May 3, 2024   5:56:16 PM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > YEN CARRY TRADE หนุนหุ้นบูมรับบีโอเจคงดอกเบี้ย
 

kaisel
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 3,380
วันที่: 23/08/2007 @ 19:29:56
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

จับตาการทำ YEN CARRY TRADE ในตลาดเงิน ปลุกหุ้นทั่วโลกคึกคักรับ บีโอเจ คงดอกเบี้ยไว้ที่ 0.5% ทั้งพิษซับไพร์มเริ่มจาง ดังนั้นถือเป็นฤกษ์ดี ได้เวลาช้อนซื้อหุ้นบิ๊กแคป-หุ้นเก็งกำไร ขณะที่การสำรวจพบ 11 สถาบันการเงินทั่วโลกที่เจอผลกระทบจากปัญหานี้ไปแล้วเต็มๆ ขณะที่การเมืองไทยเองได้มีความชัดเจนระดับหนึ่ง เมื่อนายกฯ ระบุว่าการกำหนดวันเลือกตั้งจะชัดเจน 27 ส.ค.นี้

* หุ้นไทยบวกตามเพื่อนบ้านหลัง บีโอเจ คงดอกเบี้ย 0.5%
ดัชนีตลาดหุ้นไทยวันที่ 23 สิงหาคม 2550 ปิดที่ระดับ 791.50 จุด เพิ่มขึ้น 0.07 จุด หรือ 0.90% มูลค่าการซื้อขาย 20,208.80 ล้านบาท เหนือระดับ 20,000 ล้านบาทได้สำเร็จอีกครั้ง และที่สำคัญ นักลงทุนต่างชาติพลิกกลับเข้ามาซื้อสุทธิ 1,582.85 ล้านบาท หลังจากเทขายมาตลอด คิดเป็นมูลค่าร่วม 40,000 ล้านบาท

ตลาดหุ้นไทยได้ปิดตัวในแดนบวก พร้อมๆ กับตลาดหุ้นในภูมิภาค หลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ บีโอเจ ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.5% เท่าเดิม เช่น ดัชนีนิกเกอิ ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ปิดที่ระดับ 16,316.32 จุด เพิ่มขึ้น 415.68 จุด หรือ 2.61%, ดัชนีฮั่งเส็ง ตลาดหุ้นฮ่องกง ปิดตลาดที่ระดับ 22,966.97 จุด เพิ่มขึ้น 620.09 จุด หรือ 2.77%, ดัชนี คอมโพสิต ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย ปิดตลาดที่ระดับ 2,117.66 จุด เพิ่มขึ้น 54.67 จุด หรือ 2.65% และ ดัชนีสเตรทไทม์ ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ปิดตลาดที่ระดับ 3,370.91 จุด เพิ่มขึ้น 49.41 จุด หรือ 1.49%

* เชื่อเกิดปรากฏการณ์ yen carry trade ครั้งใหม่
การคงดอกเบี้ยของ บีโอเจ ทำให้เกิดคาดการณ์ว่า จะเกิดการทำ yen carry trade ในตลาดเงินอีกครั้ง หลังก่อนหน้านี้มีการทำ unwinding yen carry trade เพื่อเตรียมนำเงินไปคืนญี่ปุ่น เนื่องจากปัญหาตลาดสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์สำหรับลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูง หรือตลาดซับไพร์มของสหรัฐฯ ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า บีโอเจ อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 22-23 สิงหาคมที่ผ่านมา แต่เนื่องจากสหรัฐฯ เองได้แก้ปัญหาเป็นการเร่งด่วน ทำให้ปัญหาซัพไพร์มเริ่มคลี่คลายลงในทางที่ดี ส่งผลให้ บีโอเจ ไม่ขึ้นดอกเบี้ยในที่สุด

ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นจากตลาดซัพไพร์มก่อนหน้านี้ จากการสำรวจพบว่าในช่วงเกือบ 2 เดือนที่ผ่านมานี้ พบว่ามี 11 สถาบันการเงินที่ต้องประสบปัญหาและขาดทุนจากการลงทุนในตลาดซับไพร์ม ซึ่งประกอบด้วย

1. แบงก์ออฟอเมริกาคอร์ป เครดิตสวิสกรุ๊ป ไฟด์ลิตี้อินเวสท์เม้นท์ และมอร์แกน สแตนเลย์ ได้รับความเสียหายจากการลงทุนในตลาดซับไพร์มรวมกันในปีนี้ มูลค่าประมาณ 300,000 ล้านดอลลาร์ และในเดือนมิถุนายนเพียงเดือนเดียว ตราสารหนี้อ้างอิงสินเชื่อหรือสินทรัพย์ หรือซีดีโอ ที่ได้รับความเสียหายจากผลกระทบจากวิกฤตซับไพร์มมูลค่า 6 พันล้านดอลลาร์

2. บีเอ็นพีพาริบาส์เอสเอ ธนาคารรายใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศส ได้ระงับการไถ่ถอนเงินลงทุนจากกองทุน 3 กอง มูลค่ากว่า 2 พันล้านดอลลาร์ เนื่องจากยังไม่สามารถจำหน่ายหุ้นกู้และสินทรัพย์อื่นๆ ในตลาดซับไพร์มสหรัฐฯ เพราะตลาดตราสารดังกล่าวอยู่ในสภาวะขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง

3. แบร์สเติร์นส์ วาณิชธนกิจรายใหญ่ของสหรัฐ ประสบผลขาดทุนจำนวนมากจากธุรกิจกองทุนประกันความเสี่ยง หรือ เฮดจ์ฟันด์ จนทำให้ต้องปิดกองทุนเฮดจ์ฟันด์ 2 แห่งที่ลงทุนจำนวนมากในการปล่อยกู้ตลาดซับไพร์มนั้น เนื่องจากกองทุนดังกล่าวแทบไม่เหลือมูลค่าแล้ว

4. มิตซูบิชิยูเอฟเจไฟแนนเชี่ยลกรุ๊ป ประสบผลขาดทุน 42.6 ล้านดอลลาร์จากการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อตลาดซับไพร์มในสหรัฐฯ

5. เอ็นไอบีซีโฮลดิ้ง วาณิชธนกิจสัญชาติฮอลแลนด์ ขาดทุนจากการลงทุนในตลาดสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์กลุ่มลูกค้าความเสี่ยงสูง หรือ ซับไพร์มสหรัฐฯ มูลค่า 137 ล้านยูโร (189 ล้านดอลลาร์) ในปีนี้

6. โฮมโลนส์กรุ๊ป ผู้ให้บริการสินเชื่อที่อยู่อาศัยสัญชาติออสเตรเลีย ประสบความล้มเหลวในรีไฟแนนซ์เงินกู้ระยะสั้นวงเงิน 6.17 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (5 พันล้านดอลลาร์) เนื่องจากปัญหาซับไพร์มในสหรัฐฯทำให้สถาบันการเงินขาดความเชื่อมั่นในการปล่อยสินเชื่อ

7. ธอร์นเบิร์กมอร์ทเกจ ผู้ให้บริการสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของสหรัฐฯ ขายหลักทรัพย์มูลค่า 20.5 พันล้านดอลลาร์ หลังขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นผลกระทบจากอัตราการผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้นในตลาดซับไพร์ม และมีแนวโน้มจะขาดทุน 930 ล้านดอลลาร์ ในไตรมาส 3 นี้ และผลการดำเนินการทั้งปีอาจขาดสุทธิเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี

8. เซ็นตินอล แมเนจเมนท์กรุ๊ป บริษัทจัดการลงทุนในอิลินอยส์ ประกาศระงับการไถ่ถอนหน่วยลงทุน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตซับไพร์มในสหรัฐฯ พร้อมระบุว่า บริษัทมีความประสงค์จะคืนเงินให้กับผู้หน่วยลงทุน แต่ขณะนี้ไม่มีความเป็นไปได้ที่จะกระทำได้เนื่องจากสภาพคล่องที่หายไปจากตลาดตราสารหนี้อ้างอิงสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์กลุ่มลูกค้าที่มีประวัติทางการเงินไม่ดี หรือ กลุ่มซับไพร์มทำให้ไม่สามารถประเมินความเสียหายจากการลงทุนได้

ส่วนบริษัทที่มีแนวโน้มล้มละลายและกำลังประสบปัญทางการเงินจากผลกระทบดังกล่าว ได้แก่ 1. คันทรี่ไฟแนนเชี่ยลคอร์ป ผู้ให้บริการสินเชื่อบ้านรายใหญ่ของสหรัฐฯ มีความเสี่ยงต่อการล้มละลาย หากสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้อ้างอิงสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯ ยังไม่ดีขึ้น หลังเกิดวิกฤตซับไพร์ม

2. เบซิสแคปิตอลฟันด์แมเนจเมนท์ บริษัทจัดการกองทุนประกันความเสี่ยง หรือ เฮดจ์ฟันด์ สัญชาติออสเตรเลีย แจ้งต่อผู้ถือหน่วยลงทุนกองทุนยิลด์ฟันด์ว่า กองทุนดังกล่าวอาจขาดทุนเกินกว่า 50% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตซับไพร์มของสหรัฐฯ

3.แคปิตอลวันไฟแนนเชี่ยลคอร์ป ผู้ให้บริการทางการเงินรายใหญ่ในสหรัฐฯ ประกาศปิดกิจการกรีนพอยท์มอร์ทเกจ บริษัทสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้มีพนักงานถูกเลิกจ้างกว่า 1,900 คน เนื่องจากนับตั้งแต่ซื้อกิจการกรีนพอยท์ในช่วงไม่ถึง 1 ปีกรีนพอยท์ประสบผลขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง
และเอชเอสบีซีโฮลดิ้งส์ เลห์แมนบราเธอร์ส และแอคเครดิตโฮมเลนเดอร์สโฮลดิ้ง ได้ปิดกิจการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ความเสี่ยงสูงแล้ว และทำให้มีพนักงานตกงานรวมกันกว่า 3,700 คน

* หนุนหุ้นบวกทั่วโลกหลังปัญหาซัพไพร์มคลี่คลาย
ความคาดหวังที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังจาก บีโอเจ ไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยในครั้งนี้ คือ การทำ yen carry trade ที่น่าจะเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะกระตุ้นให้ตลาดหุ้นทั่วโลก รวมทั้งตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นได้ในทิศทางเดียวกัน

นอกจากนี้ สภาพคล่องในตลาดเงินน่าจะดีขึ้น เมื่อ 4 ยักษ์ใหญ่สถาบันการเงินสหรัฐฯ คือ ซิตี้กรุ๊ป แบงก์ออฟอเมริกา เจพีมอร์แกน เชสแอนด์โค และวาโชเวียคอร์ป กู้เงินธนาคารสหรัฐฯ หรือ เฟดรายละ 500 ล้านดอลลาร์ เพื่อเสริมสภาพคล่องในตลาดเงิน หลังลดดอกเบี้ยมาตรฐาน หรือ ดิสเคาท์เรทจาก 6.25% เป็น 5.75%

* สัปดาห์หน้าไทยเตรียมกำหนดวันเลือกตั้งครั้งใหม่
พร้อมกับความชัดเจนทางการเมืองของไทยเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อล่าสุด พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันจันทร์ที่ 27 ส.ค.นี้ จะมีความชัดเจนเรื่องการกำหนดวันเลือกตั้ง ซึ่งสยบข่าวลือการปฏิวัติครั้งใหม่ได้อย่างชะงัด ซึ่งถือเป็นข่าวดีต่อจิตวิทยาการลงทุนของไทยโดยตรง

รวมทั้ง นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับการเลือกตั้ง หรือ กกต. ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าการกำหนดเลือกตั้งว่า พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้โทรศัพท์ประสานไปยัง นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต.แล้ว โดยนัดหมายหารือในช่วงต้นสัปดาห์ถึงรายละเอียด ในการเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้ง

โดยเบื้องต้นทั้ง 2 ฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่า ควรให้มีการเลือกตั้งภายในปีนี้ ซึ่งในช่วงวันที่ 18 - 23 ธันวาคมเป็นช่วงเวลาที่มีความเหมาะสมมากที่สุด อย่างไรก็ตาม จะต้องหารือร่วมกันอภิปรายอีกครั้ง ส่วนที่ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง จะขอยื่นจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองในชื่อของตนเองนั้น

* หุ้นไทยสดใสในอีก 1 เดือนข้างหน้า
นายกัณฑรา ลดาวัลย์ ณ อยุธยา รองกรรมการผู้จัดการ สายงานการตลาด บริษัทหลักทรัพย์ ไซรัส จำกัด (มหาชน) (SYRUS) คาดว่านักลงทุนเริ่มคลายความกังวลเกี่ยวกับปัญหาซับไพร์มไปส่วนหนึ่งแล้ว หลังจากที่ได้รับรู้กลุ่มที่ได้รับกระทบทั้งหมดจากปัญหาซับไพร์มในสหรัฐ
อีกทั้งคาดว่าในกลางเดือน ก.ย.จะมีการประชุมเฟด และคาดว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องในปัญหาดังกล่าว จึงมองว่าใน 1 เดือนข้างหน้าปัญหาจะคลี่คลายลงและตลาดหุ้นไทยจะสดใสจากความชัดเจนด้านการเมืองที่จะมีการเลือกตั้งในปลายปีนี้ด้วย

ความวิตกกังวลที่คลี่คลายลง เป็นความหวังครั้งใหม่ของนักลงทุนไทย เพราะจากอดีตจนถึงปัจจุบันการซื้อขายในตลาดหุ้นไทยจะคึกคักเมื่อไร้ปัจจัยลบกดดัน พร้อมกับมีปัจจัยสนับสนุนจากทั้งภายในและต่างประเทศ ซึ่งภาวะดังกล่าวนี้มักจะทำให้หุ้นบิ๊กแคป รวมทั้งหุ้นเก็งกำไรปรับตัวขึ้นได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว ดังนั้น ตลาดหุ้นไทยในระยะนี้ จึงน่าจะสดใสตามการเดินทางในอดีตได้ไม่ยากนัก....


:lol:

 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com