May 17, 2024   12:27:48 PM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > รายย่อยรีเทิร์น ดันมาร์เก็ตแชร์ KEST ผงาดอีกรอบ
 

kaisel
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 3,380
วันที่: 21/05/2007 @ 23:46:14
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

รายย่อยตบเท้าเล่นสั้นดันมาร์เก็ตแชร์ KEST ขึ้นอันดับ 1 ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อม BSEC มาร์เก็ตแชร์เพิ่มขึ้นเป็น 3.93% วงการแนะจับตายอดเน็ตเซ็ทเทิลเม้นท์เดือนพ.ค.พุ่ง หลังรายย่อยเทรดดิ้งสนั่น นักวิเคราะห์ชี้ ช่วงนี้จังหวะดีเล่นหุ้นหลักทรัพย์ บรรยากาศการลงทุนดี แถมได้วอลุ่มหนุน แนะเก็บ PHATRA-BLS โดดเด่นสุดในกลุ่ม
ต้องยอมรับว่าบรรยากาศการลงทุนในเดือนพ.ค.ค่อนข้างสดใสตั้งแต่เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้นไทยทะยานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทะลุแนวต้านสำคัญที่ระดับ 720 จุด จากแรงซื้อหุ้นกลุ่มพลังาน และธนาคารพาณิชย์ ขณะที่แรงซื้อของนักลงทุนต่างประเทศก็มีเข้ามาแทบทุกวัน แต่หากเราหันกลับไปพิจารณามาร์เก็ตแชร์เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจะพบว่า มาร์เก็ตแชร์ของโบรกเกอร์รายย่อยนั้นปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งนั่นอาจเป็นการสะท้อนว่ารฃนักลงทุนรายย่อยเริ่มกลับเข้ามาเทรดแล้ว แต่อาจไม่ใช่การซื้อเพื่อลงทุนระยะยาว แต่เป็นการเล่น Net Settiement
ผู้สื่อข่าวรายงานอันดับส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ของบริษัทหลักทรัพย์ ในช่วงต้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าโบรกเกอร์ที่มีฐานลูกค้าส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนต่างชาติ จะมีมาร์เก็ตแชร์ในอันดับต้นๆ ขณะที่โบรกเกอร์ที่มีฐานลูกค้ารายย่อยมาร์เก็ตแชร์จะตกอันดับไป โดยจากข้อมูลตั้งแต่วันที่ 2-15 พ.ค. ที่ผ่านมา พบว่าโบรกเกอร์ที่มีมาร์เก็ตแชร์อันดับ 1 ได้แก่ บล.เครดิตสวิส (ประเทศไทย) (CS) มีมาร์เก็ตแชร์ 7.19% บล.ยูบีเอส (ประเทศไทย) (UBS) มีมาร์เก็ตแชร์ 7.12% บล.ภัทร (PHATRA) มีมาร์เก็ตแชร์ 6.80%
ขณะที่บล.กิมเอ็ง (KEST) ที่ถือเป็นตัวแทนของโบรกเกอร์รายย่อย มาร์เก็ตแชร์ร่วงลงไปอยู่อันดับ 4 ที่ 6.59% จากที่เคยครองอันดับ 1 มาตลอด หรือ บล.บีฟิท (BSEC) ที่มาร์เก็ตแชร์ลดลงเหลือ 2.62% หรืออันดับที่ 15
อย่างไรก็ตาม ในช่วงตั้งแต่กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา (16-18 พ.ค.) แม้ว่ารายย่อยจะยังคงแสดงยอดขายสุทธิ แต่ก็ถือว่ามีการกลับเข้ามาซื้อขายหุ้นกันมากขึ้น สะท้อนจาก บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ที่กลับมามีมาร์เก็ตแชร์อันดับ 1 อีกครั้ง ที่ 7.37% ส่วน บล.บีฟิท มาร์เก็ตแชร์เพิ่มขึ้นเป็น 3.93% เป็นสัญญาณว่ารายย่อยหรือผุ้ลงทุนคนไทยได้กลับลำเข้ามาลุยหุ้นอีกครั้ง ท่ามกลางดัชนีฯที่เริ่มปรับตัวลดลงจากการปรับฐานเพราะปรับตัวขึ้นหลายวัน
และวานนี้( 21 พ.ค.) โบรกเกอร์ 5 อันดับที่มีมาร์เก็ตแชร์สูงสุด ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ กิมเอ็ง จำกัด(มหาชน) มีมาร์เก็ตแชร์ 8.01% อันดับ 2 ได้แก่ บล.เครดิตสวิส (ประเทศไทย) (CS) มีมาร์เก็ตแชร์ 6.87% อันดับ 3 ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ จำกัด(มหาชน)(KGI) มีมาร์เก็ตแชร์ 6.04% อันดับ 4 บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) มีมาร์เก็ตแชร์ 5.48% และบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด(มหาชน) มีมาร์เก็ตแชร์ 5.31%
แหล่งข่าวจากวงการหลักทรัพย์ กล่าวว่า แม้ว่านักลงทุนรายย่อยจะแสดงยอดขายสุทธิออกมาในช่วงเดือนพ.ค. แต่สัญญาณที่เป็นตัวสะท้อนว่านักลงทุนรายย่อยกลับเข้ามาซื้อ เพราะมาร์เก็ตแชร์ของโบรกเกอร์รายย่อยนั้นขยับเพิ่มขึ้น อาทิเช่น บล.กิมเอ็ง(KEST), บล.บีฟิท (BFIT)} ซึ่งอาจเป็นเพราะนักลงทุนรายย่อยหันมาเล่นสั้นมากขึ้น ซื้อเมื่อราคาถูกและรอขายเมื่อราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นภายในวันเดียว ซึ่งต้องรอดูยอดเน็ตเซ็ทเทิลเม้นท์เดือนพ.ค.ซึ่งอาจปรับตัวเพิ่มขึ้น

***SYRUS มองรายย่อยหลับมาลุยหุ้นไทยอีกรอบหลังการเมืองชัดเจน

นายกัณฑา ลดาวัลย์ ณ อยุธยา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ไซรัส จำกัด(มหาชน) (SYRUS) เปิดเผยว่า การที่มาร์เก็ตแชร์ของโบรกเกอร์รายย่อยกลับขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งนั้นยังไม่ได้เป็นการสะท้อนว่านักลงทุนรายย่อยกลับเข้ามาลงทุน เพราะหาพิจารณาตัวเลขการซื้อขายสุทธิของนักลงทุนรายกลุ่มระหว่างวันที่ 1-18 พ.ค.พบว่า นักลงทุนต่างชาติยังเป็นผู้ซื้อสุทธิ 9,183 ล้านบาท นักลงทุนรายยย่อยขายสุทธิ 7,900 ล้านบาท และนักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 1,261 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี มาร์เก็ตแชร์โบรกเกอร์ที่เน้นรายย่อยปรับตัวเพิ่มขึ้นนั่นมองได้ 2 ประเด็นคือ 1.สัดส่วนลูกค้าสถาบันต่างประเทศของโบรกเกอร์รายนั้นปรับตัวเพิ่มขึ้น หรือสัดส่วนลูกค้ารายย่อยรายใหม่เพิ่มหันมาเปิดบัญชีเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ หากพิจารณาตัวเลขฝั่งซื้อและฝั่งขายของนักลงทุนรายกลุ่มจะพบว่า นักลงทุนรายย่อยจะขายมากกว่าซื้อ ดังนั้น มาร์เก็ตแชร์ของโบรกเกอร์ที่เน้นลูกค้ารายย่อยที่เพิ่มขึ้นอาจมาจากวอลุ่มฝั่งขายของนักลงทุนรายย่อยก็เป็นได้
อย่างไรก็ดี เชื่อว่านักลงทุนรายย่อยจะกลับเข้ามาลงทุนอีกครั้ง ในช่วงครึ่งหลังของปีหลังจากที่สถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลาย สำหรับกลยุทธ์ในการลงทุนช่วงนี้ ควรทยอยขายทำกำไร เพราะหากพิจารณาเป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นสิ้นปีนี้ที่นักวิเคราะห์หลายค่ายให้ไว้ที่ระดับ 750 จุด จะพบว่าตอนนี้ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นใกล้เป้าหมายแล้ว จึงควรรอซื้อเมื่อราคาหุ้นอ่อนตัว

***โบรกเกอร์เชียร์ซื้อ PHATRA - BLS

เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. กรุงศรีอยุธยา (มหาชน) เปิดเผยว่าสาเหตุที่ช่วงนี้บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยสดใส เนื่องจากได้รับปัจจัยบวกจากมาร์เก็ตแชร์ของลูกค้ารายย่อยที่เริ่มเข้ามาในช่วงนี้ หลังจากที่ไม่มีปัจจัยลบเข้ามากระทบตลาดฯ ดังนั้นจึงส่งผลบวกต่อจิตวิทยาการลงทุน
" ก็ต้องยอมรับว่าช่วงนี้รายย่อยเริ่มเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากขึ้น กว่าช่วงที่ผ่านมา เพราะตลาดฯ ไม่ได้มีข่าวลบ แต่แรงซื้อน่าจะเข้ามาในช่วงสั้นๆ เท่านั้น เพราะปัจจัยการเมือง หรือเศรษฐกิจเองก็ยังไม่นิ่ง นักลงทุนจึงไม่มั่นใจและกดดันอยู่ " แหล่งข่าวรายเดิมกล่าว
ทั้งนี้ประเมินว่าหุ้นของบริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) หรือ BLS และบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ PHATRA น่าจะได้รับปัจจัยบวกจากกรณีที่รายย่อยเข้ามาลงทุนในตลาดฯ มากที่สุด เนื่องจากมีสัดส่วนลูกค้ารายย่อยค่อนข้างมาก ขณะเดียวกันยังเป็นบริษัทหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ ที่มีความได้เปรียบผู้ประกอบการรายอื่นๆ ทั้งในด้านของรายได้ รวมทั้งปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งจึงแนะนำซื้อ โดย PHATRA ให้ราคาเป้าหมายไว้ที่ 43 บาท ส่วน BLS ให้ราคาเป้าหมายไว้ที่ 13.60 บาท อย่างไรก็ตามคาดว่าในปีนี้การเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยคงจะผันผวน เนื่องจากนักลงทุนยังคงกังวลเกี่ยวกับปัจจัยทางการเมืองที่ยังไม่ชัดเจน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระทบต่อจิตวิทยาการลงทุน ในขณะที่คาดว่ามูลค่าการซื้อขายจะอยู่ที่ 15,000 ล้านบาท/วัน ลดลงจากปี 2549 ที่มีมูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 16,000 ล้านบาท/วัน
ด้านเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. กิมเอ็ง (ประเทศไทย)(มหาชน) เปิดเผยว่าหุ้นกลุ่มหลักทรัพย์คงจะได้รับอานิสงส์จากกรณีที่ช่วงนี้มีสัดส่วนมาร์เก็ตแชร์ของนักลงทุนรายย่อยเข้ามาในตลาดฯ ค่อนข้างมาก โดยประเมินว่า PHATRA และ BLS คงจะได้รับประโยชน์มากที่สุด เพราะมีฐานลูกค้ารายย่อยค่อนข้างมาก ขณะเดียวกันยังเป็นโบรกเกอร์ขนาดใหญ่ และมีแนวโน้มเติบโตที่ดีในอนาคต จึงแนะนำซื้อ โดย PHATRA ให้ราคาเป้าหมายไว้ที่ 36.75 บาท ส่วน BLS ให้ราคาเป้าหมายไว้ที่ 12.80 บาท

***โบรกเกอร์เรียกร้อง ตลท.เพิ่มสัดส่วนนักลงทุนรายย่อย

ก่อนหน้านี้ นายวิบูลย์ เพิ่มอารยวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.สินเอเซีย เปิดเผยว่า ตลท.ควรหันมาเพิ่มจำนวนนักลงทุนรายย่อยใน ตลท. แทนการเพิ่มสัดส่วนนักลงทุนต่างประเทศ เนื่องจากปัจจุบันจำนวนนักลงทุนรายย่อยที่ซื้อขายในตลาดหุ้นลดลง รวมทั้งมูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนรายย่อยก็ลดลงเช่นกัน ล่าสุดเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา มูลค่าการซื้อขายโดยรวมของนักลงทุนรายย่อยมีเพียง 6,000 ล้านบาทต่อวัน ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงที่ผ่านมาซึ่งนักลงทุนรายย่อยจะมีมูลค่าการซื้อขายโดยรวมประมาณ 14,000 ล้านบาทต่อวัน และเพื่อให้เป็นการสอดคล้องกับแผนพัฒนาตลาดทุน ซึ่งกำหนดภายใน 3 ปี จำนวนผู้ลงทุนรายย่อยจะเพิ่มเป็นร้อยละ 10 ของประชากรในประเทศทั้งหมด
นอกจากนี้ ตลท.ไม่ควรกำหนดเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนนักลงทุนต่างประเทศให้ถึงร้อยละ 40 ภายในสิ้นปีนี้ เนื่องจากไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะในช่วงที่ผ่านมาสัดส่วนนักลงทุนต่างประเทศในตลาดหุ้นเพิ่มขึ้น เนื่องจากนักลงทุนรายย่อยหยุดทำการซื้อขายหุ้น นอกจากนี้ เมื่อสิ้นปีที่ผ่านมาสัดส่วนนักลงทุนต่างประเทศก็สูงถึงร้อยละ 45 เกินกว่าเป้าหมายที่ทาง ตลท.กำหนดไว้ในปีนี้ ล่าสุดเดือนมกราคมที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนต่างประเทศในตลาดหุ้นอยู่ที่ร้อยละ 53 เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีที่แล้วที่มีสัดส่วนนักลงทุนต่างประเทศร้อยละ 45 ขณะที่สัดส่วนนักลงทุนรายย่อยอยู่ที่ร้อยละ 47 ลดลงจากสิ้นปีก่อนที่มีสัดส่วนนักลงทุนรายย่อยร้อยละ 55
นายวิบูลย์ ยอมรับว่า ในช่วงที่ผ่านมาโบรกเกอร์ที่มีลูกค้าส่วนใหญ่เป็นรายย่อยได้รับผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนสัดส่วนนักลงทุนในตลาดหุ้น ทำให้ส่วนแบ่งตลาดค้าหลักทรัพย์ลดลง ขณะที่โบรกเกอร์ต่างประเทศมีมาร์เก็ตแชร์เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2 เมื่อต้นปีก่อนเป็นร้อยละ 8 ในสิ้นปีที่ผ่านมา.

*** ยอดเน็ทเซ็ทเทิลเม้นท์เดือน เม.ย.วูบเหลือ 9.5 % ของวอลุ่มรวม จากเดือนมี.ค.อยู่ที่ 12.28%

รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เปิดเผยถึง มูลค่าหักกลบราคาค่าซื้อและราคาค่าขายหลักทรัพย์เดียวกันในวันเดียวกัน (NET SETTLEMENT) เดือนเม.ย. 50 พบว่า เดือนเม.ย.มีมูลค่าหักกลบ 17,022.19 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 9.50 ของมูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในเดือนเม.ย.ซึ่งมีมูลค่ารวม 179,227.27 ล้านบาท ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมี.ค.ซึ่งมีมูลค่าการหักกลบ 24,068.47 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 12.28 ของมูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในเดือนมี.ค.ซึ่งมีมูลค่ารวม 196,047.90 ล้านบาท

ตารางแสดงมูลค่าการเน็ทเซ็ทเทิลเม้นท์ตั้งแต่เดือนม.ค.-เม.ย.50


เดือน มูลค่าการหักกลบ วอลุ่มรวม มูลค่าการหักกลบต่อมูลค่าการซื้อขายรวม(%)
ม.ค. 34,493.60 287,615.19 11.99
ก.พ. 34,783.72 260,510.28 13.35
มี.ค. 24,068.47 196,047.90 12.28
เม.ย. 17,022.19 179,227.27 9.50

ที่มา : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย


ตารางแสดง 20 อันดับมาร์เก็ตแชร์โบรกเกอร์ ตั้งแต่วันที่ 2-15 พ.ค. 2550

โบรกเกอร์ มาร์เก็ตแชร์(%)
1 CS 7.19
2 UBS 7.12
3 PHATRA 6.80
4 KIMENG 6.59
5 SCBS 5.96

ตารางแสดง 20 อันดับมาร์เก็ตแชร์โบรกเกอร์ ตั้งแต่วันที่ 16-18 พ.ค. 2550

โบรกเกอร์ มาร์เก็ตแชร์(%)
1 KIMENG 7.37
2 CS 6.13
3 PHATRA 5.30
4 ASP 5.21
5 KGI 4.76

ที่มา : eFinanceThai.com


 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com