May 3, 2024   11:59:43 PM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > ยูนิเวนเจอร์" ในยุค "สิริวัฒนภักดี
 

????
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 1,238
วันที่: 08/09/2007 @ 11:27:06
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

บารมีแรงกล้าของ "ตระกูลสิริวัฒนภักดี" ไม่ต่างจาก "แบรนด์ขลัง" ที่เสกให้ บมจ.ยูนิเวนเจอร์ (UV) กลายเป็น "หุ้นร้อน" ปรับตัวขึ้นมาอย่างร้อนแรง นับตั้งแต่ข่าวการเข้ามา "เทคโอเวอร์" ยูนิเวนเจอร์ เพื่อต่อจิ๊กซอว์อาณาจักรธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ของ "เจ้าสัวเจริญ"


ที่แน่ๆ ยังไม่ทันไร สองพี่น้องตระกูล "สิริวัฒนภักดี" ฐาปน และ ปณต สิริวัฒนภักดี ก็รับกำไรหุ้น UV หลังเข้าถือหุ้นใหญ่แล้วไม่ต่ำกว่า 63% จากต้นทุนหุ้นละ 2.04 บาท ในชั่วระยะเวลาเพียง 3 เดือน

อรฤดี ณ ระนอง ประธานอำนวยการ บมจ.ยูนิเวนเจอร์ ตอบคำถามราคาหุ้นที่วิ่งร้อนแรงเกินกว่าพื้นฐานว่า มันก็รับกับข่าวผู้ถือหุ้นใหม่ ที่คนเชื่อมั่นในศักยภาพที่มีทั้งเงินทุน และเครือข่ายธุรกิจ ก็น่าจะทำให้ยูนิเวนเจอร์มีอนาคต ซึ่งก็ถือเป็นการลงทุนที่ซื้ออนาคตด้วย "...พี่เลยต้องทำงานหนัก"

เมื่อถามถึงที่มาของดีลนี้ ที่คนในตระกูลสิริวัฒนภักดีเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหม่ ว่าถูกพาดพิงและมีการวิเคราะห์กันว่า มาจากสะพาน "คอนเนคชั่น" ของ กิตติรัตน์ ณ ระนอง ใช่หรือไม่ อรฤดี น้องสาวรีบปฏิเสธว่า ไม่เคยได้ยินข่าวนี้เลย

พร้อมเล่าถึงที่มาของดีลนี้ว่า มาจาก "เราไปขายตัวว่าอยากหาผู้ถือหุ้น ซึ่งเขา (ฐาปน และ ปณต สิริวัฒนภักดี) เห็นบิซิเนสโมเดล และผลงาน 4 ปีที่ผ่านมา ก็เลยไว้ใจ และเขามองว่าเรามีจุดแข็งในด้านพันธมิตรและมีพาร์ทเนอร์ในธุรกิจนี้"

พร้อมตอบชัดเจนว่า จริงๆ แล้ว บริษัท อเดลฟอส จำกัด ทุนจดทะเบียน 2 พันล้านบาท ที่เข้ามาถือหุ้นใหญ่ในยูนิเวนเจอร์ เป็นบริษัทที่ ฐาปน และ ปณต สิริวัฒนภักดี บุตรชายของเจริญ สิริวัฒนภักดี ลงทุนกันเป็นการ "ส่วนตัว" ไม่เกี่ยวกับกลุ่มทีซีซี

ดังนั้น ประเด็นที่มีการวิเคราะห์กันว่า ยูนิเวนเจอร์จะเข้ามาต่อจิ๊กซอว์อาณาจักรอสังหาฯ ในส่วนตลาดกลาง-ล่าง ขณะที่กลุ่ม ที.ซี.ซี.แลนด์ จะจับตลาดบนนั้น อรฤดีบอกว่า เราต้องยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง พิสูจน์ตัวเอง และต้องการอิสระในการทำงาน

อย่างไรก็ตาม นโยบายของยูนิเวนเจอร์ ค่อนข้างชัดเจนที่เน้นจับกลุ่มตลาดกลาง ซึ่งอยู่คนละ "ลู่แข่ง" กับกลุ่มที.ซี.ซี.แลนด์

ยิ่งถ้าจะถามถึงเรื่องว่าทางผู้ถือหุ้นใหม่ จะเอาที่ดินแลนด์แบงก์ของกลุ่มสิริวัฒนภักดี มาให้ยูนิเวนเจอร์พัฒนาโครงการด้วยมั้ย..นั่นก็เป็นเรื่องของอนาคตที่ยังไม่ได้คุยกัน ตอนนี้ ต้องพิสูจน์ตัวเราเองก่อน

"สิ่งที่เราขอจากเขาวันนี้ คือ เงินทุน หลังจากนั้นก็เป็นหน้าที่ของผู้บริหาร ที่ต้องพิสูจน์ความสามารถให้ผู้ถือหุ้นพอใจ ซึ่งถ้าถามถึง IRR หรือผลตอบแทนการลงทุน เขาไม่ได้กำหนดไว้ แต่ถ้าดูจากอดีตที่ผ่านมาของเรา ก็ต้องไม่ต่ำกว่า 25% แต่ทั้งนี้ขึ้นกับสถานการณ์และลักษณะของโครงการด้วย"

ล่าสุด ทางผู้ถือหุ้นใหม่กลุ่มสิริวัฒนภักดี ได้ขยายระยะเวลาทำคำเสนอซื้อ (เทนเดอร์ออฟเฟอร์) ออกไปเป็นวันที่ 3 ตุลาคม 2550 อย่างไรก็ตาม หากไม่มีผู้ถือหุ้นรายย่อยยื่นทำคำเสนอขาย เพราะราคาหุ้นในกระดานสูงกว่าราคาที่รับซื้อ 2.04 บาท กรณีนี้กลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่ คือ "อเดลฟอส" ก็ยังมีสัดส่วนในการถือหุ้นอย่างต่ำ 51.57% (แบ่งเป็นซื้อหุ้นเพิ่มทุน 452 ล้านบาท เข้าถือหุ้นในสัดส่วน 29.18% และซื้อจากกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่เดิมเพิ่มอีก 170 ล้านหุ้น)

จากแบ็คอัพของ "ผู้ถือหุ้นใหม่" ทำให้ยูนิเวนเจอร์มีความพร้อมในการรุกธุรกิจมากขึ้น โดยมีเงินสดที่ได้จากการขายหุ้นเพิ่มทุน และเงินสดเดิมของบริษัท พร้อมที่จะลงทุนโดยไม่ต้องกู้ราว "พันล้านต้นๆ" แต่ศักยภาพโครงการที่จะลงทุนได้จริงๆ ไปได้ถึงระดับ 5-6 พันล้านบาท เพราะตอนนี้ สัดส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทต่ำมาก แค่ 0.07 เท่า..แทบจะปลอดหนี้

มูฟเมนท์ "เกมรุก" ของยูนิเวนเจอร์ ในสังเวียนอสังหาฯ หลังจากได้ "ท่อน้ำเลี้ยง" และมาแบ็คอัพ "ทุนหนา" อย่างตระกูลสิริวัฒนภักดี สเต็ปแรกคือ การเปิดเกมเจรจาเพิ่มสัดส่วนถือหุ้นใหญ่ไม่ต่ำกว่า 60% ในบริษัท แกรนด์ยูนิตี้ ดีเวลล็อปเมนท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของ 3 ฝ่าย คือ ยูนิเวนเจอร์, แอลพีเอ็น และบริษัทเยาววงศ์ ในสัดส่วนเท่าๆ กัน 33.33% ขณะที่การร่วมทุนใน "ปริญเวนเจอร์" กับปริญสิริ นั้น จะยังคงสัดส่วนเดิม คือ 49%

"การปรับโครงสร้างถือหุ้นคาดจะสรุปในสิ้นเดือนนี้ หลังจากนั้น แกรนด์ยูนิตี้ฯ ก็คงจะกลับมารุกตลาดอีกครั้ง"

อรฤดีมองว่า ในช่วง 1-2 ปีนี้ จะเป็นช่วงของ "การลงทุน" ซึ่งคาดว่าจะเริ่มทยอยเปิดตัวโครงการใหม่ได้ตั้งแต่สิ้นปีเป็นต้นปี หลังจากนั้นคงต้องรออีก 2 ปี ถึงจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลจากการลงทุนใหม่ๆ โดยทิศทางของยูนิเวนเจอร์ ยังคงปักหลักการลงทุนที่ถนัด คือ อสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสินทรัพย์ที่ชะงักการดำเนินงาน (Distress Assets) ไม่ว่าจะเป็นโครงการสร้างค้าง หรือโครงการที่ประสบปัญหาการเงิน

"เบื้องต้น เรากำลังศึกษาความเป็นไปได้อยู่ 2-3 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 2,000 ล้านบาท คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นปี 2550 ตอนนี้มีโครงการที่เป็นเอ็นพีเอ หรือหยุดชะงักไปเยอะมากรวมกันเป็นแสนล้าน หลังจากช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจซบเซาลงมา ซึ่งเป็นโอกาสที่เราจะเข้าไปมองหาทำเลดีๆ เอามาพัฒนาต่อ ซึ่งการลงทุนของเราอาจไม่ต้องเป็นโปรเจคใหญ่ แต่อาจทำโครงการที่จบเร็ว รับรู้รายได้เร็ว และการมีเงินทุนมากขึ้น ทำให้สามารถพัฒนาหลายๆ โครงการได้พร้อมกัน"

นอกจากนี้ ยังสนใจรุกสู่การลงทุนโครงการระยะยาว ในลักษณะ Long Term Asset ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยง และสร้างรายได้ระยะยาวที่แน่นอนให้กับบริษัท

ทั้งนี้ ทิศทางการลงทุนของยูนิเวนเจอร์ จากนี้ไปจะโฟกัสที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ประมาณ 78% รองลงมาคือ ลงทุนธุรกิจผลิตและจำหน่ายสังกะสีออกไซด์ (ธุรกิจเดิม) ซึ่งเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมยางรถยนต์ 12% และที่เหลือเป็นการลงทุนในธุรกิจพลังงาน และธุรกิจอื่นๆ

---------------------------

 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com