May 14, 2024   6:08:50 PM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > จับตาสิงคโปร์ : ชาติอาเซียนลงทุนสูงสุดในไทย
 

kaisel
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 3,380
วันที่: 27/01/2007 @ 10:57:55
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

สิงคโปร์มีบทบาทสำคัญด้านการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งประเทศไทย ทั้งการลงทุนโดยตรง (FDI) และการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ในปีที่ผ่านมาบริษัทเทมาเส็ก โฮสดิ้ง หน่วยงานด้านการลงทุนที่ทางการสิงคโปร์ถือหุ้น ได้เข้ามาลงทุนถือหุ้นในโรงพยาบาล ขนาดใหญ่และบริษัทเทเลคอมของไทย รวมทั้งเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทยด้วยมูลค่าเงินลงทุนสุทธิถึง 3,446 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม ? กันยายน 2549 คิดเป็นสัดส่วน 63% ของเงินลงทุนสุทธิของต่างชาติทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์ไทยในช่วงดังกล่าว นับว่าสิงคโปร์เป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ไทยมากที่สุดในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2549

สิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจโดดเด่นกว่าประเทศอาเซียนอื่นๆ และเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่จัดอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว แม้ว่าขนาดเศรษฐกิจของสิงคโปร์ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของอาเซียน รองจากอินโดนีเซีย ไทย และมาเลเซีย ตามลำดับ สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจเปิดในระดับสูงทั้งด้านการค้าสินค้า ภาคบริการ และการลงทุน เนื่องจากข้อจำกัดภายในของสิงคโปร์ที่มีขนาดพื้นที่เล็ก ประชากรเพียงราว 4.3 ล้านคน และไม่มีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ทำให้สิงคโปร์ต้องพึ่งพาการส่งออกสินค้าและนำเข้าวัตถุดิบเพื่อผลิตสินค้าในสัดส่วนที่สูง

เศรษฐกิจสิงคโปร์ในปี 2549 ขยายตัว 7.7% คาดว่าสิงคโปร์จะเป็นประเทศในอาเซียนที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับ 2 รองจากเวียดนามที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตราว 7.8% - 8% ในปี 2549 โดยภาคการส่งออกของสิงคโปร์ซึ่งเติบโต 13% ในปี 2549 เป็นตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญ โครงสร้างเศรษฐกิจสิงคโปร์พึ่งพาการค้าระหว่างประเทศเป็นหลัก โดยการค้าระหว่างประเทศคิดเป็นสัดส่วนถึง 3 เท่า ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เนื่องจากสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางทางการค้าของภูมิภาค ทำให้การส่งออกของสิงคโปร์ รวมถึงการนำเข้าเพื่อส่งออกอีกครั้งหนึ่ง (re-export) มีมูลค่าการส่งออกสูง สิงคโปร์จึงต้องการกระจายความเสี่ยงจากเศรษฐกิจที่พึ่งพิงการส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งขณะนี้สิงคโปร์กำลังเผชิญกับการแข่งขันอย่างรุนแรงจากสินค้าส่งออกของจีนที่มีข้อได้เปรียบจากการผลิตสินค้าด้วยต้นทุนต่ำ สิงคโปร์จึงเน้นการพัฒนาภาคบริการ รวมทั้งให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ปิโตรเคมี และเทคโนโลยีชีวภาพ อีกทั้งให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา (R&D) โดยตั้งงบประมาณสำหรับ R&D ในปีที่ผ่านมา 500 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ จากเป้าหมายการใช้จ่ายด้าน R&D ใน 5 ปี (2549-2553) รวม 5,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์

เน้นพัฒนาภาคบริการ - ภาคบริการของสิงคโปร์มีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ คิดเป็นสัดส่วนถึงกว่า 60% ของ GDP ภาคบริการของสิงคโปร์ที่มีความก้าวหน้า ได้แก่ ภาคการเงิน โลจีสติกส์ และการขนส่ง ธุรกิจบริการของสิงคโปร์ขยายตัว 6.9% ในปี 2549 จากที่เติบโต 6% ในปี 2548

- บริการด้านการเงิน (financial services) ของสิงคโปร์มีความโดดเด่น และมีความสำคัญคิดเป็นสัดส่วน 11.6% ของ GDP เนื่องจากสิงคโปร์พัฒนาภาคการเงินในช่วงกว่า 30 ปีที่ผ่านมา เพื่อต้องการให้ประเทศเป็นศูนย์กลางทางการเงินระหว่างประเทศ ปัจจุบันสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศชั้นนำแห่งหนึ่งของโลก และเป็นที่ตั้งของสถาบันการเงินที่มีชื่อเสียงของโลกจำนวนกว่า 500 แห่ง เนื่องจากภาคการเงินของ

สิงคโปร์มีกฎระเบียบและการกำกับดูแลที่ดีและมีมาตรฐานสูง รวมทั้งมีเทคโนโลยีอันทันสมัย โครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และบุคลากรที่มีทักษะและคุณภาพสูง นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังเป็นศูนย์กลางการค้าขายเงินตราต่างประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากลอนดอน นิวยอร์ก และโตเกียว ตามลำดับ

- บริการด้านโลจีสติกส์และการขนส่ง ? สิงคโปร์มีความชำนาญด้านการขนส่งและโลจีสติกส์ โดยสิงคโปร์สร้างเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างประเทศทั้งทางอากาศและทางทะเล รวมทั้งโครงข่ายโทรคมนาคมที่ทันสมัย รวมทั้งมีท่าเรือนานาชาติที่เป็นแหล่งขนส่งสินค้าที่มีชื่อเสียง ประกอบด้วยเส้นทางขนส่งทางทะเลมากกว่า 600 เส้นทาง ซึ่งสามารถเชื่อมระหว่างเอเชียตะวันออกกับส่วนต่างๆ ของโลก นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังมีชื่อเสียงและมีความชำนาญด้านการต่อเรือและซ่อมเรือ

- ภาคบริการอื่นๆ ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจสิงคโปร์ ได้แก่ ธุรกิจค้าปลีก/ค้าส่ง บริการด้านวิศวกรรม และบริการด้านสิ่งแวดล้อม พลังงาน สุขภาพ การศึกษา และกฎหมาย

สนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่ๆ - ภาคอุตสาหกรรมผลิตสินค้าของสิงคโปร์มีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจสิงคโปร์ คิดเป็นสัดส่วน 25% ของ GDP ภาคอุตสาหกรรมของสิงคโปร์เติบโต 11.4% ในปี 2549 จากที่ขยายตัว 9.3% ในปี 2548 สิงคโปร์พยายามพัฒนาภาคอุตสาหกรรมโดยสร้างมูลค่าเพิ่มของห่วงโซ่อุปทานให้ครบวงจร ตั้งแต่การคิดค้น วิจัย ผลิต การตลาด และการจัดการด้านห่วงโซ่อุปทาน โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย และระบบการเงินที่มีประสิทธิภาพ อุตสาหกรรมใหม่ๆ ทิ่สิงคโปร์ให้ความสำคัญในช่วงที่ผ่านมาเติบโตได้ดีในปี 2549 ที่สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมชีวการแพทย์ (biomedical manufacturing) ที่เติบโตด้วยตัวเลข 2 หลัก เช่นเดียวกับกลุ่มวิศวกรรมการขนส่ง (transport engineering cluster) ที่ขยายตัวด้วยตัวเลข 2 หลักเช่นกัน ทั้งนี้ สิงคโปร์ตั้งเป้าหมายให้การผลิตในอุตสาหกรรมชีวการแพทย์มีมูลค่า 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2558 จากมูลค่า 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2547 และก่อให้เกิดการจ้างงานในอุตสาหกรรมชีวการแพทย์ 15,000 ตำแหน่งในปี 2558 จาก 10,000 ตำแหน่งในปี 2547

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย-สิงคโปร์
ไทยและสิงคโปร์มีความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวมาอย่างยาวนาน เนื่องจากอยู่ในภูมิภาคเดียวกัน และต่างเป็นสมาชิกกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจของประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ตั้งแต่ปี 2510 และผู้นำอาเซียนประกาศเร่งรัดการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) เร็วขึ้น 5 ปี เป็นปี 2558 ทำให้ไทยและสิงคโปร์ รวมทั้งประเทศอาเซียนอื่นๆ ต้องเปิดเสรีการค้าสินค้า บริการ การลงทุน และการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างสมบูรณ์ในอีก 8 ปีข้างหน้า (2558) รวมทั้งการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่เสรีมากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยและสิงคโปร์ รวมทั้งประเทศอาเซียนอื่นๆ มีความเชื่อมโยงและรวมตัวกันมากขึ้น

การลงทุนไทย-สิงคโปร์
ทางการสิงคโปร์มีนโยบายดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ โดยเตรียมปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงอย่างน้อย 1% เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้าประเทศ จากปัจจุบันที่จัดเก็บในอัตรา 20% เพื่อสร้างบรรยากาศด้านการลงทุนแข่งขันกับฮ่องกงที่ปัจจุบันเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลที่อัตรา 17.5% ถือว่าฮ่องกงเป็นประเทศที่จัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลระดับต่ำสุดในภูมิภาคเอเชีย ขณะเดียวกันสิงคโปร์ยังนับว่าเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญด้านการลงทุนในต่างประเทศโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย สิงคโปร์มีนโยบายออกไปลงทุนในต่างประเทศทั้งรูปแบบการลงทุนโดยตรง (FDI) และการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทเท็กมาเส็ก โฮลดิ้ง (Temasek Holdings) หน่วยงานด้านการลงทุน ซึ่งมีทางการสิงคโปร์ถือหุ้น ได้เข้าลงทุนซื้อหุ้นของบริษัทต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจหลากหลายสาขา ได้แก่ บริการทางการเงิน เทเลคอมและมีเดีย การขนส่งและโลจีสติกส์ โครงสร้างพื้นฐาน/วิศวกรรม และเทคโนโลยี พลังงานและแร่ธาตุ และอสังหาริมทรัพย์ ในประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน รัสเซีย เกาหลีใต้ อินเดีย ปากีสถาน มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย ปัจจุบันเทมาเส็กมีมูลค่าสินทรัพย์ทั่วโลก ณ เดือนมีนาคม 2549 ราว 129,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (80 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เทียบกับมูลค่าราว 350 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เมื่อเริ่มก่อตั้งเท็กมาเส็กในปี 2517 สำหรับปี 2549 บริษัทเทมาเส็กได้เข้ามาลงทุนถือหุ้นของบริษัทในเอเชียหลายประเทศในสาขาต่างๆ ได้แก่ ธนาคารของจีน บริษัทโลจีสติกส์ของญี่ปุ่น บริษัทให้บริการทางการเงินของไต้หวัน และบริษัทมือถือของญี่ปุ่น รวมทั้งโรงพยาบาลและบริษัทเทเลคอมของไทย

สิงคโปร์เป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนโดยตรงในไทยเป็นอันดับ 3 รองจากญี่ปุ่น และสหรัฐฯ และถือเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยมากเป็นอันดับ 1 ในบรรดาประเทศอาเซียน ในปีที่ผ่านมา สิงคโปร์ยื่นขออนุมัติโครงการลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น ทั้งจำนวนโครงการลงทุนและมูลค่าโครงการ จาก 82 โครงการ และมูลค่า 14,129 ล้านบาทในปี 2548 เป็น 86 โครงการ และมูลค่าเพิ่มขึ้น 100% เป็น 28,921 ล้านบาท ในปี 2549 [/color:983926d45d">[/size:983926d45d">


.00020

 กลับขึ้นบน
kaisel
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 3,380
#1 วันที่: 27/01/2007 @ 11:00:06 : re: จับตาสิงคโปร์ : ชาติอาเซียนลงทุนสูงสุดในไทย
ประเภทโครงการที่สิงคโปร์ยื่นขออนุมัติลงทุนมีมูลค่าสูงสุดในปี 2549 ได้แก่ เครื่องไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่าโครงการ 14,549 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 226% จากมูลค่า 4,453 ล้านบาทในปี 2548 คิดเป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่งของมูลค่าโครงการลงทุนที่ยื่นขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนทั้งหมดของสิงคโปร์ในปี 2549 รองลงมา ได้แก่ การลงทุนในธุรกิจบริการ มูลค่าโครงการ 7,741.5 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนราว 26% ของโครงการลงทุนที่ยื่นขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนทั้งหมดของสิงคโปร์ในปี 2549 โครงการเหล็กและเครื่องจักรกลมูลค่า 4,680 ล้านบาท (สัดส่วน 16%) และโครงการเคมีภัณฑ์และกระดาษมูลค่า 1,660 ล้านบาท (สัดส่วน 5.7%)

ส่วนเงินลงทุนสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ (Net flow of Portfolio Investment) ของนักลงทุนจากต่างชาติในไทย พบว่าเงินลงทุนสุทธิของสิงคโปร์ในตลาดหลักทรัพย์ไทยเริ่มฟื้นตัวในปี 2548 หลังจากหดตัวลงหลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 สำหรับปี 2549 สิงคโปร์เป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ของไทยมากที่สุด เงินลงทุนสุทธิของนักลงทุนสิงคโปร์ในตลาดหลักทรัพย์ของไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 (มกราคม-กันยายน) มีมูลค่าราว 3,446 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 63% ของเงินลงทุนสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ไทยของนักลงทุนจากต่างชาติทั้งหมดในปี 2549 ส่วนนักลงทุนต่างชาติอื่นๆ ที่เข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ของไทยมากลำดับรองลงมา ได้แก่ ฮ่องกง มูลค่าเงินลงทุนสุทธิ 807 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อังกฤษ (มูลค่า 306 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) และสหรัฐฯ (มูลค่า 277 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)

การค้าไทย-สิงคโปร์
สิงคโปร์เป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 4 ของไทย รองจาก ญี่ปุ่น จีน และสหรัฐอเมริกา และเป็นประเทศที่ไทยนำเข้ามากเป็นอันดับ 6 รองจากญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ากับสิงคโปร์มาโดยตลอด มูลค่าการค้าไทย-สิงคโปร์ (ส่งออก+นำเข้า) เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากมูลค่าราว 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2541 เป็น 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2549 คิดเป็นสัดส่วนราว 5.4% ของการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของไทย ในขณะที่ไทยเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 9 ของสิงคโปร์ และหากพิจารณาเฉพาะประเทศในอาเซียน ไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของสิงคโปร์ รองจากมาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยไทยเป็นตลาดส่งออกอันดับ 8 ของสิงคโปร์ และเป็นประเทศที่สิงคโปร์นำเข้ามากเป็นอันดับที่ 10 มูลค่าการค้า (ส่งออก+นำเข้า) ของไทยกับสิงคโปร์ คิดเป็นสัดส่วนราว 4% ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของสิงคโปร์

การส่งออกของไทยไปสิงคโปร์ขยายตัวราว 5.7% ในปี 2549 จากมูลค่าส่งออก 7,691 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2548 เป็น 8,359 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ไทยนำเข้าจากสิงคโปร์ชะลอตัวลงในปี 2549 โดยขยายตัวราว 4.9% มูลค่า 5,647 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบการนำเข้าของไทยจากสิงคโปร์ในปี 2548 ที่ขยายตัวเกือบ 30% ด้วยมูลค่านำเข้า 5,379 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การนำเข้าของไทยจากสิงคโปร์ที่ชะลอตัวลงในปีที่ผ่านมา เนื่องจากไทยนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากสิงคโปร์ลดลง 38% จากปี 2548 ที่นำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเกือบ 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงเหลือ 365 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบของไทยจากสิงคโปร์ชะลอตัวลง โดยขยายตัว 48% ในปี 2549 จากที่เพิ่มขึ้นถึง 100% ในปี 2548 ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้ากับสิงคโปร์มูลค่า 2,711 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2549 เพิ่มขึ้น 17.3% จากมูลค่าเกินดุลการค้า 2,311 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2548

สินค้าส่งออกส่วนใหญ่ของไทยไปสิงคโปร์เป็นสินค้าอุตสาหกรรม คิดเป็นสัดส่วน 68% ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปสิงคโปร์ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของไทยไปสิงคโปร์ โดยขยายตัว 2.7% ในปี 2549 สินค้าอุตสาหกรรมส่งออกอื่นๆ ของไทยไปสิงคโปร์ ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า ส่วนประกอบอากาศยานและอุปกรณ์การบิน รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์ รองลงมาเป็นแร่และเชื้อเพลิงต่างๆ (สัดส่วน 24%) ที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป ที่ไทยส่งออกไปสิงคโปร์ขยายตัว 39% ในปี 2549 ถือเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 2 ของไทยไปสิงคโปร์ รองจากเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไทยส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปไปสิงคโปร์ คิดเป็นสัดส่วน 45% ของการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปทั้งหมดของไทยในปี 2549 และสิงคโปร์เป็นตลาดส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปอันดับ 1 ของไทย

สินค้านำเข้าของไทยจากสิงคโปร์ครึ่งหนึ่งเป็นสินค้ากึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก รองลงมาเป็นสินค้าทุน คิดเป็นสัดส่วนราว 35% ของการนำเข้าทั้งหมดของไทยจากสิงคโปร์ ที่สำคัญ ได้แก่ สินค้าประเภทเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ที่สำคัญ คือ เทปแม่เหล็ก จานแม่เหล็กสำหรับคอมพิวเตอร์ ซึ่งสิงคโปร์เป็นประเทศที่ไทยนำเข้าสินค้านี้มากที่สุด สินค้าทุนอื่นๆ ที่ไทยนำเข้าจากสิงคโปร์ ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบ เป็นต้น

การท่องเที่ยวไทย-สิงคโปร์
สิงคโปร์เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่คนไทยนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวเป็นอันดับ 3 รองจากมาเลเซีย และจีน ตามลำดับ และเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน รองจากมาเลเซีย นักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปสิงคโปร์ ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2549 มีจำนวนราว 100,870 คน ลดลง 7% เมื่อเทียบกับจำนวน 108,880 คน ในช่วงเดียวกันปี 2548 เนื่องจากนักท่องเที่ยวไทยบางกลุ่มสนใจเดินทางไปท่องเที่ยวประเทศอื่นๆ ในเอเชียเพิ่มขึ้น อาทิ จีน (เพิ่มขึ้น 10.2% ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2549) และญี่ปุ่น (เพิ่มขึ้น 25.6%) ซึ่งมีสถานที่ท่องเที่ยวที่หลากหลาย

ขณะเดียวกัน ชาวสิงคโปร์เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมากเป็นอันดับ 4 รองจากมาเลเซีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ตามลำดับ และเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน รองจากมาเลเซีย ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2549 จำนวนนักท่องเที่ยวชาวสิงคโปร์ในไทยเพิ่มขึ้น 5.5% จาก 223,800 คน ในช่วงเดียวกันปี 2548 เป็น 236,030 คน จากทั้งปี 2548 นักท่องเที่ยวสิงคโปร์ทั้งหมดที่เดินทางมาไทยเกือบ 800,000 คน คาดว่าทั้งปี 2549 นักท่องเที่ยวสิงคโปร์ในไทยจะมีจำนวนกว่า 856,000 คน เพิ่มขึ้น ราว 7% จากปี 2548 เนื่องจากเศรษฐกิจสิงคโปร์ในปี 2549 ที่ขยายตัวต่อเนื่องราว 7.7% ทำให้คนสิงคโปร์มีกำลังซื้อและเพิ่มความต้องการเดินทางพักผ่อนในต่างประเทศ โดยเฉพาะช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีซึ่งเป็นฤดูการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ไทยอยู่ใกล้กับสิงคโปร์จึงใช้เวลาเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยไม่นาน และค่าใช้จ่ายในเมืองไทยราคาถูกเมื่อเทียบกับราคาสินค้าและค่าครองชีพในสิงคโปร์ นอกจากนี้ การเดินทางของคนสิงคโปร์เข้ามาร่วมงานประชุม/นิทรรศการ ในไทยเพิ่มขึ้นเช่นกัน จากรายงานของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยพบว่า คนสิงคโปร์เดินทางเข้ามาร่วมงานประชุม/นิทรรศการในไทยจำนวน 22,815 คน ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2549 ขยายตัวถึง 100% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2548 อย่างไรก็ตาม คาดว่าเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างไทยกับสิงคโปร์ในขณะนี้ ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการเดินทางมาเที่ยวไทยของนักท่องเที่ยวสิงคโปร์มากนัก เนื่องจากคาดว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงช่วงสั้นๆ เท่านั้น

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เห็นว่า ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับสิงคโปร์มีความเชื่อมโยงที่ใกล้ชิดทั้งด้านการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว จากมาตรการของกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกลุ่มอาเซียนในปี 2510 รวมทั้งการดำเนินการเปิดเสรีทางการค้า ภาคบริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายแรงงานและเงินทุนของกลุ่มอาเซียนที่ตั้งเป้าหมายให้บรรลุผลสำเร็จเพื่อจัดตั้งเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ในปี 2558 คาดว่าจะ ส่งผลให้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกลุ่มอาเซียนรวมทั้งไทยและสิงคโปร์มีความแน่นแฟ้นมากขึ้นเป็นลำดับ

นอกจากนี้ ความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทยและสิงคโปร์ภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจสิงคโปร์-ไทย (Singapore-Thailand Enhanced Economic Relationship : STEER) ซึ่งมีนักธุรกิจจากสิงคโปร์จาก 40 บริษัทชั้นนำในสิงคโปร์และนักธุรกิจไทยจาก 180 บริษัท ใน 7 สาขา ได้แก่ เทคโนโลยีสารสนเทศ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ก่อสร้าง ขนส่งและโลจิสติกส์ อสังหาริมทรัพย์ และการเงิน เข้าร่วมเจรจาธุรกิจเพื่อหาพันธมิตรร่วมทุนก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกัน คาดว่าการสานต่อการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจของ STEER จะเกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมและเกิดประโยชน์ต่อทั้งไทยและสิงคโปร์ต่อไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเชื่อว่าเหตุการณ์ตอบโต้ทางการทูตของไทยต่อสิงคโปร์จะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับสิงคโปร์ในช่วงนี้ แต่หากเหตุการณ์ดังกล่าวคลี่คลายลงด้วยดีและกลับไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีโดยเร็ว จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักธุรกิจของสองประเทศ และเสริมสร้างบรรยากาศที่ดีต่อการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับทั้งไทยและสิงคโปร์ รวมทั้งสร้างความแข็งแกร่งและความเป็นปึกแผ่นให้กับภูมิภาคอาเซียนด้วย[/color:d7386e88f5">[/size:d7386e88f5">


Have a nice weekend krub....

.00020
 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com