May 2, 2024   6:16:06 AM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > คำถามยอดฮิต ?
 

kaisel
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 3,380
วันที่: 23/07/2007 @ 20:28:34
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

Just an Idea:ดร. โชติชัย สุวรรณภรณ์ chodechai@fpo.go.th

มีคนสนใจมากว่านักลงทุนต่างประเทศเวลาเขาจะตัดสินใจลงทุนเขาพิจารณาอะไรบ้าง

เขาถามคำถามอะไรเป็นพิเศษ ผมได้มีประสบการณ์ตรงในการพบกับนักลงทุนหลายประเภทในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จึงลองประมวลดูว่า นักลงทุนประเภทไหน ถามคำถามอะไรบ่อยที่สุด เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจว่า พวกเขาสนใจเรื่องอะไรเป็นพิเศษ เรื่องอะไรที่สำคัญสำหรับเขาในการตัดสินใจลงทุน

นักลงทุนประเภทต่างๆ เรียงตามลำดับความถี่ในการพบมีดังนี้

1. ผู้จัดการกองทุนต่างประเทศ ซึ่งที่พบบ่อยๆ อยู่ 4 ประเภท คือ หนึ่ง กองทุนทางเลือก (หรือกองทุนบริหารความเสี่ยง Hedge Fund หรือ Private Capital) สอง กองทุนรวม (Mutual Fund) สาม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือเพื่อการเกษียณ (Pension Fund) สี่ กองทุนหรือบรรษัทเพื่อการลงทุนแห่งชาติ (Investment Corporation) ซึ่งปัจจุบันสำคัญมาก เพราะมีขนาดใหญ่และจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งรวมกันแล้วมีขนาดถึง 2.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ภายใต้การบริหารจัดการโดยกองทุนแห่งชาติขนาดใหญ่ที่สุดในโลกได้แก่ AbuDabhi Investment Authority (ADIA) จากประเทศสหรัฐอาหรับอมิเรตส์ที่บริหารจัดการเงินลงทุนเกือบ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

2. นักวิเคราะห์หลักทรัพย์เป็นพวก Investment Analyst หรือ strategist ซึ่งส่วนใหญ่จะทำงานในบริษัทตัวแทนนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ รับคำสั่งซื้อขายจากต่างประเทศ (Broker หรือ Research House) เช่น Citi Group, UBS, JP Morgan, Bear Sterns, Goldman Sachs ฯลฯ

3. นักวาณิชธนกิจและบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน ที่มาถามคำถามให้ลูกค้าในต่างประเทศ บางบริษัทมาช่วยทำ Deal ซื้อขายบริษัท ตลอดจนการควบรวมกิจการในเมืองไทย บางบริษัทรับจ้างลูกค้าในต่างประเทศมาทำ Questionare และทำวิจัยในเชิงลึก เพื่อหาโอกาสเข้ามาลงทุนซื้อกิจการในเมืองไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันการเงินขนาดกลางและขนาดเล็ก ในช่วงนี้มีลักษณะเช่นนี้มากขึ้นที่มาสำรวจความเห็นและทัศนคติต่อการเข้ามาซื้อสถาบันการเงินไทยของสถาบันการเงินต่างชาติ ว่าจะมีปัญหาอะไรหรือไม่ หลังจากมีการออกมาตรการสำรอง 30% และความเคลื่อนไหวของกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว

4. นักลงทุนสถาบันและสถาบันการเงินขนาดใหญ่จากต่างประเทศที่สนใจซื้อแบงก์ไทย

5. นักวิชาการมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยจากต่างประเทศ

6. บริษัทจัดอันดับเครดิตจากต่างประเทศ เช่น S&P, Moody?s, Fitch ฯลฯ

7. ตัวแทนจากสถานทูตต่างประเทศที่อยู่ในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งหลายประเทศมีสำนักงานภูมิภาคอยู่ที่สิงคโปร์และฮ่องกง พวกนี้จะเข้ามาเก็บข้อมูลและส่งกลับไปที่สำนักงานใหญ่ในประเทศของเขา ส่วนใหญ่จะมาจากแบงก์ชาติ กระทรวงการคลังหรือกระทรวงพาณิชย์

8. นักเศรษฐศาสตร์การเงินจากองค์กรการเงินระหว่างประเภท เช่น World Bank, Asian Development Bank, IMF, BIS ซึ่งตอนนี้มีสาขาภูมิภาคที่ฮ่องกงแล้ว

รูปแบบในการถามคำถามก็แตกต่างกันไป บางคนถามแบบอ้อมๆ และสุภาพมากเช่น จากญี่ปุ่น ยุโรปเหนือ และยุโรปตะวันตก บางคนก็ถามแบบตรงไปตรงมาออกจะ Aggressive เล็กน้อย เช่น สหรัฐอเมริกาและเอเชีย (สิงคโปร์ ฮ่องกงและอินเดียบางคน) บางคนชอบถามเรื่องการเมือง บางคนชอบถามเน้นเรื่องทิศทางดอกเบี้ยและค่าเงิน

คำถามส่วนใหญ่ที่ผมได้รับมีดังนี้

- ด้านเศรษฐกิจมหภาค นักลงทุนสนใจทิศทางการเมือง สนใจว่าจะมีการเลือกตั้งไหม ผลจะออกมาเรียบร้อยหรือไม่อย่างไร การประท้วงและความวุ่นวาย ตลอดจนปัญหาภาคใต้จะคลี่คลายเมื่อไรอย่างไร รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะดีขึ้นและแก้ไขปัญหาต่อไปได้ไหม นอกจากนั้นยังสนใจเรื่อง เศรษฐกิจไทย GDP ว่าจะโตแค่ไหน เงินเฟ้อจะเป็นเท่าไร ปลายปีอัตราดอกเบี้ยจะเป็นอย่างไร เงินบาทจะแข็งไปถึงไหน นโยบายการคลัง ตลอดจนขนาดและการจัดทำงบประมาณให้ความสำคัญและจัดสรรกันอย่างไร จะมีมาตรการภาษีอะไรออกมาบ้างไหม ฯลฯ เขาถามคำถามเหล่านี้เพื่อดูแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจในอนาคต

- ด้านขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะกลางถึงยาว นักลงทุนสนใจว่ารัฐมีแผนหรือแนวทางที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมอย่างไรที่จะเสริมสร้างศักยภาพของเศรษฐกิจไทย จะมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอย่างไร จะมีการลงทุนขนาดใหญ่ Mega Project อะไรบ้าง มีการวางแผนอย่างไรและจะสามารถดำเนินการได้ตามแผนไหม แล้วจะแล้วเสร็จเมื่อใด

- ด้านภาคการเงิน นักลงทุนสนใจว่าสถาบันการเงินไทยแข็งแรงขึ้นหรือไม่อย่างไร จะมีการปฏิรูปอะไรบ้างไหม ผลประกอบการจะเป็นอย่างไร แบงก์ไหนบริหารจัดการได้ดีที่สุด เพราะอะไร นอกจากนั้น นักวาณิชธนกิจที่ทำหน้าที่แทนลูกค้าในต่างประเทศจะสนใจว่ารัฐมีนโยบายจะขายแบงก์ที่รัฐถือหุ้นอย่างไร กฎเกณฑ์ระเบียบในการถือหุ้นของสถาบันการเงินหรือบริษัทต่างประเทศในแบงก์ไทยเป็นอย่างไร ถือได้กี่เปอร์เซ็นต์ ต้องขออนุญาตแค่ไหน เมื่อไร อย่างไร ความเป็นไปได้ในการขอซื้อแบงก์ที่รัฐถือหุ้นเป็นไปได้แค่ไหน และด้วยเงื่อนไขอะไร

ในช่วงต้นปีคำถามที่ได้รับบ่อยที่สุด เช่น ทำไมใช้นโยบายดอกเบี้ย (ปรับลดดอกเบี้ย)

ในการแก้ไขปัญหาเงินบาทแข็ง ใครเป็นคนตัดสินใจออกนโยบายควบคุมเงินทุน เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2549 (กระทรวงการคลังหรือธนาคารแห่งประเทศไทย) เมื่อไรจะยกเลิกมาตรการสำรอง 30% เมื่อไรจะลดดอกเบี้ย เป็นต้น

นักลงทุนต่างประเทศส่วนใหญ่สนใจลงทุนในตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ ตลาดเงินตรา (Currency) และอสังหาริมทรัพย์ นักลงทุนที่มีลักษณะเด่นพิเศษ เช่น พวก Hedge Fund ที่ค่อนข้างจะเล่นระยะสั้นๆ (Short Term) และฉวยโอกาส (Opportunistic) ในขณะที่พวก Private Capital สนใจลงทุนคล้ายกับพวก Venture Capital ที่ลงทุนในกิจการนอกตลาดหลักทรัพย์ที่กำลังโตเร็ว แต่ขาดแคลนเงินทุน



:lol:

 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com