May 12, 2024   4:28:27 AM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > ปั้นลูกให้เป็นเศรษฐีน้อย จากร้อยสู่ล้าน
 

samjin
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 352
วันที่: 14/01/2007 @ 09:24:43
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

ถือฤกษ์วันเด็กแห่งชาติในการนำเสนอเรื่องราวของการเป็นเศรษฐีน้อยมานำเสนอ ไม่ว่าปัจจุบันลูกหลานของคุณจะมีพฤติกรรมการใช้เงินอย่างไร แต่เชื่อเถอะว่าไม้อ่อนดัดง่าย ฉะนั้น วางรากฐานทางการเงินที่ดีให้เขาเสียตั้งแต่เนิ่นๆ รับรองว่าลูกหลานคุณก็เป็นเศรษฐีน้อยได้อย่างไม่ยาก

ลองมาฟังกลเม็ดเคล็ดลับของคนที่อยู่ในแวดวงการเงินหลายๆ คน ว่าพวกเขามีวิธีบอกเล่าหรือสอนลูกอย่างไรให้รู้จักใช้เงิน

@สอนลูกให้เป็นคนดีและใช้เงินเป็นฉบับ วรวรรณ

วรวรรณ ธาราภูมิ กรรมการผู้จัดการ บลจ.บัวหลวง บอกว่าลูกของเธอนั้นไม่จำเป็นต้องเก่ง แต่ขอให้มีความสุขอย่างง่ายๆ เป็นคนดี และใช้เงินให้เป็น เธอสอนลูกให้รู้จักมีความสุขอย่างง่ายๆ สมกับวัยของเขา และสอนให้รู้จักใช้ เงินให้เป็น ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะว่าวัยเด็กเป็นวัยที่มีความสุขที่สุด ไม่มีภาระรับผิดชอบที่เครียดแบบผู้ใหญ่ โลกสดใสสวยงาม ร่าเริง และมีเวลาไม่กี่ปี จริงๆ เธอจึงสนับสนุนให้ลูกเรียนรู้ และสนุกสนามตามวัย ไม่เร่งรัดให้เรียนจนเด็กเครียดและขาดความสุข

เชื่อว่าเขาสามารถเรียนรู้อะไรได้มากๆ จากนอกห้องเรียนด้วย เรื่องเรียนจึงไม่ได้เร่งรัดลูกให้ต้องเรียนเก่งมากๆ เพราะลูกมีอุปนิสัยชอบธรรมชาติ รักเพื่อน รักกีฬา มองโลกในแง่ดี การเรียนอยู่ในระดับ B+ ก็เพียงพอแล้วในช่วงนี้ ตรงนี้อาจจะต่างกับครอบครัวอื่นๆ แต่เชื่อว่าเด็กแต่ละคนมีคุณสมบัติต่างกัน แต่ละครอบครัวจึงควรดูสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้ลูกๆ

แต่ในเวลาเดียวกัน สิ่งที่วรวรรณได้สอนลูกในสิ่งที่ไม่มีในหลักสูตรการศึกษา คือ สอนให้สนุกและรู้จักคุณค่าของเงิน รู้จักใช้เงิน และบริหารเงินให้เป็น อาจเป็นเพราะเธออยู่ในวงการกองทุนมานาน จึงเผยแพร่ความสำคัญในเรื่องการออมลงทุนให้กับผู้คน จึงคิดขึ้นมาว่าเราต้องปลูกฝังนิสัยรักการออมให้ลูกตั้งแต่เด็กๆ โดยไม่ต้องรอให้โต การหัดกันแต่เล็กๆ จะทำให้เด็กมีวินัย มีความรับผิดชอบต่อการเงินของตน เขาจะภูมิใจที่เห็นมันงอกเงยได้เอง

บางครั้งเขาก็สงสัย ไม่พอใจบ้าง เช่น ในบางเดือนที่บางส่วนมันหดลงบ้าง เราก็อธิบายง่ายๆ เรื่องความเสี่ยงของการลงทุนกับผลตอบแทนคาดหวัง สอนการปรับพอร์ตการลงทุน โดยเป้าหมายของเราคือ ลูกต้องรู้จักจัดการเงินทองได้

เมื่อเข้าระยะเวลาเก็บเงินที่เริ่มมานาน เขาจะมี แต้มต่อ เหนือเด็กคนอื่น เราเริ่มสอนให้ลูกรู้จักคุณค่าของเงินตั้งแต่ 4 ขวบแล้ว โดยเริ่มจากการนับทีละเหรียญๆ ใส่กระปุก ให้นับเหรียญเป็นเลข 1 2 3 .......... เด็กๆ เขาเรียนรู้ง่าย และเร็วมากจากการสัมผัส จับต้องได้ พอกระปุกเต็ม ก็แคะกระปุกเอาออกมาให้ลูกนับ และกำกับให้เขาจดใส่สมุดบัญชีไว้ทุกครั้ง ซึ่งเด็กวัยนี้นับเลขเป็นแล้ว พอครบปีก็ให้เขานับของจริงอีกที เทียบกับยอดบัญชี บางครั้งเหรียญที่นับจริงกับตัวเลขทางบัญชีอาจไม่เท่ากัน ก็ให้เขารู้จักหาส่วนที่ขาดหรือส่วนที่เกิน ต่อไปเขาจะรอบคอบว่าอย่าเชื่อแต่ตัวเลขทางบัญชี ต้องตรวจนับของจริงมาเทียบด้วยเป็นระยะๆ ช่วงนี้เราต้องช่วยเขามากอยู่ เพราะยังเล็ก

พอลูกโตขึ้นจนเข้า ป.1 มีอายุ 7 ขวบ วรวรรณก็ให้เงินลูกเป็นรายวันไปโรงเรียน ซึ่งตอนนี้เป็นเวลาที่จะหัดให้ลูกทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายของเขาเองอย่างจริงจัง และเริ่มให้รู้จักการลงทุนนอกเหนือไปจากการฝากเงินอย่างเดียว จังหวะนี้ก็เริ่มสอนทีละน้อยๆ และเนื่องจากโรงเรียนมีอาหารกลางวันให้ จึงได้ช่องที่จะสอนเลยว่า 2-3 เดือนแรกลูกแทบไม่เหลือเงินเลย หากลูกไม่ใช้เงินหมดในวันเดียว ก็จะมีสะสมมากขึ้น เป็นเงินก้อนใหญ่ในวันสิ้นเดือน เธอจึงสร้างแรงจูงใจให้ลูกรู้ว่าออมเงินเพื่ออะไร สอนให้เขาได้เรียนรู้จากการปฏิบัติด้วยตนเอง โดยหัดให้ลูกลงบัญชีเป็นรายเดือน ใส่โปรแกรมเอ็กซ์เซลในคอมพิวเตอร์ที่แม่ทำให้ และให้ลูกลงบัญชีทุกวัน

วิธีหัดให้ลูกรู้จักทำบัญชีรายรับ รายจ่าย จะช่วยให้ลูกเรียนรู้ที่จะควบคุมค่าใช้จ่ายเทียบกับรายได้ แล้วก็เริ่มสอนให้เขาสามารถกำหนดเป้าหมายได้ว่าออมไปเพื่ออะไร โดยพาไปหาประสบการณ์จริงเท่าที่เด็กจะรับรู้ได้

ลองพาลูกไปซูเปอร์มาร์เก็ต เพื่อให้เขาได้เรียนรู้ด้วยตัวเองว่า เงิน 20 บาทในกระเป๋าของลูก วันนี้ซื้ออะไรได้บ้าง แล้วก็เปรียบเทียบว่าหาก 20 บาทนั้นกลายเป็น 200 บาท ลูกจะซื้ออะไรได้จำนวนมากขึ้น ชิ้นใหญ่ขึ้น เด็กก็จะอยากได้ของที่ใหญ่กว่า ดีกว่า เป็นธรรมดา อันนี้เป็นการฝึกให้เขารู้ว่าเราควรตั้งเป้าหมายก่อนว่าออมไปทำไม และในการออมเราก็ต้องรู้จักรอคอย

เมื่อปูพื้นโดยสอดแทรกวิธีคิดให้กับลูกได้ในระดับหนึ่งแล้ว แม่ก็เริ่มใช้รางวัลไปสร้างแรงจูงใจให้แก่ลูก ตอนนี้ลูกจะได้เงินรายวันไปโรงเรียนวันละ 150 บาท หลังจากที่เขาทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายแล้ว ตัวอย่างเช่น เมื่อเดือนพฤศจิกายน นี้ ลูกมีเงินเหลือใช้ถึง 3,620 บาท เพราะโรงเรียนมีอาหารให้ เขาเลยใช้น้อย กติกาคือเหลือเท่าไร แม่สมทบ ให้เท่านั้น อันนี้เป็นแรงจูงใจที่ดี

เมื่อได้จำนวนเงินพอสมควร ก็ต่อยอดเงินออมให้กับลูกด้วยการนำไปลงทุนให้เงินงอกเงย ด้วยการไปเปิดบัญชีกองทุน ที่สำคัญคือ เราควรสอนให้ลูกรู้จักการคิดอัตราดอกเบี้ยด้วยว่า เงินต้น 100 บาท ถ้าผลตอบแทน ในระดับต่างๆ กัน พอผ่านไป 12 ปี จะกลายเป็นเท่าไรเปรียบเทียบกัน ลูกก็จะสนใจอันที่ผลตอบแทนมาก ก็ให้เอาไปลงทุนต่อในกองทุนรวม เพราะลูกยังเล็ก และไม่มีความรู้ แล้วก็ให้ลูกศึกษากองทุนต่างๆ จากข่าวสารกองทุน เพื่อปูพื้นฐานลงทุนไปเรื่อยๆ โดยกระจายการลงทุนไปยังกองทุนหุ้น กองทุนทองคำในต่างประเทศ และกองทุนหุ้นในต่างประเทศ

ไม่ได้ให้ลูกลงทุนในตราสารหนี้ เพราะลูกยังอายุน้อย สามารถรับความเสี่ยงจากความผันผวนได้มากเพื่อหวังผลตอบแทนที่ดีกว่าในอนาคตอันยาวไกล เงินลงทุนส่วนนี้มีเป้าหมายเพื่อศึกษา โดยชี้ให้ลูกเห็นผ่านโมเดลการคำนวณ ซึ่งคิดขึ้นมาเองแบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อนอะไร เป็นโมเดลเดียวกับที่เผยแพร่ให้ลูกค้า และเจ้าหน้าที่ธนาคารที่สาขาต่างๆ เข้าใจ

หากสมมติฐานผลตอบแทนจากการลงทุนเฉลี่ยต่อปี 10% มีเงินลงทุนเดือนละ 10,000 บาท (เก็บได้เองสมมติว่า 5,000 บาท แม่สมทบเพิ่มอีกเดือนละ 5,000 บาท) 12 ปีผ่านไปจะได้เท่ากับ 2.76 ล้านบาท คิดแบบทบต้นทุกเดือน ดูไม่น้อยเลยสำหรับเด็กที่ทำได้เอง พอลูกเห็นยอดเงินก็ตาโต ต้องการเก็บเงินมากๆ เพื่อเป็นเศรษฐีเงินล้าน ก็ต้องแสดงให้ลูกดูด้วยว่า หากเราได้ผลตอบแทนเหลือ 0.75% (ฝากออมทรัพย์) ผ่านไป 12 ปี เงินที่ลงทุนทุกเดือนจะเหลือเพียง 1.57 ล้านบาท

ที่ทำอย่างนี้ เพราะต้องการให้ลูกเข้าใจถึงความต่างของการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเภท ซึ่งจะมีความเสี่ยง และผลตอบแทนที่จะได้รับต่างกัน ก็จะบอกเขาว่า ถ้าอยากได้ผลตอบแทนสูงเฉลี่ย 10% ต่อปีเพื่อได้เงินก้อนโต 2 ล้านกว่าบาท ลูกก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นนะ เพราะเป็นการลงทุนในตลาดหุ้น เรื่องแบบนี้ค่อยๆ อธิบายให้เขาเข้าใจทีละน้อย เขาจะกลายเป็นผู้มีวินัยทางการเงินสูง รู้จักประหยัดและสะสมลงทุนอย่างมีเป้าหมาย

ไม่ได้กดดันให้ลูกต้องเป็นคนเก่ง แต่จะเน้นสอนให้เขารู้จักใช้ชีวิตแบบมีความสุขตามวัย มีความรับผิดชอบตามสมควร และให้รู้จักการใช้เงินให้เป็น เพราะหากลูกโตขึ้น ต่อให้เรียนเก่ง ทำงานหาเงินเก่งอย่างไร ถ้าจัดการบริหารเงินไม่เป็น ความเก่งก็ไร้ค่า และที่ไม่ลืมเลยคือ สอนให้เขารู้จักแบ่งปัน การให้ ทำให้เรามีความสุข หากการให้นั้น ให้ไปด้วยใจที่ไม่ผูกพัน ไม่หวังผลตอบแทนอื่นนอกจากความสุขของผู้รับ

@รับมือการใช้จ่ายของลูกวัยรุ่นแบบ วิเชฐ

นั่นเป็นแง่คิด และมุมมองของคุณแม่คุณภาพคนหนึ่ง คุณพ่อคุณภาพอีกคนหนึ่งที่มีแบบฉบับการสอนลูกในเรื่องการใช้เงินที่น่าสนใจไม่แพ้กัน

วิเชฐ ตันติวานิชกรรมการผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ MAI บอกว่า ลูกสาวกำลังย่างเข้าสู่วัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่กำลังใช้เงินเลยทีเดียว สำหรับพ่อแม่ทั่วไปการบอกกล่าวลูกในวัยนี้จึงถือเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากหรือเกินความสามารถจนเกินไป โดยเขาใช้ทฤษฎี Learning by Doing เพราะอยากให้ประสบการณ์ทำหน้าที่สอนตัวเขาเอง เนื่องจากเด็กในวัยนี้ บางทีพ่อแม่พูดมากเกินไปก็แทบไม่อยากฟัง หรือไปบอกให้เขาเก็บออมเงินก็อาจจะไม่ได้ผล เพราะฉะนั้นต้องให้เขาเรียนรู้ด้วยตัวเองจากประสบการณ์ตรง

อันดับแรกวิเชฐบอกว่า ต้องให้ลูกได้รับรู้ภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดของครอบครัว อย่างเช่น ครอบครัวของเขา มอบหน้าที่จดบันทึกรายละเอียดค่าใช้จ่ายของครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ทำอย่างนี้ เพื่อให้ลูกได้รู้และสังเกตเห็นว่าครอบครัวมีภาระค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง มีค่าใช้จ่ายประเภทไหนผิดปกติไปหรือเปล่า ซึ่งการทำแบบนี้ช่วยเพิ่มทักษะให้แก่ลูกในเรื่องการทำงบบัญชีส่วนตัว

นอกจากนี้ การให้เงินเป็นก้อนเป็นรายเดือนหรือราย 3 เดือน ก็ถือว่าเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยเพิ่มทักษะเรื่องการบริหารเงินให้แก่ลูกได้ดีไม่น้อย

ลูกผมเรียนอยู่ที่ต่างประเทศ เราให้เงินเขาเป็นก้อน ให้เขาลองบริหาร ก็มีเหมือนกันที่ใช้เพลินจนเงินหมดก่อน แต่เราก็ไม่ได้ให้เพิ่ม เพราะอยากจะฝึกเขา พอเดือนต่อๆ ไปเขาก็จะรู้แล้วว่า ต้องบริหารให้พอ หรือถ้าอยากได้อะไรก็ต้องเก็บออมเพื่อที่จะมีเงินเหลือไว้ซื้อของชิ้นนั้น

วิเชฐเล่าตัวอย่างว่า เมื่อลูกอยากได้ของนอกงบประมาณ ก็ต้องพิจารณาเป็นกรณีไป แต่ทุกครั้งจะต้องมีเงินส่วนหนึ่งที่เกิดจากการเก็บออมของเขาเข้ามารวมอยู่ได้ เพราะจะไม่ควักเงินจ่ายให้ทั้งหมด

เช่นถ้าเป็นของที่ผมเห็นว่ามันไม่เหมาะเอาซะเลย ก็จะให้เขาจ่ายเองทั้งหมด แต่ถ้าเป็นของที่เราเห็นด้วย ก็อาจจะช่วยออกครึ่งหนึ่ง จะมีเงินของเขาผสมอยู่ด้วยตลอด

ล่าสุด วิเชฐกำลังมีแผนจะทำเวบไซต์ให้ลูกเป็นผู้ดูแล โดยจะเป็นเวบไซต์ที่มีวิธีการทำงบประมาณส่วนบุคคล จดบันทึกค่าใช้จ่ายในเอ็กเซลชีท เพื่อให้ลูกได้โปรโมทกับคนวัยรุ่นกลุ่มเดียวกับเขา อย่างน้อยเด็กๆ จะได้รู้ว่า เราใช้เงินไปแค่ไหน และมีส่วนไหนบ้างที่ใช้เงินแบบไม่เข้าท่า จะได้ปรับปรุง [/color:5b84f8d6d6">

 กลับขึ้นบน
samjin
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 352
#1 วันที่: 14/01/2007 @ 09:25:16 : re: ปั้นลูกให้เป็นเศรษฐีน้อย จากร้อยสู่ล้าน
@ สร้างนิสัยการออมสไตล์ สหัทยา

สหัทยา สรรค์ประสิทธิ์ ผู้จัดการกองทุน บลจ.วรรณ เป็นคุณแม่อีกคนหนึ่งที่ยึดหลักใหญ่ในการสร้างนิสัยการออมของลูกด้วยการเริ่มหัดให้เขาจัดการเงินของเขาเอง โดยให้เบี้ยเลี้ยง และบอกลูกว่าถ้าลูกใช้เงินไม่หมดเหลือกลับมาเท่าไหร่ แม่จะสมทบเพิ่มให้เท่ากับจำนวนเงินที่ลูกเหลือกลับมา

นอกจากนี้ สหัทยาจะมีกระปุกให้เขาเพื่อที่เขาจะได้หยอดเหรียญใส่ อาจมีสัก 2 กระปุก กระปุกหนึ่งคือ กระปุกที่เขาจะใส่ เงินเพื่อตัวเขาเอง และอีกกระปุกหนึ่งก็เป็นกระปุกที่เขาอยากจะหยอดเพื่อการบริจาคให้คนที่ด้อยโอกาส กว่าเขา เพื่อเป็นการสร้างนิสัยการเผื่อแผ่ให้ผู้อื่นไปด้วย ไม่ใช่นึกถึงแต่ตัวเองอย่างเดียว พอเงินเต็ม กระปุกในส่วนที่เขาจะเก็บก็ให้เขานำไปฝากธนาคารพร้อมสมทบให้เขาอีก เพื่อให้มีกำลังใจในการเก็บมากขึ้น

ข้อสำคัญ เราต้องชี้ให้เขาดูคนที่มีโอกาสน้อยกว่าเขา และต้องทำงานตั้งแต่ยังเด็ก เพื่อให้เขาเรียนรู้ว่าเวลาจะใช้เงิน ต้องใช้อย่างระมัดระวัง เพราะมีอีกหลายคนที่ไม่มีโอกาสดีเช่นเขา อาจพาเขาไปบริจาคของช่วยเด็ก กำพร้าก็ได้ จะยิ่งทำให้เขามีสำนึกของการใช้เงินมากขึ้น

สุดท้ายเลยคือ เวลาลูกรบเร้าให้ซื้อของเล่น อย่าตัดความรำคาญด้วยการบอกว่า เดี๋ยวจะซื้อให้ เพราะคำว่า ซื้อ จะฝังอยู่ในจิตสำนึกเขาตลอดเวลา และจะทำให้เขาคิดว่าเดี๋ยวเขาก็จะได้สิ่งของนั้นๆ มาง่ายๆ ถ้าจะไม่ซื้อให้ก็ต้องใจแข็งไม่ซื้อให้ และบอกให้รู้ว่าทำไม ถ้าแพงก็บอกไปเลยว่าแพง เพราะครั้งต่อไป เขาจะได้ประมาณได้ว่าของที่เขาอยากได้แพงไหม ถ้าแพง เขาจะได้ยับยั้งชั่งใจมากขึ้น เวลาอยากได้ หรือถ้าอยากได้ต้องทำงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ แล้วเราให้ค่าจ้างไป ให้เขาสะสมเงินไปซื้อเอง

@เพิ่มพล สอนลูกให้รู้คุณค่าของเงิน

เพิ่มพล ประเสริฐล้ำกรรมการผู้จัดการ บลจ.พรีมาเวสท์ เป็นคุณพ่อคนการเงินอีกคนหนึ่งที่มีแนวทางสอนลูกเรื่องการใช้เงินที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เขามีหลักการที่จะให้ลูกรู้จักคุณค่าของเงิน การใช้เงิน และการเก็บออมเงิน โดยการเรียนรู้จากชีวิตประจำวัน แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้หลักการนั้นเป็นไปตามที่เราต้องการ คือ ต้องมีการกระตุ้นให้เด็กมีความสนใจก่อน

เนื่องจากลูกผม 2 คน เรียนอยู่ในชั้นประถมต้น ซึ่งอยู่ในวัยต้องการเรียนรู้ และบังเอิญผมอาจจะโชคดีที่ทำงานในธุรกิจการเงิน เด็กๆ จึงได้เรียนรู้ และรับรู้ว่างานกองทุนรวมที่ผมทำอยู่เกี่ยวเนื่องกับเงินๆ ทองๆ ประกอบกับได้เห็นผมออกข่าวที่เกี่ยวกับกองทุนรวมตามสื่อต่างๆ ทำให้เขาสนใจ และสอบถามในสิ่งที่เขาสงสัยจากผม จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการกระตุ้นให้เขาสนใจในเรื่องเงินๆ ทองๆ

หลังจากนั้นเขาต้องสอนให้เด็กรู้จักคุณค่าของเงินว่าเป็นอย่างไร มาได้อย่างไร นำไปใช้ทำอะไรได้บ้าง โดยนำมาเชื่อมโยงกับชีวิตความเป็นจริง เช่น การให้เงินค่าขนมที่โรงเรียนในแต่ละวัน ให้เด็กตัดสินใจเองว่าควรซื้ออะไรทานที่มีประโยชน์ และไม่ควรใช้เงินที่ได้ทั้งหมด แต่ควรนำเงินที่เหลือกลับมาออมสะสมในกระปุกที่บ้าน หลังจากนั้น จะให้เด็กตัดสินใจเอง ระหว่างจะสะสมออมเงินไว้ที่บ้านเพื่อนำเงินที่เก็บไว้บางส่วนไปซื้อของที่ตนเองอยากได้ หรือจะนำเงินบางส่วนทั้งหมดไปฝากที่ธนาคาร เพื่อให้เงินนั้นเกิดผลประโยชน์งอกเงยขึ้น

จากการทำวิธีนี้ ทำให้เพิ่มพลสามารถเห็นพฤติกรรมแตกต่างระหว่างลูกทั้ง 2 คนชัดเจน โดยลูกผู้หญิงคนโตจะค่อนข้างใช้เงินอย่างมีประโยชน์ และอยากที่จะนำเงินที่ออมไปฝากธนาคารต่อเพื่อผลประโยชน์ที่มากขึ้น ในขณะที่ลูกผู้ชายคนเล็กจะใช้เงินซื้อขนมกินมาก ส่วนที่เหลือเก็บก็ไม่ชอบจะนำไปฝากธนาคาร แต่ต้องการเก็บไว้เพื่อซื้อของเล่นที่ตนเองต้องการ

อย่างไรก็ตาม หากเด็กโตขึ้น มีวุฒิภาวะมากขึ้น ได้รับรู้สภาวะแวดล้อม และสังคมที่กว้างขึ้น พฤติกรรมการใช้เงินที่ทำอยู่ของเด็กในช่วงวัย 8 และ 7 ปี คงจะต้องเปลี่ยนไป แต่คาดว่าอย่างน้อยการที่เราพยายามสร้างนิสัยความเคยชินในการรู้จักใช้เงินให้พอดี พอตัว รู้คุณค่าของเงิน และรู้จักการออมเงินเพื่อให้ได้ผลประโยชน์มากขึ้น จะเป็นการสร้างวินัย และพื้นฐานที่ดีสำหรับการบริหารเงินของพวกเขาต่อไปในอนาคตข้างหน้า

นั่นเป็นเคล็ดลับดีๆ จากพ่อแม่คุณภาพที่คลุกคลีอยู่กับเรื่องเงินๆทองๆ และดูเหมือนพวกเขาจะบ่มเพาะนิสัยดีๆ ทางการเงินให้ลูกหลานกลายเป็นเศรษฐีน้อยกันได้อย่างแน่นอน เพราะจากเงินเก็บที่เก็บเล็กผสมละน้อย จากเงินหลักร้อย เชื่อแน่ๆ ว่าจะกลายเป็นเงินล้านได้ในอนาคต [/color:091a616412">
 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com