคงจะจับตามองผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธปท.ในวันพุธ ซึ่งทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าน่าจะมีการตัดสินใจให้เริ่มใช้อัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ1 วันที่ 5.0% ทางด้านบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทยคาดว่า ดัชนีจะมีแนวรับที่ 632 และ 640 จุด แนวต้านคาดว่าจะอยู่ที่ 660-665 จุด ตามลำดับ

ตลาดหุ้นสหรัฐฯและญี่ปุ่น
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนี DJIA ปิดที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อวันพฤหัสบดี โดยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 มกราคม 2550 ดัชนี DJIA ปิดที่ 12,514.98 จุด เพิ่มขึ้น 0.94% จาก12,398.01 จุดเมื่อสัปดาห์ก่อนและเพิ่มขึ้น 0.42% จากสิ้นปีก่อน ขณะที่ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 2,484.85จุด เพิ่มขึ้น 2.08% จาก 2,434.25 จุดในสัปดาห์ก่อน และ 2.88% จากสิ้นปีก่อนหน้า ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับตัวขึ้นในวันจันทร์จากการทะยานขึ้นของหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ หลังจากที่บริษัทโบรกเกอร์ได้ปรับเพิ่มอันดับความน่าลงทุนของหุ้นหลายตัวในกลุ่มดังกล่าว เช่น หุ้นไอบีเอ็ม คอร์ป ขณะที่การแสดงความเห็นของรองประธานเฟด ซึ่งระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีการขยายตัวปานกลางและมีอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงได้ช่วยคลายความวิตกกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับแนวโน้มของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ดัชนี DJIA ร่วงลงในวันอังคาร โดยได้รับแรงกดดันจากการปรับตัวลดลงของราคาหุ้นในกลุ่มพลังงาน ตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก ขณะที่การเปิดตัวโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นใหม่โดยบริษัทแอปเปิล คอมพิวเตอร์ อิงค์ ได้ช่วยหนุนให้ดัชนี NASDAQ ขยับขึ้นได้ ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับตัวขึ้นได้ในวันพุธและวันพฤหัสบดี โดยหุ้นขนาดใหญ่ในกลุ่มเทคโนโลยียังคงพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น หุ้นแอปเปิล คอมพิวเตอร์ ซึ่งทะยานสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และหุ้นไมโครซอฟท์ซึ่งปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 5 ปี อีกทั้ง การคาดการณ์เชิงบวกเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจในปีนี้ได้ช่วยหนุนหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น หุ้นยูไนเต็ด เทคโนโลยี คอร์ป และหุ้น 3M คอร์ป ส่งผลให้ดัชนี DJIA ทะยานขึ้นปิดที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เป็นครั้งแรกของปีนี้ที่ 12,514.98 จุด

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ตลาดหุ้นญี่ปุ่นแกว่งตัวผันผวนตลอดสัปดาห์ เมื่อวันศุกร์ที่ 12 มกราคม 2549 ดัชนี NIKKEI ปิดที่ 17,057.01 จุด ลดลง 0.2% จากปิดตลาดที่ 17,091.59 จุดเมื่อสัปดาห์ก่อน และลดลง 0.98% จากสิ้นปีที่ผ่านมา โดยตลาดหุ้นปิดทำการเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ก่อนที่จะทะยานขึ้นถึง 146.18 จุด สู่ 17,237.77 จุดในวันอังคาร จากการพุ่งขึ้นของหุ้นโซนี่ คอร์ปหลังจากที่บริษัทโกลด์แมน แซคส์ได้ปรับเพิ่มอันดับความน่าลงทุนและราคาเป้าหมายของหุ้นดังกล่าว ตลอดจน การคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) อาจจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายสัปดาห์หน้าได้ช่วยหนุนราคาหุ้นในกลุ่มธนาคาร อย่างไรก็ตาม ดัชนี NIKKEI ร่วงลงอย่างมากในวันพุธและวันพฤหัสบดี โดยมีแรงขายหุ้นมัตสึชิตะซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์พานาโซนิคเมื่อวันพุธที่ผ่านมา จากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการใช้จ่ายจำนวนมากของบริษัทในการก่อสร้างโรงงานผลิตจอพลาสม่า นอกจากนั้น ตลาดยังได้รับปัจจัยลบจากแรงขายทำกำไรหุ้นบางตัวก่อนการประชุมของบีโอเจในสัปดาห์หน้า และแรงขายสัญญาล่วงหน้าดัชนี NIKKEI ก่อนครบกำหนดส่งมอบในวันพรุ่งนี้ซึ่งได้ถ่วงบรรยากาศการลงทุน ส่วนในวันศุกร์นั้น ตลาดหุ้นญี่ปุ่นพุ่งขึ้นได้ถึง 218.84 จุดจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีซึ่งได้รับประโยชน์จากการอ่อนค่าของเงินเยนลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 1 ปีเมื่อเทียบกับดอลลาร์ฯ และการพุ่งขึ้นของหุ้นในกลุ่มธนาคาร หลังการรายงานตัวเลขยอดคงค้างสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์โดยเฉลี่ยในปีที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบเป็นรายปีเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี

* ผู้สนใจสามารถสมัครสมาชิกได้ที่ฝ่ายคอมพิวเตอร์ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ชั้น 9 อาคารธนาคารกสิกรไทย เลขที่ 400/22 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400 โทร. (66 2) 0-2273-1883-5 โทรสาร. (66 2) 0-2270-1218 หรือ 0-2270-1235, 0-2270-1569, 0-2271-4032 Email: info@krc.co.th http://www.kasikornresearch.com



 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com