April 26, 2024   5:54:17 PM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > เปิดโผบจ.หนี้ท่วม - ผลประกอบการขาดทุน จับตาอาจต้องเพิ่มทุนแก้วิกฤต
 

thaihoon
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 14,583
วันที่: 12/10/2016 @ 08:55:41
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

ช่วงนี้ประเด็นเรื่อง "หนี้" ถือว่ามีบทบาทต่อความกังวลของตลาดหุ้นพอสมควร หลังถูกปลุกกระแสจากสถานการณ์ของดอยช์แบงก์ (Deutsche Bank) ธนาคารใหญ่อันดับหนึ่งของประเทศเยอรมนี ที่ถูกสั่งปรับเงิน 1.45 หมื่นล้านเหรียญ จากกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ และต้องชำระภายในปีนี้ จนเกิดการวิเคราะห์ว่าอาจจะเป็นสาเหตุของวิกฤติการเงินครั้งใหม่ เหมือนคราว "ต้มยำกุ้ง" และ ซัพไพรม์ เพราะมีจุดเริ่มต้นมาจากภาวะหนี้สูงทั้งสิ้น
ขณะที่ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยถึงความกังวลภาวะหนี้ท่วมโลก หลังหนี้สินสุทธิพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะหนี้เอกชน
"นิเวศน์ เหมวชิรวรากร" นักลงทุนเน้นคุณค่า(VI) รุ่นใหญ่ ให้มุมมองไว้อย่างน่าสนใจว่า "ปัญหาเรื่องหนี้ ถือเป็นปัจจัยลบสำคัญต่อตลาดทุน แต่ทุกวันนี้ผู้ประกอบการและนักลงทุนมองโลกในแง่ดีเกินไป ไม่ค่อยมีใครสนใจเรื่องหนี้สินกันเท่าไหร่นัก ยิ่งในยุคดอกเบี้ยต่ำเช่นนี้ แต่หากเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่าวิกฤติขึ้นมาเมื่อใด กลุ่มที่มีหนี้มากๆ จะรับผลกระทบก่อนคนอื่น ดังที่เราเห็นจากวิกฤติในอดีตที่ผ่านมา"
เพื่อให้สอดรับกับประเด็นดังกล่าว "สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย" จึงย้อนกลับมาสำรวจบริษัทจดทะเบียนไทย(บจ.) ว่าบริษัทใดบ้างมีความเสี่ยงเรื่องหนี้สูงจนต้องจับตา โดยคัดเลือกบริษัทที่มีหนี้สินสูงเกินกว่าทุนตั้งแต่ 3 เท่าขึ้นไป
ผลการสำรวจพบว่าปัจจุบันมี 56 บจ. ที่มีหนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้นเกิน 3 เท่า แต่เพื่อให้สะท้อนหนี้สินแท้จริงมากยิ่งขึ้น จึงนับเฉพาะหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ยมาคำนวนเพื่อคัดกรอง รวมถึงตัดเอาบจ.กลุ่มธนาคาร ลิสซิ่ง และประกันออก เพราะมีหนี้สูงเป็นธรรมชาติของธุรกิจ ผลปรากฏว่าเหลือ 14 บริษัทที่มีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนผู้ถือหุ้น (Interest-Bearing Debt-to-Equity Ratio) เกิน 3 เท่า

*** CPALL-BJC-THAI-ROJNA แบกหนี้รวมกว่า 6 แสนลบ.
เริ่มจากกลุ่มแรกที่ใช้เงินได้มือเติบสุดๆ ประกอบด้วย บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL), บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC), บมจ.การบินไทย (THAI) และบมจ.สวนอุตสาหกรรมโจนะ (ROJNA)
4 บริษัทข้างต้นมียอดหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ยรวมกันกว่า 6 แสนล้านบาท ขณะที่ 6 เดือนแรกของปีนี้มียอดดอกเบี้ยจ่ายรวมกันเกิน 1 หมื่นล้านบาท เป็นผลจากนโยบายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ CPALL และ BJC ที่แบกหนี้หนักจากการซื้อกิจการ ส่วนการบินไทยภาระหนักเกิดจากผลขาดทุนในอดีตจนต้องปรับโครงสร้างบริหารครั้งใหญ่ เพื่อพลิกฟื้นผลประกอบการให้สมฐานะสายการบินแห่งชาติ
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์(บล.)กสิกรไทย ให้ความเห็นต่อหุ้นในกลุ่มข้างต้นว่า CPALL และ BJC ใช้หนี้ในการสร้างฐานธุรกิจ สร้างมูลค่าในอนาคตเพราะการซื้อกิจการของทั้งคู่สามารถเติมเต็มไลน์ธุรกิจของที่มีอยู่ได้อย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญศักยภาพในการทำกำไรยังอยู่ในระดับที่ดี จึงถือว่าเป็นปกติของการขยายธุรกิจของบริษัทขนาดใหญ่
ส่วน THAI ต้องติดตามต่อไปว่าแผนการปรับโครงสร้างจะช่วยพลิกฟื้นผลประกอบการได้ดีและยั่งยืนในระยะยาวแค่ไหน แม้ครึ่งแรกปีนี้จะสามารถพลิกเป็นกำไรได้ในรอบหลายปี
ด้าน ROJNA สถานการณ์ไม่สู้ดีนัก เพราะผลประกอบการลดลงต่อเนื่องจนล่าสุดพลิกขาดทุนในงวด 6 เดือนแรกของปีนี้ สวนทางกับยอดหนี้สูงเกือบ 5 หมื่นล้านบาทจนมีข่าวเกี่ยวกับการขายหุ้นที่ถืออยู่ใน บมจ.ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น (TICON) เพื่อมาเสริมสภาพคล่อง เพราะมีภาระจ่ายดอกเบี้ยจ่ายราว 1,800 ล้านบาทต่อปี

*** พบ 9 บจ.หนี้บาน ซ้ำผลประกอบการขาดทุน
"นิเวศน์" ให้ทัศนะเพิ่มเติมว่า "หุ้นที่หนี้เยอะแต่รายได้-กำไรยังมีการเติบโต ก็ไม่มีอะไรให้น่าห่วง เพราะหนี้ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการบริหารธุรกิจ แต่ถ้าหนี้เยอะแล้วผลประกอบการแย่ ถือว่ามีความเสี่ยงที่ต้องระมัดระวัง"
ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่ามี 9 บจ.ที่มีสถานะหนี้สูงและผลประกอบการขาดทุนประกอบด้วย บมจ.คิง ไว กรุ๊ป (ประเทศไทย) (KWG), บมจ.เพซ ดีเวลลอปเมนท์คอร์ปอเรชั่น (PACE), 3.บมจ.ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส (UMS), บมจ.โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ (NOBLE), บมจ.ไทยพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรม (TFD), บมจ.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ(ROJNA), บมจ.จี สตีล (GSTEL), บมจ.อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง (AMARIN) และ บมจ.อี ฟอร์ แอล เอม (EFORL)
และที่สำคัญมี 4 บริษัทที่แบกผลขาดทุนมาไม่ต่ำกว่า 3 ปี ประกอบด้วย KWG, PACE, UMS และ GSTEL

*** จับตาหลายบจ.อาจเพิ่มทุนกู้สถานการณ์
จากการสอบถามไปถึงผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาทางการเงิน ได้ความเห็นว่า แนวทางสำคัญที่จะช่วยพยุงกลุ่มบริษัทที่หนี้สูงและผลประกอบการไม่ดีนัก คือการเพิ่มทุน
"อาจจะเห็นการเพิ่มทุนทั้งแบบ RO หรือ PP จากกลุ่มบริษัทที่มีปัญหาดังกล่าว ถ้าไม่มีแผนการรองรับในแง่การฟื้นตัวของธุรกิจ ไม่เช่นนั้นผลขาดทุนจะกินส่วนผู้ถือหุ้นไปเรื่อยๆ จนอาจจะมีปัญหาเข้าข่ายบริษัทที่ต้องเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ
หรือบางบริษัทที่เพิ่งขาดทุนก็ต้อง งดจ่ายปันผล ลดขยายกิจการ หรือนำสินทรัพย์ไปตั้งกองทุน เพื่อชดเชยกับผลประกอบการที่ปรับตัวลง เพราะบริษัทที่มีหนี้สูงเท่าไหร่ ภาระดอกเบี้ยจ่ายก็ต้องมากตามไปด้วย
อย่างไรก็ตามในมุมนักลงทุนต้องศึกษาข้อมูลให้รอบคอบเกี่ยวกับการเพิ่มทุน เพราะหากเพิ่มทุนแล้วมีแผนการพลิกฟื้นผลประกอบการที่ชัดเจนก็ถือว่าเป็นโอกาส แต่หากเพิ่มทุนแค่เพื่อนำเงินไปใช้หนี้แล้วไม่มีแผนการอื่นๆ มากกว่านั้น ก็ต้องทบทวนให้ดีว่าจะยังเหมาะสมหรือไม่กับการลงทุน"

 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com