April 27, 2024   1:09:02 AM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > IFECท้าชิงแชมป์พลังงานทดแทน
 

thaihoon
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 14,583
วันที่: 25/09/2014 @ 08:17:28
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

"อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ วิศวการ"ประกาศกร้าว พร้อมขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในวงการพลังงานไฟฟ้าทางเลือกของไทยในปี 60 หลังกำลังการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ - ลม - ชีวมวล และขยะรวมกันจะแตะ 600 เมกะวัตต์ พร้อมย้ายไปอยู่กลุ่มพลังงานเต็มตัวใน Q4/57 แถมเตรียมตั้งบริษัทย่อยเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าทีเดียว 5 แห่งรวด วางแผนดันเข้าตลาดหุ้นต่อเนื่อง ล่าสุดทุ่มงบ 273 ล้านบาท ซื้อ "บ.กรีน โกรท" ทำโรงไฟฟ้าพลังงานลม 10 เมกะวัตต์ ที่นครศรีธรรมราช คาดเริ่มเสียบปลั๊กจ่ายไฟในเดือนพ.ค.ปีหน้า โบรกฯมองอนาคตสดใส งบปี 58 โตแบบก้าวกระโดด ปรับเพิ่มราคาเป้าหมายเป็น 8.97 บาท/หุ้น

วงการพลังงานทางเลือก กลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากวานนี้ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ วิศวการ จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC อีกหนึ่งบริษัทจดทะเบียนที่ผันตัวเอง มาทำธุรกิจโรงไฟฟ้าแบบเต็มรูปแบบ ออกมาประกาศกร้าว ว่าจะยกระดับเป็นผู้ประกอบการอันดับ 1 ในวงการ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานชีวมวลและขยะ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมเปิดกลยุทธ์เตรียมตั้งบ.ย่อย 5 บริษัทโรงไฟฟ้า ทยอยเข้าตลาดหุ้นในอนาคต พร้อมเข้าซื้อ บริษัท กรีน โกรท จำกัด ลุยพลังงานลม คาดจ่ายไปได้เดือนพ.ค.ปี 58 นี้

*** คาดปี 60 มีกำลังผลิตไฟฟ้าแตะ 600 MW ท้าชิงผู้นำธุรกิจพลังงานทดแทน
นายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ วิศวการ จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC เปิดเผยว่า บริษัทฯ คาดว่าภายในปี 2560 มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมจะอยู่ที่ประมาณ 600 เมกะวัตต์ ซึ่งจะขึ้นเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนอันดับหนึ่ง โดยส่วนใหญ่จะมาจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานชีวมวลและขยะ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยบริษัทฯ เตรียมลงทุนโรงไฟฟ้าที่กัมพูชา และมีแผนที่จะไปลงทุนในประเทศญี่ปุ่นในอนาคต
ขณะที่ในระยะสั้น บริษัทฯ ตั้งเป้ากำลังการผลิตไฟฟ้ารวมในปี 2558 จะอยู่ที่ 300 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 200 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานลม 100 เมกะวัตต์ จากในปีนี้ที่บริษัทฯ คาดว่าจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 40 เมกะวัตต์
"ในปีนี้เราจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 40 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นการซื้อกิจการโรงไฟฟ้าที่ผลิตได้แล้ว ทำให้ต้นทุนต่อเมกะวัตต์ค่อนข้างสูง แต่หลังจากนี้เราจะเป็นผู้ดำเนินการ สร้างโรงไฟฟ้าเอง ทำให้ต้นทุน จะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 70 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ ส่วนพลังงานลมจะเริ่มก่อสร้างในปีหน้า หลังจากที่ได้เข้าไปลงทุนในบริษัท กรีนโกรท กำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ ซึ่งเรามีเป้าหมายเพิ่มเป็น 100 เมกะวัตต์ โดยจะเป็นในลักษณะร่วมทุนกับพันธมิตร "

*** ตั้ง 5 บ.ย่อยโรงไฟฟ้า ทยอยส่งเข้าตลาดหุ้น
นายวิชัย เปิดเผยต่อว่า บริษัทฯมีแผนที่จะนำธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานลมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในปี 2559 หลังจากที่คาดว่าจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 300 เมกะวัตต์ โดยขณะนี้บริษัทฯ และพันธมิตรมีแผนที่จะมีการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานลมอย่างต่อเนื่อง ?
"จากนี้ไป IFEC จะเป็นบริษัท โฮลดิ้งส์ คอมปะนี โดยจะจัดตั้งบริษัทย่อย คือ 5 บริษัท คือ 1. IFEC ซึ่งจะลงทุนในโรงไฟฟ้าชีวมวลและขยะ 2. IFEC Solar ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงาทิตย์ 3. IFEC Win ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานลม 4. IFEC กัมพูชา จะลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าผลิตไฟฟ้าพลังงานขยะ และ 5. IFEC Japan โรงงานพลังงานแสงอาทิตย์ โดยบริษัทฯ มีแผนที่จะนำบริษัทย่อยทุกบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หากบริษัทนั้นมีความแข็งแรง โดยบริษัทแรกที่จะเข้าจดทะเบียนคือ IFEC Win โดยคาดว่าจะเข้าได้ในปี 59 และตัวต่อมาจะเป็น IFEC Solar โดยในช่วง 1-2 ปี บริษัทฯยังคงจะเน้นการลงทุนในประเทศต่อจากรัฐบาลที่จะมีการให้ใบอนุญาต แต่ที่ญี่ปุ่นติดปัญหาเรื่องราคาที่ดิน อาจจะยังไม่เห็นในปีนี้หรือปีหน้า"นายวิชัย กล่าว
สำหรับเม็ดเงินลงทุนในปี 2558 บริษัทฯ เตรียมเงินทุนสำหรับการลงทุนไว้ประมาณ 10,000 ล้านบาทในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าต่างๆ โดยมาจากเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนให้กับนักลงทุนเฉพาะเจาะจง และเงินที่ได้จากการใช้สิทธิแปลงสภาพใบสำคัญแสดงสิทธิ (วอร์แรนต์) และที่เหลืออีก 5-6 พันล้านบาทจะมาจากการกู้สถาบันการเงิน จากปัจจุบันที่บริษัทฯมีอัตราหนี้สินต่อทุนต่ำเพียง 0.2-0.3 เท่า

*** คาดกำไรสุทธิปี 58 แตะ 400 ลบ. พร้อมย้ายไปอยู่กลุ่มพลังงานเต็มตัว
นายวิชัย เปิดเผยต่อว่า บริษัทฯ คาดว่ากำไรสุทธิในปีหน้าจะอยู่ที่ประมาณ 400 ล้านบาท จากปีนี้คาดว่าจะมีกำไรสุทธิประมาณ 100 ล้านบาท หลังจากที่จะมีการบันทึกกำไรพิเศษจากการขายสินทรัพย์ธุรกิจเครื่องถ่ายเอกสาร
"สำหรับผลประกอบการในไตรมาส 3/57 คาดว่าจะมีผลขาดทุนสุทธิอยู่จากการดำเนินปกติ แต่หากรวมกับกำไรพิเศษที่จะรับรู้เข้ามาจะทำให้บริษัทฯพลิกกลับมามีกำไรจากในช่วงครึ่งปีแรกที่บริษัทฯ มีผลขาดทุนอยู่ที่ 5.21 ล้านบาท โดยคาดว่าทั้งปี 2557 น่าจะมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 100 ล้านบาท" นายวิชัย กล่าว
นอกจากนี้บริษัทฯ เตรียมทำเรื่องขอย้ายหมวดการซื้อขายหุ้นมาอยู่ที่หมวดพลังงานภายในไตรมาส 4 ปีนี้ จากปัจจุบันที่ซื้อขายอยู่ในหมวดของใช้ในครัวเรือนและสำนักงาน ?หลังจากผลการดำเนินงานไตรมาส 3/57 จะมีความชัดเจนว่ารายได้และกำไรของบริษัทฯ จะมาจากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน หลังจากมีการขายสินทรัพย์ในธุรกิจเครื่องถ่ายเอกสาร ซึ่งจะทยอยรับรู้กำไรพิเศษเข้ามาตั้งแต่ไตรมาส 3/57

*** ทุ่ม 273 ลบ. ลงทุนพลังงานลมใน บ.กรีน โกรท เริ่มขายไฟพ.ค.58
นายสิทธิชัย พรทรัพย์อนันต์ กรรมการ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ วิศวการ จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2557 ได้มีมติอนุมัติให้บริษัทเข้าลงทุนใน บริษัท กรีน โกรท จำกัด (“GG”) ซึ่งประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่มีกาลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่ตำบลบางพระ อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดย GG ได้เข้าทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้า (Adder) 3.50 บาท เป็นระยะเวลา 10 ปีซึ่งมีกาหนดให้เริ่มจาหน่ายไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ (SCOD) ภายในวันที่ 1 พฤษภาคม 2558 ซึ่งโครงการดังกล่าวจะเป็นโครงการไฟฟ้าพลังงานลมโครงการแรก และมีกำลังการผลิตใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ทั้งนี้ การลงทุนใน GG รวม 3 รายการ เป็นเงิน 273,000,000 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจานวน 1,800,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 80% ของทุนจดทะเบียนและเรียกชำระแล้ว จานวน 225,000,000 บาท (ซึ่งเป็นทุนจดทะเบียนภายหลังจากการเพิ่มทุนของ GG) แบ่งเป็นหุ้นสามัญจานวน 2,250,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท
แหล่งเงินทุนที่ใช้ แหล่งเงินทุนที่ใช้ในการเข้าซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดของ GG มาจากเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และ/หรือเงินเพิ่มทุนภายหลังจากที่บริษัทได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นให้เพิ่มทุน และมีการเพิ่มทุนเรียบร้อยแล้ว

** โบรกฯ ชี้ P/BV ต่ำสุดในกลุ่มพลังงานทางเลือก
บล.ทรีนิตี้ เปิดเผยว่า IFEC มีปัจจัยหนุนจาก (1) แนวโน้มปี 58 เติบโตก้าวกระโดด (2) อยู่ระหว่างการศึกษาพลังงามลมอีก 200 MW (3) มีการร่วมทุนกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม (4) PBV ที่ 4.06 เท่า ต่ำสุดในกลุ่มพลังงานทางเลือก (5) แหล่งเงินทุนพร้อมรองรับแผนการลงทุนในอนาคต
โดยการร่วมทุนโครงการลม 2 โครงการ ขนาดรวม 97 MW กับ Green Growth ซึ่งเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญด้านพลังงานลม มีโครงการที่ดำเนินการแล้ว 213 MW ในเกาหลีใต้ จีน และบังคลาเทศ โดยมีสัดส่วนการลงทุนที่ 80:20 คาดโครงการแรก 10 MW และโครงการที่สอง 87 MW เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ในช่วง 2Q58 และ 3Q59 ตามลำดับ
ทั้งนี้ มองว่าการเข้ามาของ Green Growth จะช่วยเพิ่มศักยภาพความแข็งแกร่งการลงทุนพลังงานลมทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากปัจจุบันส่วนรับซื้อไฟฟ้า (Adder) มีความน่าสนใจมากกว่าโซลาร์ฟาร์ม ประกอบกับตัวกังหันลมมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น ซึ่งรองรับกับภูมิประเทศไทยที่มีความเร็วลมเฉลี่ย 3.5-4 M/S ซึ่งต่ำกว่า อเมริกา ยุโรป และเกาหลีใต้ ด้วยความเชี่ยวชาญพลังงานลมของ Green Growth ส่งผลให้ผลตอบแทนโครงการลมที่ร่วมทุนในรูปแบบ Project IRR สูงถึง 16-19% ซึ่งมากกว่าโซลาร์ ที่ 12% ขณะที่ต้นทุนอยู่ที่ 75 ล้านบาท ต่อ MW ซึ่งใกล้เคียงกับโซลาร์ฟาร์ม

*** โครงการลม 10 MW มูลค่าของโครงการ 2.07-2.35 บ./หุ้น
โดยโครงการลม 10 MW แรก ที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราชนี้ มีมูลค่าโครงการ 750 ล้านบาท ซึ่งได้เซ็นสัญญา PPA แล้ว ได้รับค่า Adder ที่ 3.5 บาทต่อหน่วยเป็นระยะเวลา 10 ปี โดยโครงการมี Project D/E ที่ 70:30 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการหา EPC และวางฐานรากของกังหัน คาดใช้เวลาราว 4-5 เดือน โดยในช่วงต้นปี 58 จะเริ่มประกอบกังหันและติดตั้ง และเริ่มทดสอบระบบในช่วง 2Q58 ซึ่งคาดว่าจะเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ตั้งแต่ พ.ค. 58 เป็นต้นไป ประเมิน upside ที่ 0.34 บาท อิงปริมาณผลิตไฟฟ้าที่ 21 GWh ต่อปี และ WACC 10.3%
ปัจจุบันอยู่ระหว่างการติดตั้งเครื่องทดสอบความเร็วลมบนภูเขาและการทำประชาพิจารณ์ คาดจะเริ่มก่อสร้างได้ในช่วงกลางปี 58 โดยจะใช้เวลาพัฒนาโครงการราว 1 ปี ก่อนจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ปัจจุบันโครงการนี้ยังไม่ได้เซ็นสัญญา PPA (ได้เพียงใบตอบรับ) ซึ่งเท่ากับว่า ยังมีความเป็นไปได้ที่ภาครัฐอาจมีการพิจารณาปรับ ค่า Adder ใหม่ จากเดิม 3.5 บาท เป็น 4.5 บาทต่อหน่วย ประเมินมูลค่าของโครงการดังกล่าวที่ 2.07-2.35 บาทต่อหุ้น อิงปริมาณผลิตไฟฟ้าที่ 164 GWh ต่อปี Project D/E ที่ 2:1 และ WACC 11%

*** งบปี 58 โตก้าวกระโดด ปรับเป้าหมายเป็น 8.97 บ.
บล.ทรีนิตี้ ประเมินว่า เนื่องจากการ Deal การเข้าซื้อโซลาร์ฟาร์ม ขนาดรวม 5-7 MW มีความล่าช้าออกไป (คาดลุล่วงในช่วงต้น 4Q57) แต่ถูกชดเชยจากกำไรพลังงานทางเลือกในมือแล้ว ราว 8 MW นอกจากนี้ การเข้าซื้อกิจการโซลาร์อีก 30 MW ยังอยู่ใน pipeline คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 57
ซึ่งหากอิงบทวิเคราะห์วันที่ 10 ก.ย. 57 เราประเมิน upside ไว้ที่ 0.91 บาท อิง sensitivity analysis ของ Project IRR และ WACC เนื่องจากบริษัทยังไม่มีการประกาศโครงการลงทุน แต่ในล่าสุด แผนการลงทุนมีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะพลังงานลม ดังนั้น ในกรณีนี้ หากรวมมูลค่าของโครงการลมทั้งสอง ส่งผลให้มูลค่าพื้นฐานปรับเพิ่มเป็น 8.97 บาท อย่างไรก็ตาม แนวโน้มผลประกอบการปี 58 จะเติบโตก้าวกระโดด โดยจะมีแรงหนุนจากโซลาร์ฟาร์มและพลังงานลม ขณะที่ยังมีปัจจัยบวกการการร่วมทุนโซลาร์จาก Partner ชาติในระยะยาว แนะนำ "ซื้อ"

*** SPCG จับมือ TFD ตั้งบ.ย่อยลุยโซลาร์รูฟ
นางสาววันดี กุญชรยาคง ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG เปิดเผยว่า การเซ็นสัญญา MOU กับบริษัท ไทยพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ TFD เพื่อพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟ) จะมีการตั้งบริษัทย่อยโดยถือหุ้นร่วมกันในสัดส่วนบริษัทละ 50% ซึ่งจะลงทุนโครงการโซลาร์รูฟเฟสแรก กำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ บนพื้นที่โรงงานและคลังสินค้าของ TFD 60,000 ตารางเมตร มูลค่าการลงทุนคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 300 ล้านบาท โดยจะเริ่มก่อสร้างภายในปีนี้และคาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้ในปีหน้า ซึ่งโครงการโซลาร์รูฟได้รับ ADDER จากการไฟฟ้าที่ประมาณ 6 บาท
โดยคาดว่าและกำไรสุทธิในปีหน้าจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% ในปีนี้ที่คาดว่าจะมีรายได้ราว 4,000 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 3,500 ล้านบาท ส่วนกำไรจะเติบโตก้าวกระโดดจากปีก่อนที่ทำได้ 499 ล้านบาท ทั้งนี้ สาเหตุของการเติบโตในปีหน้าจะมาจากการรับรู้รายได้เต็มปีของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ครบทั้ง 36 โครงการ กำลังการผลิต 260.1 เมกะวัตต์ รวมทั้งจะมีรายได้จากการร่วมทุนต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศเข้ามาช่วยเสริม
ด้านนายอภิชัย เตชะอุบล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ TFD คาดว่าใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้าจะมีการยื่นขอสัญญาขายไฟกับการไฟฟ้า โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ ซึ่งหลังจากได้สัญญาซื้อขายไฟและติดตั้งแผงโซลาร์เสร็จแล้วก็น่าจะรับรู้รายได้ทันทีในปีหน้า โดยบริษัทฯ มีแผนจะขยายพื้นที่คลังสินค้าและโรงงานอุตสาหกรรมในปี 2558 อีก 120,000 ตารางเมตร และจะนำพื้นที่ดังกล่าวจัดทำโซลาร์รูฟต่อไป โดยจากการประเมินเบื้องต้นพื้นที่ 100,000 ตารางเมตร จะสามารถติดตั้งโซลาร์รูฟกำลังการผลิตประมาณ 10 เมกะวัตต์

 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com