March 29, 2024   6:25:12 PM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > ชินวัตร-เทเลนอร์-เจียรวนนท์/เดิมพัน...บนโค้งสุดท้าย
 

?????????
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 103
วันที่: 28/10/2005 @ 16:48:58
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

การล่าถอยออกจากธุรกิจมือถือของกลุ่ม เบญจรงคกุล กำลังเป็นสัญญาณปลุกสงครามมือถือรอบใหม่...ภายใต้เกมธุรกิจที่ต้องอาศัยพลังทุนมหาศาลเพื่อเคลื่อนธุรกิจไปข้างหน้า


อาจถือเป็นรอยต่อครั้งสำคัญ หลังทุนสื่อสารต่างชาติอย่าง กลุ่มเทเลนอร์ เอเชีย พีทีอี (รัฐบาลนอร์เวย์ ถือหุ้น 80%) สลับขึ้นทัพหน้าในค่าย DTAC มุ่งชนกับ AIS ใต้เงาของทุนชินวัตร โดยตรง

...ในภาวะที่ค่าย Orange ของกลุ่มทุน เจียรวนนท์ ยังต้องพลิกตำรารบต่อไป

และเป็นการเดิมพันครั้งใหญ่ระหว่าง กลุ่มเทเลนอร์, ทุนชินวัตร และ ตระกูล เจียรวนนท์...ภายใต้เงื่อนไขความได้เปรียบทั้งด้าน กำลังเงิน และ อำนาจต่อรอง ของกลุ่มทุนชินวัตร เหนือคู่แข่ง

เปรียบมวยระหว่างผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทั้ง 3 ค่าย หลังเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทุนครั้งใหญ่จากฟาก ดีแทค (บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น) ที่ตระกูล เบญจรงคกุล ยอมตกเป็น เบอร์รอง ขององค์กร

เพื่อเป้าหมายในการผลักดันดีแทค ขึ้นสู่ อันดับ1 ในธุรกิจมือถือ...โดยอาศัย เทเลนอร์ เป็นกันชนใหม่

จากสภาพโครงสร้างของ ดีแทค ในเวลานี้ ทั้งสองพี่น้อง บุญชัย-วิชัย เบญจรงคกุล ในทางนิตินัย...ได้ตัดสินใจลดบทบาทตัวเองออกจาก ธุรกิจมือถือ ด้วยการสละจากทุกๆตำแหน่งทั้งใน ดีแทค และ ยูไนเต็ด คอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี หรือ UCOM (ผู้ถือหุ้นใหญ่ดีแทค 41.64%)

เพียงแต่ บุญชัย จะยังคงสถานะ ประธานกรรมการบริหาร ของดีแทคไว้เท่านั้น โดยมี ซิคเว่ เบรกเก้ ยึดเก้าอี้ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ ดีแทค เพียงรายเดียว

ก่อนหน้านั้นทางผู้บริหารของ ดีแทค เคยมีความคิดที่จะนำหุ้นบางส่วนของ TAC เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่จากการเปลี่ยนแปลงครั้งล่าสุด...ผู้บริหารจาก เทเลนอร์ จึงขอทบทวนแนวทางนี้อีกครั้ง

หลังจาก บ.ไทย เทเลคอม โฮลดิ้ง (ทีทีเอช) ได้บรรลุข้อตกลงซื้อหุ้น UCOM จำนวน 39.9% มาจากกลุ่ม เบญจรงคกุล คิดเป็นมูลค่า 9.2 พันล้านบาท (ราคา 53 บาทต่อหุ้น) ขณะที่ทางกลุ่ม เทเลนอร์ ก็ยังถือหุ้นอยู่ใน ทีทีเอช อยู่ในสัดส่วน 49%

ส่งผลให้ เทเลนอร์ จะเข้ามากำหุ้น UCOM ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพิ่มจาก 24.85% เป็น 44.4%

พร้อมกับการเพิ่มสัดส่วนหุ้นใน ดีแทค (ทางตรงและทางอ้อม) มากกว่า 48.46% จากเดิม 40.3% ...ขณะที่ เทเลนอร์ ยังมีการถือหุ้นทางอ้อม...ซ้อนอยู่ในโครงสร้างผู้ถือหุ้นอื่นๆของ ทีทีเอช อีกเช่นกัน

ขณะเดียวกัน บ.เบญจจินดา ของกลุ่มเบญจรงคกุล ก็จะเข้าไปซื้อธุรกิจอื่นๆ (ยกเว้นดีแทค) ออกมาจาก UCOM ทั้งหมด

เท่ากับว่า...UCOM ในอนาคต กำลังเดินเข้าสู่สถานะที่ชัดเจนกว่าอดีตคือ ธุรกิจผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือเพียงอย่างเดียว โดยไม่ต้องพะวงกับธุรกิจส่วนอื่นๆที่ ติดลบ มาโดยตลอด

ส่วนหนึ่งของเหตุผลในการตัดสินใจรื้อโครงสร้างผู้ถือหุ้นครั้งนี้ บุญชัย ชี้แจงว่า คู่แข่งทางธุรกิจของผมจะมีเพียง 2 คน และชื่อของแต่ละคนก็คือ ธนินท์ เจียรวนนท์ กับ พานทองแท้ ชินวัตร...จึงย้อนกลับมาถามตัวเองว่า...แล้วตัวเราเป็นใคร

เป็นบทสรุปสั้นๆของ บุญชัย ที่ช่วยอธิบายเหตุผลและศักยภาพการแข่งขันในธุรกิจมือถือของ ดีแทค ได้ทั้งกระบวน

เช่นนั้นแล้ว รูปแบบการแข่งขันของ ดีแทค ถัดจากนี้ จึงต้องอาศัยกลุ่มที่มีพลังแข่งขันกับอีกทั้งสองค่ายได้อย่าง...ไม่เป็นรอง และ เทเลนอร์ ก็คือสูตรสำเร็จ ที่มีพร้อมซึ่งความสามารถในการแข่งขันที่ทัดเทียมทั้งทางด้าน เงินทุน และ การต่อรอง

ปริมาณลูกค้า ดีแทค ในปัจจุบันที่มีอยู่กว่า 8.3 ล้านเลขหมาย มีความครอบคลุมของโครงข่ายสัญญาณจำนวน 5,794 สถานีฐานทั่วประเทศ (ใกล้เคียงกับเอไอเอสที่มีอยู่กว่า 6,700 สถานี) สามารถรองรับจำนวนผู้ใช้ได้กว่า 9.8 ล้านเลขหมาย

ขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อเลขหมาย (ARPU) ยังทรงตัวอยู่ที่ระดบ 422 บาทต่อเลขหมายต่อเดือน

ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสารมองไว้ว่า ทุกโจทย์ในการปรับทัพของดีแทคก่อนเลือกให้ เทเลนอร์ เป็นกำลังหลัก ก็เพื่อรองรับการ เพิ่มทุน ที่จะใช้สนับสนุนการขยายการลงทุนในอนาคต โดยเฉพาะการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีสื่อสารในยุคที่สาม (3G) ซึ่ง ดีแทค จำเป็นต้องพึ่งพาปริมาณเงินทุนอีกหลายหมื่นล้านบาท

อีกทั้งยังเป็นการ ปลดล็อค จำนวนมูลหนี้ที่มีอยู่ประมาณ 18,644 ล้านบาท ซึ่ง ดีแทค จะต้องทยอยชำระคืนให้หมดภายในปี 2549 (ปัจจุบันดีแทค มีมูลค่าหนี้สินอยู่กว่า 58,600 ล้านบาท ซึ่งจะครบกำหนดชำระคืนภายในปี 2553)

และ เทเลนอร์...ก็จัดว่าแข็งแกร่งพอที่จะบรรลุภารกิจเบื้องหน้า ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารที่มีเครือข่าย และประสบการณ์ลงทุน กระจายอยู่ 17 ประเทศทั้งในยุโรปและเอเชีย รวมถึง โนว์ฮาว ที่ได้เปรียบกว่ารายใด

รูปแบบการแข่งขันของ ดีแทค หรือ ยูคอม ในสภาพแวดล้อมข้างหน้า จึงเหมือนเป็นการเปิดเผยวัตถุประสงค์ ระยะไกล เพื่อก้าวขึ้น แซง หรืออย่างน้อยต้อง เทียบเคียง กับ เบอร์ 1 อย่างเอไอเอสให้ได้

ด้านความเคลื่อนไหวของ ยักษ์สีส้ม หรือ ออเร้นจ์ หลังหลุดจากพันธนาการของ ออเร้นจ์ เอสเอ เข้าสู่การดูแลของ กลุ่มทรู (TRUE) แบบเบ็ดเสร็จ ก็เริ่มช่วงชิงความได้เปรียบจากการ เชื่อมบริการ ทั้งอาณาจักรธุรกิจของ ตระกูลเจียรวนนท์ ในการผนวกเข้ากับธุรกิจมือถือ ตั้งแต่โทรศัพท์พื้นฐาน บรอดแบนด์ (อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง) เกมออนไลน์ และยูบีซี รวมถึงช่องทางการตลาดผ่านเซเว่น-อีเลฟเว่น เป็นต้น

จึงทำให้ ค่ายออเร้นจ์ สามารถเข้ามาอยู่ในเกมของตัวเอง และมี เอกลักษณ์ เฉพาะตัว ที่ต่างออกไปจากค่ายมือถืออื่น

ปริมาณลูกค้าของ ออเร้นจ์ เติบโตอย่างชัดเจนจาก 3.6 ล้านเลขหมายเมื่อต้นปี 2548 ถึงขณะนี้ทะยานขึ้นมาถึง 4.5 ล้านเลขหมาย และมีรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมาย (ARPU) ยืนระยะอยู่ที่ 475 บาทต่อเดือน

ทำให้สัดส่วนรายได้ของ ออเร้นจ์ ในกลุ่มทรู เริ่มทวีความสำคัญอย่างต่อเนื่อง จากรายได้รวม 7,228 ล้านบาทในปี 2546 เพิ่มขึ้นเป็น 11,730 ล้านบาทในปี 2547 คิดเป็น 36% ของรายได้รวมทั้งกลุ่มทรู

จากตรงนี้เอง ทีเอ ออเร้นจ์ จึงเปรียบเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของกลุ่มทรู และหันมาใช้ สงครามราคา ด้วยการลดอัตราค่าโทรลงมาต่ำที่สุดในตลาด...เหลือเพียงนาทีละ 0.25 บาท เพื่อระดมผู้ใช้รายใหม่ให้ถึงเป้าหมายที่ 5 ล้านเลขหมายภายในปี 2548

นักวิเคราะห์จึงตั้งประมาณการรายได้ทั้งปี 2548 ของออเร้นจ์ ไว้ถึง 2.38 หมื่นล้านบาท โดยมี ARPU อยู่ที่ 425 บาท และมีการประเมินว่าธุรกิจมือถือของออเร้นจ์ จะสามารถเข้าสู่ จุดคุ้มทุน ได้ภายในปี 2549

...แต่จะสวนทางกับรายได้จากโทรศัพท์พื้นฐาน ที่จะลดลงจากแรงกระทบของค่าโทรมือถือที่ถูกลงทุกวัน

อย่างไรก็ตาม ผลจากการอัดโปรโมชั่นของ ออเร้นจ์ ...บางกรณี จะไม่เกิดประโยชน์ต่อค่ายมือถือสีส้มโดยตรง แต่อาจสามารถชักรายได้เข้าสู่บริษัทย่อยอื่นๆของ กลุ่มทรู ในทางอ้อม

และถือเป็นวัตถุประสงค์ภาพรวม ที่ ศุภชัย เจียรวนนท์ เคยย้ำอยู่เสมอ

แต่ที่สุดแล้ว ความน่าสนใจของ ออเร้นจ์ และ ดีแทค ในการตีตื้นเอไอเอส จะผูกไว้กับการตั้ง บริษัทย่อย เพื่อยื่นขอใบอนุญาตใหม่จาก กทช. (คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) เพื่อประกอบธุรกิจมือถือ 3G ...จากตรงนี้ทั้งสองค่ายจะแบกภาระส่วนแบ่งรายได้ที่ต้องส่งจ่ายให้กับ ทศท และ กสท. (การสื่อสารแห่งประเทศไทย) จากประมาณ 38% เหลือเพียงอัตรา 20.7% เท่านั้น (ข้อมูลจากแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม)

ภาพของ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส แม้จะอยู่ในฐานะ อันดับ 1 โดยเฉพาะจากฐานผู้ใช้บริการที่ค่อนข้างลอยตัวกว่าผู้ให้บริการรายอื่น รวมถึงจำนวนสถานีฐานที่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศกว่า

แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่า จุดเด่นทั้งสองด้านที่ เอไอเอส อาศัยเป็นเกราะป้องกันตัวเองมาตลอด กำลังจะเป็นตัวแปรที่ถูก ลดทอน ความสำคัญลงไป หลังจากลูกค้าส่วนใหญ่เริ่มหันเหไปกับกลยุทธ์การตลาดทุกรูปแบบ...ที่แปลกออกไป และระดับเทคโนโลยีที่ ดีแทค และ ออเร้นจ์ ไม่เคยเป็นรองบ่อน

...ขณะเดียวกันความแข็งแรงทางด้านปริมาณเครือข่ายทั่วประเทศ ก็ยังถูกคู่แข่งจี้ติดเข้ามาทุกวัน สะท้อนได้ชัดเจนจากพฤติกรรมหุ้น ADVANC ที่เริ่มชะลอความร้อนแรง และกำลังเข้าระยะ ประคองตัว

ผลจากการแข่งขันเชิงรุกที่อีกสองค่าย (ดีแทค กับ ออเร้นจ์) เป็นผู้เปิดเกมบุกก่อนเสมอ ทำให้สถานการณ์ของ เอไอเอส เริ่มตกเป็น ผู้ตั้งรับ และส่งผลให้เอไอเอสเริ่มเผชิญกับความเสี่ยงทางด้านการ ยกเลิกเลขหมาย จากลูกค้าอย่างต่อเนื่อง จากการเอนเอียงไปกับกลยุทธ์การตลาดใหม่ๆของคู่แข่ง

เช็คจำนวนผู้ใช้บริหารของเอไอเอส เมื่อต้นปี 2548 อยู่ที่ระดับ 15.3 ล้านเลขหมาย ก็ขยับขึ้นเพียงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 16.1 ล้านเลขหมาย (ณ สิ้น ก.ย.2548)

แบ่งเป็นลูกค้าในระบบ จดทะเบียน ทั้งสิ้น 2.08 ล้านเลขหมาย และในระบบ เติมเงิน (1-2-Call) จำนวน 14.01 ล้านเลขหมาย โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายต่อเดือน (ARPU) อยู่ที่ 392 บาท (ต่ำกว่าดีแทคที่มี ARPU 422 บาท)

อย่างไรก็ตาม จากความได้เปรียบทางด้าน ต้นทุน ต่อเลขหมายที่ต่ำกว่าคู่แข่งทุกราย...จากสัญญาสัมปทานที่คู่แข่งยังไม่สามารถพลิกเกมกลับมาได้ เนื่องจากทั้ง ดีแทค และ ออเร้นจ์ จะต้องจ่ายค่าแอ็คเซสชาร์จ (ค่าเชื่อมสัญญาณ) ให้กับ ทศท ถึงเดือนละ 200 บาทต่อเลขหมาย และ 18% ต่อเลขหมายในระบบเติมเงิน ในขณะที่เอไอเอสไม่มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้

...จึงยังคงทำให้ รายได้ และ กำไร ของเอไอเอส ยืนอยู่บนการแข่งขันที่ได้เปรียบต่อไปอีกหลายปี

ผู้เชี่ยวชาญหลายสำนักต่างมองว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมมือถือ จะยังคงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก อย่างน้อยๆก็อีก 2-3 ปี แม้ขณะนั้นประเทศไทยจะมีการเปิดเสรีโทรคมนาคมแล้วก็ตาม [/color:5a4ae3f9b8">

 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com