May 4, 2024   8:35:12 AM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > กลับมาแล้วครับ !! ประเดิมด้วย วอร์แรนต์หลบภัยหุ้นใหญ่ผันผวน
 

kaisel
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 3,380
วันที่: 26/10/2007 @ 04:25:13
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

จังหวะนี้ต้องลุยวอร์แรนต์ เก็งกำไรช่วงหุ้นใหญ่พักฐาน เหตุราคาขึ้น-ลงเร็ว มีช่องเก็งกำไรง่ายกว่าหุ้นใหญ่ โบรกเกอร์แนะกลยุทธ์เด็ด ต้องเน้นเลือกที่มีวอลุ่มหนา อาทิ CIG-W1, STEC-W2, CCET-W1, NNCL-W1, EMC-W1 และ TKS-W1 ขณะที่น้องใหม่ TCC-W1 และ UMS-W1 เตรียมออกวาดลวดลายแล้ว พ.ย.นี้

* ดัชนีฯ จับมือหุ้นบิ๊กแคปเดินหน้าเข้าสู่ช่วงพักฐาน
ขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กำลังเข้าสู่ช่วงพักฐาน ซึ่งคาดว่าจะเป็นกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ ที่ดัชนีฯ จะปรับลดลงอีกรอบ นั่นรวมถึงหุ้นบิ๊กแคปที่กำลังเข้าสู่ช่วงพักฐานเช่นกัน หลังจากก่อนหน้านี้ราคาหุ้นปรับขึ้นอย่างรุนแรง และมูลค่าการซื้อขายเป็นไปอย่างคึกคัก ล่าสุด 24 ตุลาคม 2550 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 866.03 จุด เพิ่มขึ้น 5.94 จุด หรือ 0.69% มูลค่าการซื้อขาย 17,349.39 ล้านบาท

โดยหุ้นบิ๊กแคปเริ่มชะลอความร้อนแรงลง โดยเฉพาะ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ที่ราคาทรงตัวที่ 254 บาท หลังจากประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 3/50 ปรากฏว่ามีกำไรสุทธิลดลงเหลือ 7.54 พันล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไร 7.59 พันล้านบาท ขณะที่งวด 9 เดือน มีกำไร 2.45 หมื่นล้านบาท จาก 2.47 หมื่นล้านบาทปีก่อน ซึ่งผู้บริหารยอมรับว่าตลอดปี 50 รายได้อาจพลาดเป้าจากที่คาดว่าจะโต 5% จากปีก่อน หลังเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว

* ลุยวอร์แรนต์ช่วงหุ้นใหญ่พักฐาน
การปรับตัวของดัชนีฯ และหุ้นบิ๊กแคป ได้เปิดทางให้หุ้นขนาดกลางถึงเล็ก รวมทั้งใบสำคัญแสดงสิทธิ หรือ วอร์แรนต์ ที่ราคาไม่แพง ซื้อง่ายขายคล่อง ได้มีโอกาสผงาดขึ้นติดกระดานหุ้นไทยอีกครั้ง ขณะที่โบรกเกอร์เองได้แนะนำให้เลือกลงทุนในหุ้นดังกล่าว โดยต้องเน้นที่มีสภาพคล่อง และปริมาณการซื้อขายหนาแน่น

โดยนายภูวดล ลาภอุดมสุข ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน สายงานวิจัย บล.เอเซียพลัส กล่าวว่า สาเหตุที่ใบสำคัญแสดงสิทธิ์ในการซื้อหุ้นสามัญ หรือ วอร์แรนต์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นในวันนี้ เนื่องจากตลาดอยู่ในช่วงพักฐาน คือ มีการปรับขึ้นลงสลับกัน ทำให้นักลงทุนเข้ามาเล่นหุ้นประเภทดังกล่าว เพราะมีราคาถูก และเหตุที่ราคาขึ้นลงเร็วทำให้มีช่องทางในการเก็งกำไรง่ายกว่าหุ้นขนาดใหญ่ที่จะปรับตัวขึ้นลงได้ยากในช่วงที่ตลาดปรับฐาน

* เปิดโผหุ้นเด่น CIG-W1, STEC-W2, CCET- W1, CCET-W2 และ TSTH-W1
นายภูวดล กล่าวต่อว่า บริษัทฯ แนะนำ ซื้อเก็งกำไร ในใบสำคัญแสดงสิทธิ์เหล่านี้ แต่ต้องเลือกที่มีมูลค่าการซื้อขายค่อนข้างหนาแน่น อาจจะ 2 ล้านบาทขึ้นไป เช่น CIG-W1, STEC-W2, CCET-W1, CCET-W2 และ TSTH-W1 ซึ่งมีมูลค่าการซ์อขายค่อนข้างหนาแน่น โดย CIG-W1 มีแนวต้านที่ 3.7 บาท แนวรับ 3.5 บาท, STEC-W2 มีแนวต้านที่ 1.50 บาท แนวรับที่ 1.40 บาท และ CCET-W1 มีแนวต้านที่ 2.5 บาท แนวรับ 2.4 บาท, CCET-W2 มีแนวต้านที่ 5.5 บาท แนวรับ 5.2 บาท และ TSTH-W1 มีแนวต้านที่ 0.65 บาท แนวรับที่ 0.60 บาท, NNCL-W1 มีแนวรับ 1.57 บาท แนวต้าน 1.65 บาท และ EMC-W1 ที่มีปริมาณการซื้อขายเข้ามาหนาแน่นวานนี้ (24 ต.ค.)

อย่างไรก็ตาม นายศราวุธ เตโชชวลิต ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ กล่าวว่า ราคาใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้นของ บมจ.ซี.ไอ.กรุ๊ป หรือ CIG-W1 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในการซื้อขายวานนี้ ว่า เป็นตามสัญญาณทางเทคนิคที่ดี แต่เนื่องจากในขณะนี้ราคาเริ่มเข้าเขตซื้อมากเกินไป จึงแนะนำขายสำหรับนักลงทุนที่ถือหุ้นอยู่ ส่วนนักลงทุนที่ยังไม่มีหุ้น แนะนำหลีกเลี่ยง โดยประเมินแนวรับไว้ที่ 3.40 บาท และแนวต้าน 3.70 บาท แต่หากผ่านได้จะเจอแนวต้านถัดไป 3.80 บาท

ส่วนนายรณกฤต สารินวงศ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.แอ๊ดคินซัน กล่าวว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาวอร์แรนต์ไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าที่ควร เนื่องจากหลายตัวราคาเริ่มผันผวน จึงทำให้วอร์แรนต์ค่อนข้างที่จะเข้าซื้อเก็งกำไรลำบาก

แต่อย่างไรก็ตาม วอร์แรนต์ที่น่าสนใจซื้อเก็งกำไรในขณะนี้ คือ CCET-W1 โดยประเมินแนวรับที่ 2.40 บาท แนวต้าน 2.60 บาท, GEN-W1 แนวรับ 0.52 บาท แนวต้าน 0.58 บาท, TKS-W1 แนวรับ 1.50 บาท แนวต้าน 1.65 บาท และ NNCL-W1 แนวรับ 1.60 บาท และแนวต้าน 1.70 บาท

นายรณกฤต กล่าวว่า แนวโน้มดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยในระยะสั้นนี้มีโอกาสที่ปรับตัวลดลงต่อ เนื่องจากยังมีปัจจัยลบส่วนใหญ่ยังคงมาจากต่างประเทศ และขณะนี้นักลงทุนเริ่มกลับมากังวลปัญหาการปล่อยกู้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ให้กับลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูง หรือ ซับไพร์ม อีกครั้ง บวกกับนักลงทุนส่วนหนึ่งยังคงกังวลกรณีที่ทางการอินเดียออกมาตรการสกัดเงินทุนไหลเข้า และแรงกดดันจากตลาดหุ้นในภูมิภาคที่ค่อนข้างผันผวน โดยปัจจัยดังกล่าวล้วนแต่ส่งผลกระทบมายังการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเช่นกัน

* แนะจะลุยต้องดูภาวะตลาดฯ ด้วย
นายฉัตรชัย กิจธิคุณ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ สินเอเซีย กล่าวว่า ขณะนี้วอร์แรนต์น่าสนใจค่อนข้างมาก เนื่องจากราคาหุ้นขนาดใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปค่อนข้างสูง แต่อย่างไรก็ตาม หากนักลงทุนสนใจเข้าซื้อวอร์แรนต์ก็ควรจะตระหนักถึงสภาวะการซื้อขายโดยรวมของตลาดฯ

ทั้งนี้เพราะโดยส่วนใหญ่ราคาวอร์แรนต์มักจะปรับตัวขึ้นลงตามทิศทางการเคลื่อนไหวของดัชนีฯ เช่นกัน ทั้งนี้หากเมื่อดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปสูง ก็แนะนำให้นักลงทุนขายเพื่อทำกำไรออกมาก่อน แล้วถ้าหากสนใจอาจจะหวนกลับเข้าไปซื้อเก็งกำไรได้ภายหลังเมื่อราคาปรับตัวลดลง
อีกทั้ง ให้จับตาดูทิศทางการเคลื่อนไหวของดัชนีฯ เพราะในช่วงการซื้อขายผ่านมา เริ่มมีแรงขายทำกำไรออกมาบางส่วนแล้วเช่นกัน

* นับตังค์รอน้องใหม่ TCC-W1 และ UMS-W1 เข้าเทรด พ.ย.นี้
นอกจากหลากหลายวอร์แรนต์ที่ได้รับความสนใจแล้ว ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ตลาดฯ จะได้รับน้องใหม่ที่จะเข้าเทรดอีก 2 ราย คือ วอร์แรนต์ของ บมจ.ไทย แคปปิตอล คอร์ปอเรชั่น หรือ TCC-W1 และ วอร์แรนต์ของ บมจ.ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส หรือ UMS-W1

โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อนุมัติให้ออกและเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิ (TCC-W1) ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม จำนวน 331,230,087 หน่วย โดยจะจัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมในอัตราส่วน 2.25 หุ้นสามัญเดิม ต่อ 1 ใบสำคัญแสดงสิทธิ ราคาใช้สิทธิ 1.00 บาทต่อหุ้น กำหนดวันปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น เพื่อสิทธิในการได้รับจัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิ TCC-W1 ในวันที่ 30 ตุลาคม 2550 และกำหนดวันออกใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ (TCC-W1) ในวันที่ 31 ตุลาคม 2550

ส่วน UMS-W1 จะออกและเสนอขาย จำนวน 70,000,000 หน่วย โดยไม่คิดมูลค่าให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมในอัตราส่วน 2 หุ้นสามัญเดิม ต่อ 1 ใบสำคัญแสดงสิทธิ ราคาใช้สิทธิหุ้นละ 8.50 บาท อัตราการใช้สิทธิ คือ ใบสำคัญแสดงสิทธิ 1 หน่วยต่อหุ้นสามัญ 1หุ้น กำหนดวันปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นเพื่อสิทธิในการได้รับจัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิ วันที่ 31 ตุลาคม 2550 และวันที่ออกและเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิ คือวันที่ 6 พฤศจิกายน 2550



:lol:

 กลับขึ้นบน
kaisel
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 3,380
#1 วันที่: 26/10/2007 @ 04:28:34 :
วัดใจ "ลีสวัสดิ์ตระกูล" จับ 4 บริษัทประกอบร่าง
* ตะลึง RICH เพิ่มทุนเท่าตัว 1 พันลบ.ใช้หนี้เงินกู้




ได้เวลาพิสูจน์ "ลีสวัสดิ์ตระกูล" จับ GSTEEL - RICH-AMC-MILL ควบรวม เสริมสร้างความแข็งแกร่ง ความสามารถแข่งขัน และทำธุรกิจเหล็กครบวงจแห่งแรกในประเทศ โดยมี GSTEEL เป็นเซ็นเตอร์ หลังปีหน้า จีน ญี่ปุ่น เป็นอิสระหลุดเอดีจากรัฐบาล อาจหนุนเหล็กนำเข้าตีตลาดผู้ประกอบการไทยกระจุย วงการชี้ งานนี้ขึ้นอยู่กับผู้บริหาร แต่เชื่อควบรวมตอนนี้อาจไม่ประโยชน์ เหตุธุรกิจเหมือนกัน แถมภาพรวมยังไม่ดี ขณะที่บอร์ด RICH ประกาศ เพิ่มทุน 500 ล้านหุ้น สัดส่วน 1:1 หุ้นละ 2 บาท ใช้หนี้ และเป็นทุนหมุนเวียน อีกทั้งยังรองรับขยายธุรกิจปีหน้า หลังมองศก.กลับมาคึกคัก ด้าน บิ๊ก GSTEEL มองเหล็กจากนี้ถึงปี 51 เป็นช่วงขาขึ้น จากราคาเหล็กที่ทรงตัวในระดับสูง

กลับมาได้รับความสนใจจากนักลงทุนอีกครั้งสำหรับหุ้นกลุ่มเหล็ก ที่พักหลังๆเงียบหายไปหลังจากผลประกอบการในขวบปีที่ผ่านมา ต่อเนื่องจนถึงครึ่งปีแรก ไม่สดใสนัก บางบริษัทก็ยังมีตัวเลขขาดทุนให้เห็น จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ที่หุ้นในกลุ่มเหล็กเริ่มกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง โดยเฉพาะประเด็นควบรวมกิจการที่เป็นเรื่องร้อนและสตอรี่ใหม่ของหุ้นในกลุ่มนี้ เนื่องจากภาวะการแข่งขันของอุตสาหกรรมเหล็กที่รุนแรงยิ่งขึ้น ทำให้การควบรวมกิจการของธุรกิจดังกล่าวมีความจำเป็นมากยิ่งขึ้น เพื่อความอยู่รอดและเสริมสร้างศักยภาพของกันและกัน เช่นการรวมกันของ บริษัท มิลเลนสตีล หรือ MS กับ ทาทา สตีล อินดัสทรีส์ ยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมเหล็กจากประเทศอินเดีย มาเป็น บมจ. ทาทา สตีล (ประเทศไทย) หรือ TSTH ดังนั้นเมื่อการควบรวมทำได้สำเร็จ และสนับสนุนให้ธุรกิจดีขึ้นก็ย่อมมีข่าวตามมาอีกมากว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ผลิตเหล็กในประเทศรายหลาย พร้อมที่จะเดินตามรอยของ TSTH

โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเหล็กของ ตระกูล "ลีสวัสดิ์ตระกูล" ที่ปัจจุบันมีหุ้นใหญ่ ในบริษัทผลิตเหล็กในตลาดหลักทรัพย์ถึง 3 แห่งด้วยกัน ประกอบด้วย บมจ. จี สตีล (มหาชน)บมจ.เอเซีย เมทัล (AMC) บมจ. ริช เอเชีย สตีล (RICH) และอีก 1 บริษัทที่กำลังจะเข้าจดทะเบียนในตลาดฯ วันที่ 6 พฤศจิกายนนี้ คือ บมจ. มิลล์คอนสตีล อินดัสทรีส์ (MILL) ที่ก็มีตระกูลดังกล่าวกุมบังเหียนเช่นเดียวกัน ซึ่งในส่วนของ GSTEEL นั้น แม้จะไม่มีการเปิดเผยรายชื่อผู้ถือหุ้น แต่ก็เป็นที่รู้กันว่าเป็นบรษัทที่อยู่ในเครือข่ายของตระกูลดังกล่าว ขณะที่ AMC นั้นก็ได้รับการเปิดเผยจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ว่า คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และกรรมการ ของ GSTEEL ได้เข้ามาซื้อหุ้นAMC รวดเดียวถึง 16.67% จากนายชูศักดิ์ ยงวงศ์ไพบูลย์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ขณะนี้เหลือสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ 21.1% โดยเป็นการซื้อผ่านการทำรายการบิ๊กล็อต เมื่อวันที่ 20 กันยายน ที่ผ่านมา จำนวน 80 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 3 บาท รวมมูลค่า 240 ล้านบาท

ซึ่งการซื้อขายครั้งนี้ได้รับการยืนยันว่า เป็นขายส่วนตัว ให้กับคุณปญิงปัทมาซึ่งถือเป็นบุคคลที่มีความรู้และมีประสบการณ์ ในอุตสาหกรรมเหล็กเป็นอย่างดี น่าจะช่วย
หนุนให้บริษัทมีความมั่นคง แข็งเกร่งมากขึ้น ในด้านการสนับวัตถุดิบให้กับบริษัทในระยะยาวหากเกิดความผันผวนในการขาดแคลนวัตถุดิบ โดยคุณหญิงปัทมาไม่ประสงค์จะเข้ามาร่วมในการบริหารงานแต่อย่างใด เนื่องจากมีความสนใจที่จะลงทุนในบริษัท และมองว่าบริษัทมีอัตราความเติบโตที่ดีและสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

นอกจาก GSTEEL และ AMC ที่กลุ่มลีสวัสดิ์ตระกูลเข้าไปถือหุ้น ก็ยังมี RICH ที่ปรากฎชื่อ นาง ลัดดา ลีสวัสดิ์ตระกูล เป็นผู้ถือหุ้นจำนวน 0.60% ส่วน MILL หุ้นน้องใหม่ตระกูลเหล็กเหมือนกันนั้น กลุ่มลีสวัสดิ์ตระกูลก็ถือหุ้นใหญ่ถึง 56.26% และจะลดสัดส่วนลงเหลือ 42.19% หลังจากขายหุ้นไอพีโอเรียบร้อยแล้ว โดยมีนายสิทธิชัย ลีสวัสดิ์ตระกูล เป็นกรรมการผู้จัดการ ซึ่งถือเป็นหลานของนาย สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล กรรมการคนสำคัญของ GSTEEL อีกด้วย

ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากโครงสร้างผู้ถือหุ้นที่เกี่ยวพันกันแล้ว หุ้นพี่น้องกลุ่มเหล็ก อย่าง GSTEEL RICH AMC และ MILL จึงถูกจับตามองมาโดยตลอดว่าในอนาคตจะมีการควบรวมกิจการของบริษัทเครือญาติดังกล่าว โดยมีพี่ใหญ่ GSTEEL เป็นศูนย์กลางในการควบรวม เนื่องจากเมื่อดูจากธุรกิจที่ทำแล้วนั้น GSTEEL ถือเป็นผู้ผลิตแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน
ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ต้นน้ำของอุตสาหรรมเหล็กแผ่น ซึ่งถือเป็นผู้ผลิตสำคัญที่จะเชื่อมโยงธุรกิจเหล็กกลางน้ำ และปลายน้ำไว้ทั้งหมด เพราะ RICH และ AMC ทำธุรกิจเป็นผู้ซื้อมาขายไปเหล็ก โดย AMC นั้นยังผลิตเหล็กแปรรูปประเภทท่อเหล็กอีกด้วย ขณะที่ MILL นั้นจำหน่ายเหล็กเส้นและเหล็กข้ออ้อย ที่จำเป็นต้องอาศัยเหล็กต้นน้ำจาก GSTEEL อีกทั้งขนาดของ GSTEEL ก็ยังใหญ่กว่าอีก 3 บริษัทที่ลีสวัสดิ์ตระกูลถืออยู่ หากมีการควบรวมกิจการกันจริงก็น่าจะเป็นแกนนำในการควบรวมที่เหมาะสมที่สุด

โดยโรงงานผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนของ GSTEEL รองรับการผลิตได้สูงสุดถึง 3.4 ล้านตัน และปัจจุบันมีแผนลงทุนในโครงการขยายกำลังการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนจาก 1.8 ล้านตัน เป็น 3.4 ล้านตัน อยู่ระหว่างดำเนินการเพิ่มสายการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง ด้วยการติดตั้งเครื่องรีดผิวเรียบ (Skinpass Mill) และเครื่องล้างผิวและเคลือบน้ำมัน (Pickling & Oiling Mill) เพื่อตอบสนองและครอบคลุมความต้องการของลูกค้าได้อย่างทั่วถึง ซึ่งแผนลงทุนดังกล่าวงนี้ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแล้ว คาดว่าการก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักรจะแล้วเสร็จในปลายปีนี้
สำหรับทุนจดทะเบียนของ GSTEEL ปัจจุบันอยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท RICH มีทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท AMC ทุนจดทะเบียน 549.97 ล้านบาท และ MILL มีทุนจดทะเบียน 400 ล้านบาท


* โอกาสควบรวม GSTEEL-RICH-MILL มีมากที่สุด
แหล่งข่าวจากวงการเหล็ก กล่าวถึงความเป็นไปได้ในการควบรวมกิจการของบริษัทเหล็กทั้ง 4 บริษัท ว่า มีความเป็นไปได้ในอนาคตที่จะดำเนินการได้ เพราะหากมีการควบรวมกันจริง เท่ากับว่าอุตสาหกรรมเหล็กของลีสวัสดิ์ตระกูล จะเป็นธุรกิจที่ครบวงจรที่สุด ตั้งแต่ต้นน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำเลยทีเดียว และก็ยังช่วยสร้างความแข็งแกร่ง และศักยภาพในการผลิตและจำหน่าย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับบริษัทได้เป็นอย่างดี ยิ่งในสภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมเหล็กของโลกที่รุนแรงขึ้น ก็ยิ่งมีความจำเป็นที่บริษัทเหล็กจะต้องรวมตัวกัน เพื่อความอยู่รอดให้ได้ อีกทั้งปีหน้าการเก็บเอดี หรือการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าของประเทศหลายแห่งกำลังจะหมดลง อย่างเช่น จีน และ ญี่ปุ่น ก็ยิ่งทำให้ผู้ประกอบการเหล็กในประเทศต้องมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นอีกมาก

" GSTEEL หนักแน่หากเอดีเหล็กหมดลง แล้วยิ่งเป็นเหล็กต้นน้ำ หรือเป็นวัตถุดิบในการผลิตด้วยแล้ว หากจีน และญี่ปุ่น รวมถึงอินเดีย ส่งออกเหล็กเข้ามาตีตลาดบ้านเราได้มากขึ้น สะดวกขึ้นเมื่อไม่มีเอดี ก็ยิ่งสร้างความลำบาก เพราะผู้ประกอบการเหล้กของบ้านเราไม่น้อยที่อาจจะนำเข้าเหล็กจะประเทศเหล่านี้เข้ามา แถมยังตีตลาดโดยการกดราคาให้ถูกลงอีก ก็ยิ่งสร้างความเสียเปรียบได้มากขึ้น ดังนั้น GSTEEL จะต้องหาทางเพื่อให้อยู่รอด ไม่ให้มีปัญหาเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าควบรวมกันได้ ก็น่าจะเพิ่มอำนาจในการแข่งขันได้มากขึ้น เพราะตอนนี้ถ้าเรามองธุรกิจเหล็กกลุ่มนี้จะเห็นว่าครบวงจรมากๆ หากทำได้จริงก็น่าจะส่งผลดี เพียงแต่จะเร็วหรือช้าเท่านั้น" แหล่งข่าว กล่าว
อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่า การควบรวมนั้น ถ้าจะสามารถทำได้จริงอาจจะมีเพียงแค่ 3 บริษัท คือ GSTEEL RICH และ MILL มากกว่า เพราะถือว่าเป็นเครือญาติ สายเลือดทางธุรกิจดีกว่า ในขณะที่ AMC นั้นยังไม่ใช่ญาติสนิท เพราะเพิ่งจะเข้าไปลงทุนได้ไม่นานนัก

ทั้งนี้ข่าวการควบรวมดังกล่าว ก็ยังเป็นเพียงแค่ข่าวที่สร้างสตอรี่ให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนเท่านั้น และอาจช่วยให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นเพียงชั่วคราว ตามข่าวที่ออกมาเท่านั้น ขณะที่ความเป็นจริง หรือความเป็นไปได้ของการควบรวมยังไม่มีการยืนยันจากปากของผู้บริหาร ซึ่งนักลงทุนเองก็จะต้องระมัดระวังด้วยเช่นกัน ก่อนที่จะเข้าไปลงทุนโดยตรวจสอบข่าวให้ชัดเจนก่อน ซึ่งคาดว่าในปีหน้าน่าจะมีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าวมากขึ้น หลังจาก MILL เข้าเทรดในตลาดฯ ไปแล้วซักระยะหนึ่ง
" ตอนนี้คงต้องวัดใจทางกลุ่มลีสวัสดิ์ตระกูลมากกว่า ว่าจะตัดสินใจอย่างไร จะควบรวมเพื่อผนึกกำลังกัน หรือว่าต่างคนต่างประกอบธุรกิจกันไป แต่ความสามารถการแข่งขันอาจจะลดลง ซึ่งผมเชื่อว่าเรื่องนี้ตอนนี้กลุ่มนี้ก็คือดหนักเหมือนกันว่าจะทำอย่างไร เพราะตอนนี้ถ้ามองควบรวมอีกว่าแน่หากมองในระยะยาว" แหล่งข่าวรายเดิม กล่าว


* ASP ชี้ ไม่ถึงเวลา GSTEEL-AMC-RICH-MILL ควบรวม เหตุภาพรวมตลาดฯยังไม่ดี
นายภูวดล ลาภอุดมสุข ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า จากการที่อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศปีนี้ชะลอตัวลงอย่างมาก จากสถานการณ์ราคาเหล็กมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็กเพิ่มขึ้นตาม ดังนั้นจึงอาจมีความเป็นไปได้ ที่ทำให้ผู้ประกอบการจะมีการควบรวมกิจการกัน เพื่อทำให้ธุรกิจมีความแข็งแกร่งมากขึ้น
" อย่างไรก็ตามในแต่ละครั้งเมื่อภาพรวมอุตสาหกรรมเหล็กชะลอตัวลง ก็จะมีกระแสข่าวออกมาบ่อยครั้งจะมีการควบรวมกัน แต่สุดท้ายก็ไม่มีเหตุการณ์การควบรวมกิจการเกิดขึ้น" นายภูวดล กล่าว

ทั้งนี้ ได้ประเมินว่า กลุ่มบริษัทผู้ประกอบการธุรกิจเหล็ก ทั้ง บมจ. จี สตีล (GSTEEL) บมจ.เอเซีย เมทัล (AMC) บมจ.ริช เอเชีย สตีล (RICH) และบมจ.มิลล์คอนสตีลอินดัสทรีส์ (MILL) ซึ่งมีกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นตระกูลเดียวกัน ยังไม่น่าจะมีการควบรวมกิจการกัน เนื่องจากมองว่าราคาหุ้นในกระดานของหุ้นกลุ่มเหล็กยังไม่ปรับเพิ่มขึ้น ดังนั้นหากควบรวมกันจึงอาจจะไม่มีประโยชน์เท่าไรนัก โดยแนะนำให้ หลีกเลี่ยง หุ้นในกลุ่มเหล็ก เนื่องจากมีสภาพคล่องน้อย ประกอบกับเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาภาครัฐ และการแข่งขันในธุรกิจที่สูง จึงทำให้การปรับขึ้นของราคาหุ้นในกลุ่มเหล็กนั้นค่อนข้างลำบาก

อย่างไรก็ดี มองว่ากรณีที่ผู้ประกอบการเหล็กเตรียมที่จะยื่นขอปรับขึ้นราคาเหล็กกับทางกระทรวงพาณิชย์นั้น จะไม่มีประโยชน์ หากว่าความต้องการใช้เหล็กภายในประเทศยังไม่มี ดังนั้นปรับขึ้นราคาสินค้าเหล็กอาจจะไม่สามารถช่วยเพิ่มยอดขายได้ แต่ทั้งนี้ผู้ประกอบการเองจำเป็นที่ต้องปรับเพิ่มขึ้นราคาเพราะต้นทุนเรื่องราคาเหล็กนั้นสูงขึ้น
โดยประเมินแนวโน้มราคาเหล็กในตลาดโลกว่า ยังคงมีโอกาสปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการที่เศรษฐกิจของจีน และอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกหลักในสินค้าเหล็ก ยังคงมีอัตราการขยายตัวที่สูง ขณะเดียวกันมองว่าการที่ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่ากว่าค่าเงินหยวนของจีน อาจจะทำให้ต้องมีการนำเข้าเหล็กจากจีนมากขึ้น เนื่องจากในไทยเองไม่มีสินแร่เหล็ก ดังนั้นจึงต้องพึ่งพาเหล็กที่นำเข้ามา


* บล.กรุงศรีฯ ควบรวมหรือไม่ อยู่ที่ผู้บริหารตัดสินใจ
นักวิเคราะห์ บล.กรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีนี้ ยอดขายสินค้าเหล็กของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็กจะยังคงชะลอตัว จากปัจจัยเรื่องของราคาเหล็กในตลาดโลกที่ยังคงมีแนวโน้มปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ความต้องการเหล็กภายในประเทศยังไม่มี จากการที่งานก่อสร้างภายในประเทศชะลอตัว และยังไม่มีโครงการเมกะโปรเจ็กเข้ามาช่วยกระตุ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่สามารถที่จะผลักราคาขึ้นไปให้อยู่ในระดับที่เท่ากับราคาในตลาดโลกได้

อย่างไรก็ตามเชื่อว่าภาพรวมอุตสาหกรรมเหล็กจะค่อยๆปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับภายหลังจากที่การเมืองภายในประเทศมีความชัดเจน และทางภาครัฐสามารถเริ่มโครงการก่อสร้างเมกะโปรเจ็ก ซึ่งจะเห็นการปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 51

โดยจากภาวะการชะลอของภาคอุตสาหกรรมเหล็ก จึงอาจจะทำให้มีความเป็นไปได้ที่ อาจจะเห็นการควบรวมกิจการกัน ซึ่งการควบรวมกิจการนั้นคงจะต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเจ้าของบริษัทฯว่าจะเป็นเช่นไร แต่หากว่าการที่เจ้าของเป็นคนใกล้ชิดกันอาจทำให้การควบรวมกิจการนั้นง่ายขึ้น

ในส่วนบมจ. จี สตีล (GSTEEL) บมจ.เอเซีย เมทัล (AMC) บมจ.ริช เอเชีย สตีล (RICH) และบมจ.มิลล์คอนสตีลอินดัสทรีส์ (MILL) ซึ่งมีกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นตระกูลเดียวกัน จะมีความเป็นไปได้ว่าจะมีการควบรวมกิจการหรือไม่นั้น ยังไม่สามารถประเมินได้ เพราะสุดท้ายคงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้บริหาร ทั้งนี้มองว่าการที่บริษัทที่ทำธุรกิจลักษณะเหมือนกัน หากควบรวมกิจการอาจจะไม่เกิดประโยชน์อะไร

ส่วนภาพรวมของหุ้นในกลุ่มเหล็กนั้น ยังคงให้น้ำหนักแบบเป็นกลาง เพราะราคาของหุ้นในกลุ่มดังกล่าวค่อนข้างต่ำ ไม่ค่อยมีการซื้อขายมากนัก ขณะที่ปัจจัยบวกที่มีเข้ามาสนับสนุนก็ยังไม่มีปัจจัยใดๆที่โดดเด่น แต่อย่างไรก็ตาม แนะนำ ซื้อ หุ้น บมจ.ทาทา สตีล (ประเทศไทย) หรือ TSTH แม้ว่าปริมาณการขายจะยังไม่ค่อยดี แต่ทั้งนี้จากการที่บริษัทฯมีมาร์เก็ตแชร์สูงกว่า ประกอบกับนำเอาเศษเหล็กมาหลอมรีไซเคิลใหม่ ทำให้สามารถประหยัดต้นทุนได้ดีกว่าบริษัทฯอื่นที่พึ่งพาการนำเข้าเหล็กแท่ง (บิลเล็ต)เข้ามาเพื่อรีดเป็นเหล็กเส้น ทำให้บริษัทฯสามารถทำกำไรได้ดีกว่า โดยให้ราคาเหมาะสมไว้ที่ 2.10 บาท


* RICH ประกาศเพิ่มทุน 500 ล้านหุ้น สัดส่วน 1:1 หุ้นละ 2 บาท

นายสมเกียรติ วงศาโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ริช เอเชีย สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ RICH เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 8/2550 เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2550 ได้มีมติอนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทจาก 500 ล้านบาทเป็น 1,000 ล้านบาท โดยออกหุ้นสามัญใหม่จำนวน 500 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท รวม 500 ล้านบาท ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการคืนหนี้เงินกู้สถาบันการเงินและสำรองเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท

พร้อมกันนี้ อนุมัติการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวน 500 ล้านหุ้นมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท มูลค่ารวม 500 ล้านบาท เพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทที่มีรายชื่อ ณ วันปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นเพื่อสิทธิในการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน ในสัดส่วน 1 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นใหม่ ในราคาหุ้นละ 2 บาท
ทั้งนี้ บริษัทจะทำการปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นเพื่อสิทธิในการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนในวันที่ 14กุมภาพันธ์ 2551 เวลา 12.00 น. และกำหนดวันจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนและรับชำระเงินในวันที่ 17 - 21 มีนาคม 2551 ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่จองซื้อและรายละเอียดอื่น ๆ มอบหมายให้ ประธานกรรมการบริหาร และ/หรือบุคคลที่ได้รับมอบหมาย กำหนดรายละเอียดดังกล่าวต่อไป
ในกรณีที่มีหุ้นที่เหลือจากการจองตามสิทธิ ให้คณะกรรมการบริษัท และ/หรือบุคคลที่คณะกรรมการบริษัทมอบหมายมีอำนาจในการจัดสรรหุ้นที่เหลือจากการจองซื้อของผู้ถือหุ้นเดิมตามสิทธิ ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมที่ได้แสดงเจตนาจองซื้อหุ้นเกินกว่าสิทธิ ตามวิธีการดังนี้

จึงได้กำหนดวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2550 ในวันที่ 14 ธันวาคม 2550 เวลา 9.00 น.และกำหนดวันปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้น เพื่อกำหนดสิทธิของผู้ถือหุ้นในการเข้าร่วมประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2550 ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2550 เวลา 12.00 น. เป็นต้นไป จนกว่าที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2550 จะแล้วเสร็จน ปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้น เพื่อสิทธิในการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน 14 กุมภาพันธ์ 2551 และกำหนดวันจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนและรับชำระเงินค่าหุ้น 17 - 21 มีนาคม 2551


* นำเงินที่ได้จากการเพิ่มทุน 1 พันลบ.ใช้หนี้เงินกู้-เป็นทุนหมุนเวียน
นายสมเกียรติ กล่าวว่า สาเหตุที่บริษัทเพิ่มทุนจำนวน 500 ล้านหุ้น เสนอขายให้ผู้ถือหุ้นเดิมสัดส่วน 1 ต่อ 1 ราคาเสนอขายหุ้นละ 2 บาท เพื่อใช้คืนเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน และ เพื่อสำรองเป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท สำหรับประโยชน์ที่บริษัทจะพึงได้รับจากการเพิ่มทุน/จัดสรรหุ้นเพิ่มทุน มีเงินทุนเพื่อใช้คืนหนี้เงินกู้สถาบันการเงิน เพื่อลดต้นทุนทางการเงิน และมีเงินทุนเพื่อสำรองใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทในอนาคต เสริมสร้างโครงสร้างทุนให้มีความเหมาะสมและแข็งแกร่งขึ้น

ส่วนประโยชน์ที่ผู้ถือหุ้นจะพึงได้รับจากการเพิ่มทุน/จัดสรรหุ้นเพิ่มทุน บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคล และสำรองตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม บริษัทอาจกำหนดให้การจ่ายเงินปันผลมีอัตราน้อยกว่าอัตราที่กำหนดข้างต้นได้ โดยขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงาน ฐานะการเงิน สภาพคล่อง ความจำเป็นในการใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน การขยายธุรกิจ และปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการบริหารงานของบริษัท
ทั้งนี้ ผู้จองซื้อหุ้นเพิ่มทุนครั้งนี้จะมีสิทธิเท่าเทียมผู้ถือหุ้นเดิมทุกประการ ดังนั้น ภายหลังจากที่บริษัทได้ดำเนินการล้างขาดทุนสะสมแล้วเสร็จ และมีกำไรจากการดำเนินงาน ผู้จองซื้อหุ้นดังกล่าวจะมีสิทธิได้รับเงินปันผลตามนโยบายที่กล่าวไว้ในข้อ เมื่อคณะกรรมการบริษัท และ/หรือ ที่ประชุมผู้ถือหุ้น มีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น
" การเพิ่มทุนเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับแผนขยายธุรกิจในปี 2551 โดยประเมินว่าสถานการณ์ของเศรษฐกิจจะกลับมาคึกคักโดยเฉพาะความชัดเจนเกี่ยวกับโครงการทางด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน ที่จะเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้ความเชื่อมั่นกลับมาและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ"
อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่า กว่าเงินจะเข้ามาก็ประมาณเดือน มี.ค.2551 ซึ่งก็เป็นการวางแผนล่วงหน้าสำหรับการเตรียมความพร้อมของบริษัท ซึ่งมองว่าปีหน้าเศรษฐกิจจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง ตรงนี้ก็ถือเป็นการเตรียมความพร้อมเอาไว้ ทั้งเรื่องของการแบ่งเงินนำไปชำระหนี้ เพื่อให้ฐานะทางการเงินมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น และเงินอีกส่วนเก็บไว้ใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการขยายธุรกิจนายสมเกียรติกล่าว

สำหรับเงินที่จะได้จากการเพิ่มทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท จะแบ่งใช้เป็น 2 ส่วนคือคืนหนี้เงินกู้สถาบันการเงินและสำรองเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท
ในส่วนของการชำระหนี้คาดว่าจะแบ่งคืนหนี้เงินกู้ประมาณ 300 ล้านบาท จากปัจจุบันที่มีภาระหนี้สินรวมประมาณ 1,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนประมาณ 1 เท่ากว่าๆ แต่หลังการเพิ่มทุนทำให้ฐานทุนของ RICH ใหญ่ขึ้นและมีการนำเงินไปใช้หนี้จะกด D/E ลดลงมามาก อยู่ในระดับต่ำกว่า 1 เท่า นายสมเกียรติกล่าว
เขากล่าวต่อถึงเรื่องการกำหนดราคาขายหุ้นเพิ่มทุนที่ให้กับผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 1 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ในราคาหุ้นละ 2 บาท/หุ้น ซึ่งต่ำกว่าราคาในกระดาน (โดยล่าสุด น.อยู่ที่ระดับ บาท) นอกเหนือจากได้เงินไปใช้หนี้และขยายธุรกิจแล้ว ยังเป็นการตอบแทนผู้ถือหุ้นอีกทางหนึ่ง

ในด้านผลประกอบการของปี 2550 นายสมเกียรติ ยังมั่นใจว่าจะมีอัตราการขยายตัวที่ดีต่อเนื่องจากปี 2549 โดยประเมินยอดขายปีนี้จะทำได้มากกว่าปีที่แล้วทำได้ 4,300 ล้านบาท เพราะฐานลูกค้าขยายเพิ่มขึ้น อีกทั้งมีรายได้เพิ่มจากการจำหน่ายเหล็กเกรดพิเศษ ซึ่งเป็นสินค้าใหม่มียอดจำหน่ายดีต่อเนื่อง และในปี 2551 มั่นใจว่าทั้งยอดขายและรายได้ยังจะมีการเติบโตที่ดีกว่าปี 2550 ด้วย
ขณะนี้ยอดขายเหล็กเกรดพิเศษยังขายดีต่อเนื่อง โดยปัจจุบันสร้างรายได้ให้กับ RICH อย่างต่อเนื่อง และมียอดขายประมาณ 100 ล้านบาทต่อเดือนนายสมเกียรติกล่าวในที่สุด


* บิ๊ก GSTEEL มองธุรกิจเหล็กจากนี้ถึงปี 51 เป็นช่วงขาขึ้น
แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัท จี สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ GSTEEL กล่าวกับ eFinanceThai.com ว่าภาพรวมธุรกิจเหล็กนับจากขณะนี้จนถึงปี 2551 เป็นต้นไป จะเป็นช่วงขาขึ้น เพราะแนวโน้มราคาเหล็กมีการเคลื่อนไหวแบบทรงตัวในระดับสูง จึงนับว่าเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายทั้งผู้ผลิต และผู้ซื้อ โดยในแง่ผู้ผลิตจะสามารถขายสินค้าในราคาที่น่าพอใจได้จำนวนมากขึ้น ส่วนในฝั่งผู้ซื้อจะประเมินราคาสินค้าได้แม่นยำขึ้นเช่นกัน เนื่องจากความผันผวนของระดับราคาที่น้อยลง

GSTEEL ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กรีดร้อนนั้น ย่อมได้รับผลบวกตามไปด้วย เพราะราคาเหล็กทรงตัวระดับสูง อีกทั้งตอนนี้ความต้องการใช้เหล็กในประเทศที่มีเกินกำลังผลิตอยู่แล้ว และหากในปี 2551 ภาครัฐบาลมีการลงทุนในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ต่างๆจริงก็จะยิ่งทำให้ความต้องการใช้ในประเทศสูงขึ้นอีกด้วยแหล่งข่าว
กล่าว


* นิปปอน สตีล เตรีบมบุกไทย เล็งลงทุนผลิตเหล็กต้นน้ำในไทย

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลัง บริษัท นิปปอน สตีล ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่จากญี่ปุ่นเข้าพบวันนี้ ว่า นิปปอน สตีล ให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนผลิตเหล็กต้นน้ำในไทย และจะเดินทางไปญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 14-16 พ.ย.นี้ เพื่อหารือกับนิปปอนฯ ซึ่งคาดว่าคงจะได้รายละเอียดเรื่องการลงทุนดังกล่าว โดยคาดว่าจะประกาศการลงทุนได้ภายในรัฐบาลชุดนี้ และจะดำเนินการเป็นรูปเป็นร่างได้ในรัฐบาลชุดหน้า

"ได้บอกกับนิปปอน สตีล ว่าขณะนี้สิ่งที่ไทยต้อง การคือการลงทุนผลิตเหล็กที่มีคุณภาพดีมาก และเชื่อมโยงไปสู่การวิจัยและพัฒนากับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์,อิเล็กทรอนิกส์" นายโฆสิต กล่าว
ทั้งนี้ในอนาคตอันใกล้รัฐบาลจะเปิดให้มีการผลิตเหล็กคุณภาพดีเพื่อใช้ในประเทศทดแทนการนำเข้า ซึ่งไทยต้องการเหล็กคุณภาพดีประมาณ 1-2 ล้านตัน/ปี

:lol:
 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com