May 20, 2024   5:13:27 AM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์: ?บาทอ่อนลงเล็กน้อยปลายสัป
 

kaisel
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 3,380
วันที่: 03/02/2007 @ 09:19:38
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

ตลาดเงิน
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยตลาดเงินยังคงทรงตัว โดยธนาคารพาณิชย์มีการปิดสำรองสภาพคล่องรายปักษ์ในวันอังคารและเริ่มเข้าสู่ปักษ์ใหม่ในวันพุธ ขณะเดียวกันก็มีการเตรียมสภาพคล่องเพื่อรองรับการเบิกถอนเงินสดของลูกค้าในช่วงสิ้นเดือน ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์ประเภทข้ามคืน (Overnight) มีระดับหนาแน่นตลอดสัปดาห์ที่ 4.78% เช่นเดียวกัน อัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1, 7 และ 14 วัน ปิดทรงตัวที่ 4.75%, 4.78125% และในช่วง 4.78125-4.8125% ตามลำดับ ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯมีมติคงอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ไว้ที่ 5.25% ในการประชุมวันที่ 30-31 มกราคม ตามที่ตลาดคาด

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย ประเภทอายุ 5 ปี (TH5YY) ปิดที่ระดับ 4.59% ในวันศุกร์ ขยับลงจาก 4.63% เมื่อวันศุกร์ก่อนหน้า อัตราผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรไทยปรับตัวลง โดยเฉพาะประเภทระยะยาว โดยมีแรงหนุนจากความต้องการลงทุนที่ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง แนวโน้มการลดลงของอัตราดอกเบี้ยในประเทศ การขยับลงของอัตราผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ และรายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในเดือนมกราคมที่ลดลงต่ำกว่าคาด ด้านตลาดพันธบัตรสหรัฐฯนั้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ประเภทอายุ 10 ปี (US10YY) ปิดที่ระดับ 4.84% ในวันพฤหัสบดี ลดลงจาก 4.88% เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ในวันจันทร์ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯปรับขึ้นจากวันศุกร์ก่อนหน้า ขณะที่นักลงทุนระมัดระวังการซื้อขาย ก่อนหน้าการประชุมนโยบายอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯในวันอังคารและพุธ และการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญในช่วงปลายสัปดาห์ แต่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรได้ขยับลงเล็กน้อยในวันอังคาร จากแรงหนุนทางด้านเทคนิค โดยนักลงทุนไม่ได้ให้น้ำหนักกับรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของ Conference Board เดือนมกราคมที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับลงแรงในวันพุธ ภายหลังธนาคารกลางสหรัฐฯมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม พร้อมทั้งมีมุมมองในเชิงบวกต่อความเสี่ยงทางด้านเงินเฟ้อ โดยแม้ว่าอัตราการเติบโตของจีดีพีไตรมาส 4/2549 จะสูงกว่าคาด แต่การลดลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรมีแรงหนุนมาจากการลดลงของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่วัดจากดัชนีราคาการใช้จ่ายผู้บริโภคไตรมาส 4/2549 และผลสำรวจกิจกรรมการผลิตเขตนิวยอร์กที่บ่งชี้ถึงภาวะถดถอยเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ปี อย่างไรก็ตาม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับขึ้นอีกครั้งในวันพฤหัสบดี โดยถึงแม้ดัชนีภาคการผลิตของสถาบันจัดการด้านอุปทาน (ISM) เดือนมกราคมจะลดลงอย่างไม่คาดคิด และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่วัดจากดัชนีราคาการใช้จ่ายผู้บริโภคเดือนธันวาคมจะไม่เร่งสูงขึ้นมาก แต่ตลาดพันธบัตรก็ได้รับผลกระทบจากรายงานยอดจองซื้อบ้านเดือนธันวาคมที่เพิ่มขึ้นแข็งแกร่ง ซึ่งบ่งชี้ถึงสัญญาณการปรับตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯที่ยังคงมีเสถียรภาพ

ค่าเงินบาทในตลาดในประเทศ (Onshore) อ่อนลงเล็กน้อยในช่วงปลายสัปดาห์ โดยในช่วงต้นและกลางสัปดาห์ เงินบาทแกว่งตัวในกรอบแคบๆ เนื่องจากขาดปัจจัยใหม่ๆ มาช่วยกระตุ้นการซื้อขาย ในขณะที่ การประกาศผ่อนปรนมาตรการกันสำรองของธปท.เพิ่มเติมในวันจันทร์ และการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจรายเดือนจากธปท.ในวันพุธ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในประเทศมากนัก อย่างไรก็ตาม เงินบาทมีทิศทางที่อ่อนค่าลงเล็กน้อยในช่วงปลายสัปดาห์ โดยถึงแม้ว่าจะมีแรงขายดอลลาร์ฯ จากผู้ส่งออกเพื่อปิดความเสี่ยงในช่วงก่อนวันหยุด แต่เงินบาทก็ได้รับผลกระทบจากความต้องการซื้อเงินดอลลาร์ฯ จากผู้นำเข้าน้ำมัน และการที่นักค้าเงินมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการแทรกแซงค่าเงินของธปท. โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ตลาดคาดว่าธปท.ได้เข้าแทรกแซงค่าเงินบาทในตลาดสิงคโปร์ จนส่งผลให้ค่าเงินบาทในตลาดต่างประเทศ (Offshore) อ่อนค่าลง สำหรับในวันศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 35.87 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 35.82 บาทต่อดอลลาร์ฯ เมื่อสิ้นสัปดาห์ก่อนหน้า

ในสัปดาห์นี้ (5-9 กุมภาพันธ์ 2550) ภาวะตลาดเงินโดยรวมคงจะไม่เปลี่ยนแปลงมาก โดยคงจะมีการทยอยไหลกลับของสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินหลังสิ้นเดือน ทั้งนี้ คาดว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นน่าจะยังทรงตัวใกล้เคียงกรอบการเคลื่อนไหวเดิม

ด้านค่าเงินบาท คาดว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบประมาณ 35.70-36.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยการแข็งค่าของเงินบาทอาจเผชิญข้อจำกัดจากความกังวลเกี่ยวกับการแทรกแซงของธปท. ขณะที่ ในระหว่างที่ตลาดในประเทศขาดปัจจัยใหม่ๆ นั้น ตลาดคงจะให้ความสนใจกับข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะตัวเลขการจ้างงาน (เปิดเผยในวันศุกร์ก่อนหน้า) และดัชนีภาคบริการเดือนมกราคม ตลอดจนการประชุม G7 ในช่วงปลายสัปดาห์หน้า

การเคลื่อนไหวของเงินเยนและเงินยูโร
เงินเยนเคลื่อนไหวค่อนข้างผันผวนในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยในช่วงต้นสัปดาห์ เงินเยนสัมผัสระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 4 ปีเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ หลังเผชิญแรงกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจญี่ปุ่นในระยะนี้ที่ไม่สดใส อาทิ ดัชนีราคาผู้บริโภค (เปิดเผยปลายสัปดาห์ก่อนหน้า) เดือนธันวาคม ยอดค้าปลีกและรายจ่ายภาคครัวเรือนในเดือนเดียวกันที่อ่อนแอ อันทำให้ตลาดคาดการณ์มากขึ้นว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นอาจไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายการเงินในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึง ส่งผลให้ผลตอบแทนของเงินเยนยังจะคงอยู่ต่ำกว่าเงินสกุลอื่นๆ ต่อไป อย่างไรก็ตาม เงินเยนฟื้นตัวขึ้นชัดเจนในช่วงกลางสัปดาห์ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของยุโรปและธนาคารกลางยุโรปหลายท่าน แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับการอ่อนค่าของเงินเยนเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ พร้อมส่งสัญญาณว่าอาจนำประเด็นดังกล่าวมาหารือในการประชุมกลุ่มจี-7 ที่เยอรมนีในสัปดาห์หน้า ซึ่งสอดคล้องกับการแสดงความเห็นของนายเฮนรี พอลสัน รมว.คลังสหรัฐฯ ที่ระบุว่ากำลังจับตาค่าเงินเยนอย่างระมัดระวังมาก นอกจากนี้ ถ้อยแถลงภายหลังการประชุมนโยบายการเงินของเฟด ซึ่งระบุว่าแรงกดดันเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะเบาบางลงนั้น ยังร่วมถ่วงเงินดอลลาร์ฯ ด้วย สำหรับในวันศุกร์ เงินเยนอ่อนค่าลงเล็กน้อย ในระหว่างที่ตลาดรอดูข้อมูลการจ้างงานจากตลาดสหรัฐฯ ที่กำลังจะเปิดเผยในช่วงคืนวันศุกร์ (ตามเวลาในประเทศไทย) ทั้งนี้ ในวันศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ เงินเยนมีค่าเฉลี่ยที่ 120.83 เยน/ดอลลาร์ฯ เทียบกับ 121.47 เยนต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ก่อนหน้า

เงินยูโรเคลื่อนไหวผันผวนในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยในวันจันทร์ เงินยูโรอ่อนค่าลงเล็กน้อย ก่อนที่จะแข็งค่าขึ้นในวันอังคาร ตามการปรับสมดุลฐานะเงินตราของนักลงทุนต่างประเทศ สำหรับในวันพุธ เงินยูโรอ่อนแรงลงอีกครั้ง เมื่อเงินดอลลาร์ฯ ได้รับแรงหนุนบางส่วนจากการเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ โดย Conference Board ที่เพิ่มขึ้นสู่จุดสูงสุดในรอบเกือบ 5 ปีในเดือนมกราคม ซึ่งหนุนการคาดการณ์ว่าเฟดอาจยังคงไม่จำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ส่วนในช่วงปลายสัปดาห์ เงินยูโรแข็งค่าขึ้นชัดเจน หลังจากที่เฟดประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามการคาดการณ์ของตลาด ขณะเดียวกัน แม้เฟดจะยังคงเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ แต่ก็ระบุว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลง นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจหลายตัวที่อ่อนแอเกินคาด อาทิ ดัชนีภาคการผลิตของสถาบันจัดการด้านอุปทาน (ISM) เดือนมกราคม ทั้งนี้ ปัจจัยต่างๆ ดังกล่าว กดดันเงินดอลลาร์ฯ และช่วยบดบังผลกระทบจากรายงานผลสำรวจกิจกรรมภาคโรงงานของยูโรโซนที่ชะลอตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 11 เดือน ต่อเงินยูโร สำหรับในวันศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ เงินยูโรมีค่าเฉลี่ยที่ 1.3017 ดอลลาร์ฯ เทียบกับ 1.2926 ดอลลาร์ฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ก่อนหน้า โดยนักลงทุนกำลังรอคอยรายงานการจ้างงานเดือนมกราคมของสหรัฐ

ภาวะตลาดทุน
ตลาดหุ้นไทย
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทยปิดที่ 670.60 จุด เพิ่มขึ้น 1.97% จากระดับปิดที่ 657.65 จุดในสัปดาห์ก่อน แต่ลดลง 1.36% จากสิ้นปีก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสัปดาห์เพิ่มขึ้น 13.08% จาก 54,042.19 ล้านบาทในสัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ 61,108.31 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่เพิ่มจาก 10,808.44 ล้านบาทในสัปดาห์ก่อน มาอยู่ที่ 12,221.66 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 188.49 จุด ขยับขึ้น 1.43% จาก 185.83 จุดในสัปดาห์ก่อน แต่ลดลง 2.55% จากสิ้นปีก่อน

ดัชนีตลาดหุ้นไทยทะยานขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิเป็นสัปดาห์ที่สี่ติดต่อกันที่ 4.19 พันล้านบาท ขณะที่นักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบันเป็นกลุ่มที่ขายสุทธิจำนวน 3.63 พันล้านบาท และ 560 ล้านบาท ตามลำดับ ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยดัชนีแกว่งตัวลงตลอดวันเมื่อวันจันทร์ จากแรงขายหุ้นขนาดใหญ่ทั้งในกลุ่มพลังงาน ธนาคารและอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากยังคงขาดปัจจัยบวกใหม่ๆ มาช่วยกระตุ้นการซื้อขาย ขณะที่การผ่อนปรนการกันสำรองเงินนำเข้าระยะสั้น โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ส่วนในวันอังคารนั้น ตลาดหุ้นได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงของราคาหุ้นในกลุ่มพลังงาน ตามทิศทางของราคาน้ำมันในตลาดโลก แต่แรงซื้อหุ้นในกลุ่มธนาคารและอสังหาริมทรัพย์ได้ช่วยจำกัดการปรับตัวลดลงของดัชนี ทั้งนี้ ดัชนีปิดตลาดบวกขึ้นได้ 3 วันติดต่อกัน โดยในวันพุธนั้น ตลาดหุ้นปิดตลาดขยับขึ้นเล็กน้อย โดยดัชนีแกว่งตัวในกรอบแคบตลอดวันท่ามกลางการซื้อขายที่เบาบางด้วยมูลค่าการซื้อขายที่ 8,282.86 ล้านบาท ขณะที่ในวันพฤหัสบดีนั้น ดัชนีปรับตัวในแดนบวกตลอดวัน ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นของตลาดหุ้นอื่นๆ ในภูมิภาค อีกทั้ง การรายงานตัวเลขอัตราเงินเฟ้อซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าคาดการณ์ไว้ ได้สนับสนุนแนวโน้มการปรับลดของอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ ซึ่งช่วยกระตุ้นให้เกิดแรงซื้อหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และธนาคาร ส่วนในวันศุกร์นั้น ดัชนีพุ่งขึ้นอย่างมากนับจากเปิดตลาดในช่วงเช้า โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของตลาดในต่างประเทศ และการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นขนาดใหญ่ทั้งในกลุ่มพลังงาน ธนาคาร อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง โดยบวกขึ้นถึง 13.6 จุด ไปปิดที่ 670.60 จุดอันเป็นระดับสูงสุดนับจากสิ้นปีที่ผ่านมา

สำหรับแนวโน้มในสัปดาห์หน้า (5 - 9 กุมภาพันธ์ 2550) ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การปรับตัวของดัชนีอาจจะได้รับปัจจัยบวกจากบรรยากาศการลงทุนที่เริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น จากการผ่อนปรนมาตรการกันสำรองของธปท. และแรงกดดันเงินเฟ้อที่ลดลง อย่างไรก็ตาม คาดว่าอาจมีแรงขายทำกำไรเป็นระยะๆ จากความกังวลที่ยังคงมีอยู่เกี่ยวกับหลายปัจจัยภายในประเทศ ทั้งนี้ ปัจจัยต่างประเทศที่จะกระทบต่อการปรับตัวของดัชนี ได้แก่ การปรับตัวของตลาดหุ้นในต่างประเทศและราคาน้ำมันในตลาดโลก ส่วนปัจจัยในประเทศ ได้แก่ การรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน และความชัดเจนเกี่ยวกับปัจจัยที่กดดันการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ คาดว่าดัชนีจะมีแนวรับที่ 660 จุด แนวต้านคาดว่าจะอยู่ที่ 678 และ 690 จุด ตามลำดับ

ตลาดหุ้นสหรัฐฯและญี่ปุ่น
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนี DJIA ทำสถิติปิดที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ 2550 ดัชนี DJIA ปิดที่ 12,673.68 จุด เพิ่มขึ้น 1.49% จาก12,487.02 จุดเมื่อสัปดาห์ก่อนและเพิ่มขึ้น 1.69% จากสิ้นปีก่อน ขณะที่ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 2,468.38 จุด เพิ่มขึ้น 1.35% จาก 2,435.49 จุดในสัปดาห์ก่อนและ 2.2% จากสิ้นปีก่อนหน้า ตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับตัวในแดนบวกตลอดสัปดาห์ โดยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ดัชนีได้รับแรงหนุนจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี เช่น หุ้นอินเทล คอร์ป และหุ้นไอบีเอ็ม จากมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับเทคโนโลยีไมโครชิพรุ่นใหม่ ขณะที่ในวันอังคารนั้น ตลาดหุ้นได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลกซึ่งช่วยหนุนราคาหุ้นในกลุ่มพลังงานขนาดใหญ่ ตลอดจน การพุ่งขึ้นของราคาหุ้นโมโตโรลา อิงค์ หลังการเปิดเผยกรรมการบริหารคนใหม่ และการรายงานตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board ที่เพิ่มขึ้นในเดือนมกราคม ท่ามกลางการซื้อขายที่เป็นไปอย่างเบาบางก่อนการลงมติเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในวันพุธ โดยในวันพุธที่ผ่านมา ดัชนี DJIA ทะยานขึ้น หลังจากที่เฟดประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับเดิม และในแถลงการณ์หลังการประชุมยังไม่ได้แสดงถึงความกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งได้ช่วยหนุนราคาหุ้นกลุ่มที่อ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย เช่น กลุ่มธนาคารและกลุ่มก่อสร้างบ้าน อีกทั้ง การรายงานตัวเลข จีดีพีไตรมาส 4/2549 ซึ่งขยายตัวมากขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ ได้ช่วยหนุนบรรยากาศการลงทุน ทั้งนี้ ดัชนี DJIA พุ่งขึ้นปิดที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ที่ 12,673.68 จุดในวันพฤหัสบดี หลังการรายงานผลกำไรที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ เช่น บริษัท เอ็กซอน โมบิล คอร์ป บริษัทโมบิล คอร์ป และบริษัท โบอิ้ง คอร์ป และการรายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานซึ่งยังคงอยู่ในระดับต่ำในเดือนธันวาคม

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 6 ปี เมื่อวันศุกร์ที่ 26 มกราคม 2550 ดัชนี NIKKEI ปิดที่ 17,547.11 จุด เพิ่มขึ้น 0.72% จากปิดตลาดที่ 17,421.93 จุด เมื่อสัปดาห์ก่อน และ1.87% จากสิ้นปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อวันจันทร์และวันอังคารที่ผ่านมา โดยในวันจันทร์ ดัชนี NIKKEI ได้รับปัจจัยหนุนจากข่าวในเชิงบวกของบริษัทจดทะเบียนหลายแห่ง เช่น ข่าวเกี่ยวกับการร่วมมือทางธุรกิจระหว่างบริษัทในกลุ่มเหล็กกล้า การปรับเพิ่มอันดับความน่าลงทุนของบริษัทซอฟท์แบงก์ และการคาดการณ์เกี่ยวกับความต้องการยารักษาไข้หวัดนกที่เพิ่มขึ้น ซึ่งช่วยหนุนราคาหุ้นบริษัท ชูไก ส่วนในวันอังคารนั้น หุ้นในกลุ่มส่งออกปรับตัวขึ้นจากความหวังเกี่ยวกับผลกำไรที่ดีขึ้น หลังจากเงินเยนอ่อนค่าลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปีเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ อย่างไรก็ตาม ดัชนีร่วงลงอย่างมากในวันพุธถึง 106.77 จุดไปปิดที่ 17,383.42 จุด หลังการเปิดเผยการคาดการณ์ผลกำไรที่ต่ำกว่าตลาดได้คาดไว้ของบริษัท โซนี่ คอร์ปและบริษัททีดีเค คอร์ป ส่งผลให้มีแรงขายทำกำไรหุ้นขนาดใหญ่หลายตัว เช่น หุ้นฮอนด้า มอเตอร์และโตชิบา คอร์ป ก่อนการรายงานผลประกอบการ ดัชนี NIKKEI สามารถฟื้นตัวขึ้นได้อีกครั้งในวันพฤหัสบดี จากแรงซื้อกลับในหุ้นโซนี่ คอร์ป หลังจากที่บริษัทโบรกเกอร์ปรับเพิ่มราคาเป้าหมายของหุ้นดังกล่าว และนักลงทุนได้เข้าซื้อหุ้นในกลุ่มส่งออกอื่นๆ ที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการอ่อนค่าของเงินเยน เช่น หุ้นชาร์ป คอร์ป ทั้งนี้ แรงซื้อหุ้นที่รายงานผลประกอบการที่แข็งแกร่งยังได้ช่วยหนุนให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นสามารถทะยานสู่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 6 ปีได้อย่างต่อเนื่องเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาที่ 17,547.11 จุด [/color:fb2ac62cb2">


.00020

 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com