April 27, 2024   7:42:31 AM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > ความท้าทายครั้งใหญ่:ธุรกิจปิโตรเคมีของSCC
 

P_aud
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 531
วันที่: 31/10/2005 @ 18:28:28
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

การรุกคืบขยายกำลังการผลิตด้วยการสร้างโรงงานโอเลฟินส์แห่งที่ 2 และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปสู่กระบวนการผลิตขั้นปลายน้ำ(downsteam) ของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทยจำกัด(มหาชน)หรือSCC ที่มีมูลค่ากว่า 60,000 ล้านบาท ถือเป็นความท้าทายครั้งใหม่ของบริษัทที่กำลังจะมีการผลัดเปลี่ยนผู้บริหารระดับสูง ซึ่งเป็นช่วงที่ธุรกิจปิโตรเคมีเริ่มเข้าสู่ขาลงพอดี รวมทั้งเป็นบทพิสูจน์วิสัยทัศน์ผู้บริหารคนใหม่ที่จะขึ้นมาแทน ชุมพลณ ลำเลียง ว่ามีการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวมากน้อยเพียงใด หลังจากคาดการณ์กันว่าในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ราคาปิโตรเคมีจะลดลงอย่างรวดเร็ว หลังมีผู้ผลิตรายใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างมากมาย

ฉะนั้นการที่ปูนใหญ่คิดแต่จะขยายกำลังการผลิตเพียงอย่างเดียว อาจเป็นแนวทางการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะผลการดำเนินงานในไตรมาส 3 ที่ลดลงกว่า 30% ก็เกิดจากรายได้ธุรกิจปิโตรเคมีลดลงไปเป็นจำนวนมาก

ประเด็นดังกล่าวจึงชี้ให้เห็นว่า การสร้างโรงงานโอเลฟินส์แห่งที่ 2 น่าเป็นกลยุทธ์การลงทุนแบบMe Too Strategy ที่เห็นใครทำอะไรก็ทำตาม โดยบริษัทคาดหวังว่าการผลิตสินค้าออกมาขายมากๆ จะเป็นชดเชยราคาที่นับวันจะลดลงได้ดีที่สุด อันเป็นผลมาจาก SCC ตัดสินใจใช้ธุรกิจปิโตรเคมีเป็นธุรกิจเรือธงของบริษัทฯนั่นเอง

โจทย์คำถามข้างต้นถือเป็นบทพิสูจน์ความสามารถของกลุ่มผู้บริหารรุ่นใหม่ของบริษัทฯที่จะมีบทบาทเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2549 ได้เป็นอย่างดี

-ปูนใหญ่ผุดโรงงานโอเลฟินส์

นายชุมพล ณ ลำเลียง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงกับThe Dow Chemical Companyเพื่อลงทุนสร้างโรงงานโอเลฟินส์แห่งที่ 2 ในประเทศไทย มูลค่าการลงทุน44,000 ล้านบาท (1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยบริษัทฯ จะเป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 67

นอกจากนั้น บริษัทฯยังจะขยายการลงทุนอีกเป็นมูลค่า 16,000 ล้านบาท (400ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ในโครงการ Downstreamซึ่งจะใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากโรงงานโอเลฟินส์แห่งที่ 2 เป็นวัตถุดิบ ทั้งนี้ คาดว่าโรงงานโอเลฟินส์แห่งที่ 2 และโครงการ Downstream จะสามารถเริ่มดำเนินการผลิตได้ในปี 2553

ทั้งนี้โรงงานโอเลฟินส์แห่งที่ 2 จะมีกำลังการผลิตโอเลฟินส์รวมทั้งสิ้น 1.7 ล้านตันต่อปี(Ethylene 900,000 ตันต่อปี และ Propylene 800,000 ตันต่อปี) และจะมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกประมาณ 700,000 ตันต่อปี ทั้งนี้ จะใช้เทคโนโลยีล่าสุดและผ่านการพิสูจน์แล้วเพื่อให้สามารถผลิต Propyleneได้ปริมาณสูงสุด

โดยโรงงานโอเลฟินส์แห่งที่ 2 นี้ จะสามารถผลิต Propylene ได้มากกว่าโรงงานแรกถึงร้อยละ 75เพื่อรองรับภาวะอุปทานที่ตึงตัวอย่างต่อเนื่องในอนาคตเนื่องจากส่วนใหญ่โรงงานผลิตโอเลฟินส์ที่สร้างใหม่จะมาจากตะวันออกกลาง และใช้ก๊าซเป็นวัตถุดิบในการผลิต ทำให้มีกำลังการผลิต Propylene และผลิตภัณฑ์อื่นๆ น้อย

สำหรับโครงการ Downstream นั้น จะมีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้นประมาณ 700,000ตันต่อปี (HDPE 300,000ตันต่อปี และ PP 400,000 ตันต่อปี) และจะเน้นการผลิตผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม (High value added product)ให้มากที่สุดเพื่อทำให้มี Margin เพิ่มขึ้น โดยจะใช้ความได้เปรียบจากเครือข่ายการกระจายสินค้าที่มีอยู่ทั้งภายทั้งในประเทศและในภูมิภาคนี้

-กลยุทธ์ Me Too

การคิดขยายกำลังผลิตของ SCC ถือเป็นความคิดลักษณะเดียวกันกับผู้ผลิตปิโตรเคมีรายอื่น ที่เคยเกิดขึ้นให้เห็นหลายครั้งหลายครา และไม่ใช่เรื่องใหม่(ดูล้อมกรอบ) แต่เป็นทางเลือกแบบเก่าที่เคยถูกใช้มาแล้วกับบริษัทปิโตรเคมีในแถบตะวันออกกลาง

รวมทั้งยังเป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นกับผู้ผลิตปิโตรเคมีในประเทศไทยอย่าง บริษัท ไทยโอเลฟินส์ จำกัด(มหาชน)หรือTOC และบริษัท อะโรเมติกส์(ประเทศไทย)จำกัด(มหาชน)หรือATC มาแล้ว ซึ่งเหตุผลของการขยายกำลังการผลิตก็เพื่อรองรับการปรับลดของราคาผลิตภัณฑ์ที่อาจปรับตัวลดลงมากถึง 50 %

Me Too Strategy จึงเป็นทางเลือกที่ปูนใหญ่เลือกใช้เพื่อเกาะไปกับกระแสที่ใครต่อใครเคยทำกันมา ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ผิดหลักเศรษฐศาสตร์ และหลักการตลาดเป็นอย่างมาก เพราะหากทุกคนคิดเหมือนกันหมด จะทำให้ซัพพลายล้นออกมาเกินความต้องการ และจะไม่มีใครได้รับผลประโยชน์ เลยแม้แต่รายเดียว

ทั้งนี้ในความเป็นจริงแล้วยังมีกลยุทธ์อีกแบบ คือ กลยุทธ์การสร้างความแตกต่าง(Cost Differentiation Strategy)ที่มีความเห็นว่า ถ้าทุกคนเชื่อว่าเราสามารถทำได้ก่อนใคร คนอื่นจะแพ้เรา เนื่องจากโอกาสในการสร้างความแตกต่างจะไม่เหมือนกันในแต่ละประเภทอุตสาหกรรม ซึ่ง The Boston Consulting Group (BCG)กล่าวถึงอุตสาหกรรมที่เน้นปริมาณ(Volume industry) ดังนี้

บริษัทในอุตสาหกรรมหาจุดได้เปรียบเชิงการแข่งขันได้น้อย แต่จุดได้เปรียบสร้างกำไรให้บริษัทได้มหาศาล เช่นอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่บริษัทพยายามจะสร้างตำแหน่งการมีต้นทุนต่ำ หรือไม่ก็สร้างตำแหน่งความแตกต่างที่สูงส่งจนประสบความสำเร็จได้ด้วยตำแหน่งดังกล่าว ความสามารถสร้างกำไรของบริษัทขึ้นอยู่กับขนาดและส่วนแบ่งการตลาด

-ความเสี่ยงโอเลฟินส์โรง 2

จากคำพูดของผู้บริหารSCC กล่าวว่าโรงงานโอเลฟินส์แห่งที่ 2 จะสร้างเสร็จภายในอีก 5 ปีข้างหน้า(2553) ซึ่งถือเป็นการเกิดขึ้นที่ไม่ค่อยสดใสนักเนื่องจากเป็นช่วงที่ฝ่ายที่ปรึกษาบริษัทปิโตรเคมีของโลก อย่าง CMAI ,DEWITTและNEXANT 3 เจ้าหลักๆ ซึ่งมีข้อมูลด้านกำลังการผลิต และข้อมูลดีมานด์ซัพพลายของปิโตรเคมีทั่วโลก ได้ออกมาประกาศว่าในปี 2552-2553 จะเป็นรอบที่ธุรกิจปิโตรเคมีเข้าสู่ภาวะตกต่ำที่สุด เนื่องจาก ปริมาณปิโตรเคมีจะเข้าสู่ตลาดโลกเป็นจำนวนมาก

เนื่องจากช่วงนั้นตรงกับช่วงที่โรงงานโอเลฟินส์ ในแถบตะวันออกกลางหลายแห่งสามารถผลิตโอเลฟินส์ออกมาเป็นจำนวนมากพอดี ซึ่งคาดการณ์กันว่าจะมีปริมาณโอเลฟินส์ที่เกิดใหม่ในปี 2553 รวมทั้งสิ้นประมาณ 10 ล้านตันต่อปี โดยโรงงานในแถบตะวันออกกลางจะเริ่มผลิตได้ตั้งแต่ ปี 2550 -2551 และโรงงานในแถบประเทศอิหร่านและซาอุดิอาระเบีย จะเริ่มผลิตในปี 2552-2553

ที่สำคัญโรงงานดังกล่าวจะมีการสร้างส่วนต่อขยายที่เป็นคอมเพล็กขนาดใหญ่ เพื่อก้าวไปสู่ธุรกิจปลายน้ำ(Downstream) ซึ่งสามารถผลิตออกมาเป็นเม็ดพลาสติกชนิด HDPEเหมือนกับแผนของ SCC ที่จะใช้Ethylene มาผลิตจำนวน 3 แสนตัน ส่วนที่เหลืออีก 6 แสนตันยังไม่ทราบว่าบริษัทฯจะใช้ในการผลิตสินค้าปลายน้ำ หรือจะนำไปขายเป็นสาร Ethylene ด้วยเหตุนี้ จึงมีการประเมินกันว่า SCC อาจมีการลงทุนเพิ่มเพื่อขยายในส่วนที่เป็นโครงการ Downstream อย่างแน่นอน

เท่านั้นยังไม่พอทางกลุ่มผู้ผลิตในตะวันออกกลางประกาศที่จะส่งผลผลิตในรูปของเม็ดพลาสติก HDPEมายังตลาดยุโรป และเอเซีย โดยมีเป้าหมายหลักอยู่ที่ประเทศจีนซึ่งจะทำให้เม็ดพลาสติกดังกล่าวมาชนกับเม้ดพลาสติกที่ถูกส่งออกโดย SCC จนอาจทำให้มีสงครามราคาเกิดขึ้นครั้งใหญ่

ทั้งนี้เมื่อเทียบผู้ประกอบการปิโตรเคมีในประเทศในประเทศ อย่าง TOC, NPC,ATC, TPI และ SCC ถือว่ายังเล็กมากเมื่อเทียบกับผู้ผลิตในแถบตะวันออกกลาง ที่มีศักยภาพในด้านการผลิต และการประหยัดต้นทุนสินค้าต่อหน่วย (Economy of scale)ที่ดีกว่า

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ประเทศในกลุ่มตะวันออกกลางไม่ผลิตเม็ดพลาสติกไว้ใช้เองในประเทศเนื่องจากปริมาณการใช้เม็ดพลาสติกในประเทศมีจำนวนไม่มาก

ผลดังกล่าวทำให้ SCC ต้องเจอปัญหาเรื่องเม็ดพลาสติกที่ผลิตออกมาเป็นสินค้าจะอยู่ในตลาดใด หลังความสามารถในการแข่งขันตกเป็นรองในทุกด้าน

-ต้นทุนก่อสร้างพุ่ง

ปัญหาราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งให้ผลให้ต้นทุนค่าก่อสร้าง ทั้งในรูปของวัสดุก่อสร้าง และต้นทุนค่าแรงที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้การสร้างโรงงานโอเลฟินส์ของSCC มีต้นทุนที่สูงขึ้นตามไปด้วย อีกทั้งต้นทุนการก่อสร้างถือเป็นต้นทุนด้านหนึ่งที่จะถูกคิดคำนวณออกมาเป็นต้นทุนราคาผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์ จึงเท่ากับเป็นการปิดช่องทางการแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดโลกไปโดยปริยาย

ทั้งนี้หากนำโรงงานแห่งที่ 2 ที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งมีมูลค่าการลงทุน 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ กับกำลังการผลิตที่จะได้สารEthylene จำนวน 9 แสนตันต่อปี จะทำให้ได้สัดส่วนต้นทุนของสารEthyleneอยู่ที่ 1.2 พันเหรียญสหรัฐต่อตัน ขณะที่ต้นทุนถัวเฉลี่ยทั่วไปของการสร้างโรงงานโอเลฟินส์ จะอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 1 พันเหรียญสหรัฐต่อตัน

ที่สำคัญหากเทียบต้นทุนดังกล่าวกับโรงงานโอเลฟินส์แห่งที่ 1 ของ SCC จะพบว่า ต้นทุนการก่อสร้างอยู่ที่ประมาณ 700-800 เหรียญสหรัฐต่อตันเท่านั้น

ต้นทุนการก่อสร้างที่ต่ำถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งของการถึงจุดคุ้มทุนคืนได้อย่างรวดเร็ว ในทางกลับกันถ้าต้นทุนการก่อสร้างสูงจะทำให้ระยะเวลาการคืนทุนยึดออกไปอีก โดยเฉพาะการสร้างโรงงานในช่วงที่เป็นขาลงของธุรกิจ

ปูนใหญ่คิดไม่ต่างจาก ATC

ยังจำได้ไหมที่ผ่านมา เพิ่มศักดิ์ ชีวาวัฒนานนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทอะโรเมติกส์(ประเทศไทย)จำกัด(มหาชน)หรือATC กล่าวว่า จากแนวโน้มวัฏจักรปิโตเคมีที่คาดว่าจะอยู่ในช่วงขาลงในอี 3 ปีข้างหน้า และกำลังการผลิตของโรงงานที่สูงถึง110% ทำให้ผู้บริหารของอะโรเมติกส์ และผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างปตท. มองเห็นว่า บริษัทฯจำเป็นต้องสร้างโรงงานใหม่เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตและผสานประโยชน์ ในการผลิตและการจัดการในโรงงานอะโรเมติกส์ที่มีอยู่เดิม

เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์เบื้องต้น คือรักษากำไรระดับหมื่นล้านไว้จนกว่าธุรกิจปิโตรเคมีจะกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง ซึ่งเมื่อถึงเวลานั่น โรงงานที่ขยายเพิ่มจะไม่ได้มีประโยชน์แค่รักษาระดับกำไรเท่านั้น แต่จะเป็นตัวสร้างเงินที่สำคัญของบริษัทฯ

ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีราคาจะขึ้นๆ ลง ๆ แต่ เราอยากจะรักษากำไรหมื่นล้านอย่างนี้ไว้นานๆ สิ่งที่ทำได้ คือ ต้องมีผลิตภัณฑ์มากขึ้น จึงจำเป็นต้องสร้างโรงงานATC แห่งที่ 2

โดยจะสร้างเสร็จในปี 2551 ซึ่งตรงกับช่วงปิโตรเคมีขาลงปีแรกพอดี ผลดังกล่าวทำให้บริษัทไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงในช่วงขาลง แต่ถ้ากลับสู่ช่วงขาขึ้นจะช่วยเพิ่มรายได้สูงถึง2 เท่าตัว หรือมากกว่านั้น

เพิ่มศักดิ์อธิบายว่า จากการศึกษาแนวโน้มปิโตรเคมีภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทฯมั่นใจที่จะสร้างโรงงานแห่งที่ 2 โดยที่ผ่านมาได้เซ็น MOU กับหลายบริษัทแล้วเช่นอินโดรามา ที่ทำสัญญาซื้อขายนาน 5 ปี รวมทั้งวัตถุดิบที่มีมากขึ้นหลังจากมีการสร้างท่อส่งคอนเดนเสทจากอ่าวไทย

การลงทุนสร้างโรงงานแห่งที่ 2 จะใช้เงินประมาณ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยบริษัทฯจะกู้เงินจำนวน 300 เหรียญสหรัฐ ส่วนที่เหลือจะนำมาจากผลประกอบการของบริษัท ซึ่งตอนนี้บริษัทมีกระแสเงินสดอยู่ประมาณ 5 พันล้านบาท จึงไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มทุน

ที่มา:
ข่าวหุ้น

 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com