May 17, 2024   4:23:02 AM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > ตรวจคลื่นหัวใจ "ปตท.เคมิคอล
 

????
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 1,238
วันที่: 17/03/2007 @ 12:51:28
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

นกที่ตื่นแต่เช้าย่อมจับหนอนได้ก่อน...เฉกเช่นวิถีคิดของ "บมจ.ปตท.เคมิคอล" ที่ยึดหลัก "Long Term Gain...Short Term Pay" การลงทุนในวันนี้เพื่อรอเก็บเกี่ยวในวันข้างหน้า น่าจะเป็น "คำอธิบาย" ถึงทิศทางหุ้น PTTCH จากนี้ไป จนถึงปี 2553 เมื่อยักษ์ใหญ่ต้องแก้โจทย์ "วัฏจักรขาลง" ธุรกิจปิโตรเคมี




ในช่วง 5 ปีจากนี้ (2550-2554) บมจ.ปตท.เคมิคอล ต้องทุ่มงบลงทุนครั้งใหญ่ถึง 85,500 ล้านบาท ในสเต็ปแรกของแผนขยายกำลังการผลิตโอเลฟินส์ จาก 1.52 ล้านตัน ในปี 2549 เป็น 2.88 ล้านตัน ในปี 2552 เพื่อลดต้นทุนการผลิต และต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ (ดาวน์สตรีม) มากขึ้น

ภายใต้แผนนี้ การระดมทุนเมื่อปลายปีที่แล้ว มูลค่ากว่า 27,988 ล้านบาท ก็ส่งผลกระทบกับผู้ถือหุ้นมากไม่ใช่น้อย

"การเพิ่มทุนหลังจากนี้ไม่มีแล้ว คราวที่แล้ว 2.8 หมื่นล้านบาท โดนด่าเกือบตาย!" อดิเทพ พิศาลบุตร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.เคมิคอล กล่าว

นายใหญ่ปตท.เคมิคอล บอกว่า ผลกระทบ Dilution Effect จากการเพิ่มทุนมีประมาณกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ แต่มันเป็น Long Term Gain...Short Term Pay อันนี้ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มในระยะยาวให้กับผู้ถือหุ้น

"ถ้าไม่ทำอย่างนี้เวลาวัฏจักรขาลง หุ้น PTTCH อาจจะร่วงจาก 70-80 บาท หล่นมาเหลือ 30 บาท ก็ได้"

เขาบอกว่าเป้าหมายระยะยาวของ ปตท.เคมิคอล ต้องการเป็นผู้ผลิตโอเลฟินส์อันดับ 1 ในเอเชีย จากปัจจุบัน รั้งตำแหน่งอันดับ 4 โดยคาดว่าภายในปี 2552-2553 ด้วยกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นเป็น 2.88 ล้านตันต่อปี จะทำให้ ปตท.เคมิคอล ขยับขึ้นมาเป็นใหญ่ยักษ์เบอร์ 2 ในเอเชีย รองจาก Formasa เบอร์หนึ่งที่มีกำลังการผลิตกว่า 3 ล้านตัน

ก่อนที่จะถึงวัฏจักรขาขึ้น "รอบใหม่" ปตท.เคมิคอล ต้อง "ประคองตัว" โต้คลื่นวัฏจักรขาลงของธุรกิจปิโตรเคมี ที่รออยู่เบื้องหน้า และเริ่มส่งสัญญาณ "ผันผวน" มากขึ้นแล้ว ซึ่งแม่ทัพใหญ่ ปตท.เคมิคอล ยอมรับว่า การทำธุรกิจปิโตรเคมีวันนี้ มัน Always challenge !!! ท้าทายตลอดเวลา

"ตอนนี้ เอาแน่อะไรไม่ได้ ที่บอกว่าจะเป็นขาลง ก็ยังไม่ลงมา 3 ปีแล้ว เพราะซัพพลายใหม่จากตะวันออกกลางดีเลย์ออกไป"

อดิเทพ พยายามใช้ประสบการณ์ช่วงวิกฤติ ปี 2540 สมัยที่ยังเป็น บมจ.ไทยโอเลฟินส์ (TOC) มาใช้กับสถานการณ์ปัจจุบัน

เพราะฉะนั้นนโยบายสำคัญที่สุด ต้องเคร่งครัดเรื่องวินัยทางการเงิน โดยพยายามควบคุมสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E เรโช) ไม่ให้เกิน 0.7 เท่า

"ในปี 2550 Net Debt/EBITDA ของเรา 50% นั่นหมายความว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรก็แล้วแต่ 2 ปีเราคืนหนี้ได้หมด...นั่นคือ ไม่เสี่ยง"

ภายใต้สมมติฐานขั้นเลวร้ายที่สุดที่มองไว้ เขายืนยันว่า...เราคงไม่มีเนกาทีฟแคชโฟลว์ ไม่มีเลือดไหล ไม่มี Net Loss ถึงสเปรด (ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบ) ลดไปครึ่งหนึ่ง เราก็ยังอยู่ได้ ปัจจุบันอยู่ที่ 500 เหรียญ แต่มันคงไม่ลดลงไปถึงขนาดนั้น คงลดไปไม่นานก็จะเด้งขึ้นมา คงไม่ลงยาวเป็น "L-Shape"

"ราคาปิโตรเคมีตกยังไง เราก็ยังอยู่ได้ ต้นทุนเราสูงกว่าตะวันออกกลาง แต่ก็ยังต่ำกว่าโรงงานแถวยุโรป อเมริกาเหนือ ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ยังมีคนอื่นที่เดือดร้อนกว่าเราเยอะ" ผู้บริหาร ปตท.เคมิคอล ยืนยันหนักแน่น

เมื่อถามว่า...ปีไหนเป็นปีที่ต้องประคับประคองมากที่สุด อดิเทพ ตอบว่า ช่วงปี 2552-2553 คงไม่ใช่ประคับประคอง แต่เป็นเป็นปีที่ต้อง "เฝ้าดู" ว่าจะมีซัพพลายใหม่เข้ามาหรือเปล่า ถ้ามีก็ต้องพยายามรักษาลูกค้า รักษาต้นทุนการผลิตให้ต่ำ

เขาอธิบายถึงโรดแมพของ ปตท.เคมิคอล เพื่อรับมือกับวัฏจักรปิโตรเคมีขาลงว่า ที่สุดแล้วต้องขยาย "ไซส์ธุรกิจ" ทำให้เกิด Economy of Scale คือ เป็นผู้ผลิตที่มีต้นทุนต่ำ ควบคู่กับการกระจายโครงสร้างผลิตภัณฑ์จากธุรกิจอัพสตรีม (ต้นน้ำ) ไปยังผลิตภัณฑ์ดาวน์สตรีม (ปลายน้ำ) มากขึ้น

สร้างโมเดลธุรกิจแบบ Integrated Supply และดู Integrated Margin หรือดูมาร์จิน โดยรวม จากความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ทำให้บริษัทมีความยืดหยุ่นในการชดเชยกำไร และช่วยลดความผันผวนของธุรกิจในช่วงขาลง

"ดังนั้น เวลาขาลงของธุรกิจอัพสตรีม ธุรกิจดาวน์สตรีมก็จะเข้ามาช่วย ซึ่งตัวดาวน์สตรีม เราก็แบ่งเป็นหลายโปรดักท์ เพราะพวกนี้วัฏจักรธุรกิจมันจะไม่ตรงกัน เราพยายามจะรักษาระดับรายได้ อาศัยวอลุ่มที่มากขึ้นในช่วงขาลง โดยพยายามรักษามาร์จินโดยรวม"

ผู้บริหาร ปตท.เคมิคอล อธิบายเพิ่มเติม โดยยกแผนภาพชาร์ทวงกลมที่แสดงการขยาย "ไซส์" กำลังการผลิต ควบคู่กับการปรับโครงสร้าง "ผลิตภัณฑ์" เปรียบเทียบปี 2549 กับทิศทางอนาคตในปี 2553

"จะเห็นว่าเดิมเรามีรายได้จากธุรกิจอัพสตรีม 70% แต่พอปี 2553 สัดส่วนจะลดลงเหลือ 44% และมีธุรกิจดาวน์สตรีมเข้ามามากขึ้นเป็น 33% จะเห็นว่าโครงสร้างมีการกระจายความเสี่ยงออกไป ไม่งั้นถ้าอัพสตรีมขาลงนะ...เจ๊งเลย ! หุ้นเราคงเหลือแค่ 30 บาท "

เมื่อถึงปี 2553 ภายหลังแผนการขยายกำลังการผลิตเสร็จสมบูรณ์ อดิเทพ บอกว่า ปีนั้นน่าจะเป็นปีแห่งการก้าวกระโดดของ ปตท.เคมิคอล และคาดว่าบริษัทจะมีรายได้โตขึ้นเป็น 1.2 แสนล้านบาท ส่วนมาร์เก็ตแคปของหุ้น PTTCH ตอนนั้นจะขยายไซส์เป็นเท่าไรนั้น ให้ลองเอาตัวเลขแคชโฟลว์ไปคำนวณกันเอาเอง

เขายอมรับว่า สำหรับผู้ถือหุ้น PTTCH ที่ต้องการเก็บเกี่ยวจาก "ส่วนต่างราคาหุ้น" ก็เป็นไปได้ที่อาจจะต้องรอยาวหน่อย

"ถ้ามองถึงปันผล เราก็มีความสามารถที่จะจ่ายปันผลได้ ถ้าดูตามแคชโฟลว์ เรายังมีเงินเหลือที่จะจ่ายได้ แต่ผมก็ไม่ได้บอกว่าจะจ่ายทุกปี หากนักลงทุนมองว่ามันดีกว่าฝากแบงก์ และถ้ามองถึงศักยภาพที่จะมี Capital Gain ในปีที่ "ยอดขาย" จะขึ้นมาเยอะ มันก็มีความคาดหวังได้"

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารรายนี้ ยังคงให้คำมั่นว่า จากนี้ไปจนถึงปี 2553 ปตท.เคมิคอล จะรักษาระดับการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ปีละประมาณ 13% โดยตามแผนธุรกิจที่วางไว้ในทุกๆ ปี จะมีโครงการใหม่ที่เริ่มเดินเครื่อง และทำรายได้ต่อเนื่อง

ยกตัวอย่าง เดือนตุลาคมปีนี้ ที่จะมีรายได้จากโครงการแฟตตี้แอลกอฮอล์ จากโรงงานไทยโอลีโอเคมีเข้ามา ขณะที่ปี 2551 โครงการขยายกำลังการผลิตโรงโอเลฟินส์ I4-2 (Debottleneck 2) จะแล้วเสร็จ ส่วนปี 2552 มีโครงการ อีเทนแครกเกอร์กำลังผลิต 1 ล้านตันต่อปี ที่จะแล้วเสร็จ

ทิศทางในปีนี้ กรรมการผู้จัดการ ปตท.เคมิคอล คาดการณ์ไว้ว่า อย่างน้อยครึ่งปีแรก น่าจะยังเป็น "ขาขึ้น" เพราะในช่วงไตรมาสที่ 2 มีหลายโรงงานในตะวันออกกลางและเอเชียต้องปิดซ่อมบำรุง...ซัพพลายส่วนนี้ที่หายไป ส่งผลให้ราคา "โอเลฟินส์" ยังไม่ตกไปอีกอย่างน้อยครึ่งปี ส่วนทิศทางครึ่งปีหลัง ขึ้นอยู่กับซัพพลายจากโรงงานในตะวันออกกลาง ถ้ายังดีเลย์ออกไป ราคาก็จะยังดีอยู่

ประเมินทิศทางรายได้ในปีนี้ จึงน่าจะยังอยู่ที่ระดับ 7 หมื่นล้านบาท และมีอัตราเติบโตใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา

------------------------------------------------------------------

 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com