May 16, 2024   12:09:59 AM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องนั่งเล่น > เตือนวิกฤตครั้งหน้า
 

thaihoon
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 14,583
วันที่: 09/12/2011 @ 09:04:34
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

วิกฤติยุติลงไปไม่เท่าใดก็เหมือนกับว่าผู้คนหลงลืมไปเสียแล้ว เพราะวิกฤติทำให้เกิดความทุกข์ยากจึงไม่ใช่เรื่องที่ผู้คนอยากจดจำ

แต่ถ้าไม่อยากทุกข์ยากซ้ำซากต้องทำให้วิกฤติที่ผ่านไปกลายเป็นบทเรียนสำหรับรับมือวิกฤติในครั้งหน้า อย่าปล่อยให้วิกฤติผ่านไปโดยไม่มีคำอธิบายที่เพียงพอว่าวิกฤติเกิดขึ้นมาได้ และยุติลงไปได้อย่างไร อย่าให้วิกฤติที่สร้างความย่ำแย่ให้กับเราเป็นแค่ยถากรรมอีกครั้งหนึ่งของชีวิต อย่างน้อยที่สุดขอให้ได้ใช้ความรู้จากวิกฤตินั้นมา เพื่อให้มีการแจ้งเตือนที่ดีขึ้นในครั้งต่อไป เพราะการรับมือวิกฤติให้ได้ประสิทธิผลนั้นเริ่มต้นจากการแจ้งเตือนที่ดีและมีประสิทธิภาพ


ขอให้หาคำตอบให้ได้ว่าวิกฤติที่ผ่านมานั้น มีการแจ้งเตือนดีเลวมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ อย่าได้จำกัดการแจ้งเตือนอยู่เพียงแค่ที่มาจากผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดการวิกฤติเท่านั้น แท้จริงแล้วทุกวิกฤติที่เกิดขึ้นนั้น มีการแจ้งเตือนเกิดขึ้นอีกอย่างน้อยสองหนทาง คือ การพบเห็นเหตุการณ์ต่างๆ ที่บ่งชี้ว่ากำลังจะมีวิกฤติเกิดขึ้นด้วยตัวเอง เราเห็นเอง เราได้ทราบเอง แต่เราอาจจะละเลยคำเตือนนี้เพราะไม่ใช่ประกาศแจ้งเตือนอย่างเป็นทางการ ซึ่งอาจทำให้เราประมาทจนรับมือวิกฤติได้ไม่ดีเพียงพอ หลายครั้งที่กลายเป็นว่าเสียหายจากวิกฤติทั้งๆ ที่ได้เห็นสิ่งบอกเหตุด้วยตาของตนเองมาล่วงหน้าแล้วนานพอสมควรแต่ละเลยไม่ใส่ใจ ขับรถผ่านไปแล้วเห็นน้ำท่วมสุดหูสุดตา แต่วางเฉยไม่ได้เตรียมตัวอะไรเลย สุดท้ายก็ย่ำแย่ไปกับน้ำท่วมแบบไม่ทันได้ตั้งตัว ดังนั้น เพื่อให้สามารถรับมือกับวิกฤติครั้งต่อไปได้ดีขึ้น ต้องเรียนรู้จากวิกฤติที่ผ่านไปให้รู้ว่าสิ่งบอกเหตุอะไรบ้างที่สามารถใช้แจ้งเตือนตัวเราให้ทราบว่าวิกฤติกำลังใกล้เข้ามาแล้ว แม้ว่าเราจะละเลยสิ่งเหล่านั้นไปในครั้งนี้ แต่คราวหน้าเราจะใส่ใจสิ่งเหล่านั้นเป็นพิเศษ การแจ้งเตือนตนเองนี้แหละที่เป็นด่านแรกในการรับมือวิกฤติได้เป็นอย่างดี





การแจ้งเตือนอีกหนทางหนึ่งที่มีมาเสมอก่อนที่วิกฤติจะมาถึงตัวเรา คือ การบอกกล่าวจากผู้คนที่พบเห็นหรืออยู่ใกล้กับวิกฤตินั้นมากกว่าเรา สมัยก่อนคือการแจ้งเตือนผ่านการสนทนาในสภากาแฟ การประกาศทางวิทยุโทรทัศน์ แต่สมัยปัจจุบันขยายขอบเขตไปถึงเครือข่ายสังคมในหลากหลายรูปแบบบนอินเทอร์เน็ต และได้กลายเป็นหนทางในการแจ้งเตือนที่มีประสิทธิภาพสูงอีกทางหนึ่งด้วย เพียงแต่ต้องรู้จักกลั่นกรองการแจ้งเตือนผ่านเครือข่ายสังคม ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของคนฉวยโอกาสใช้วิกฤติสร้างข่าวร้ายให้ตื่นตระหนกเกินความจริง ถ้ารับทราบการแจ้งเตือนผ่านเครือข่ายสังคมจากหลากหลายแหล่งและคิดวิเคราะห์ความเป็นไปได้อย่างรอบคอบ จะเป็นเสมือนหนึ่งว่าเรามีหูตากว้างไกลมากขึ้น


โดยทั่วไปแล้ว การแจ้งเตือนจะเป็นไปได้สามทาง คือ เตือนได้เหมาะสมล่วงหน้าทันเหตุการณ์ หรือเตือนช้าเกินไปจนไม่ทันรับมือได้ หรือเตือนผิดพลาด ดังนั้น ถ้าจะรับมือวิกฤติครั้งต่อไปให้ดีกว่าครั้งที่ผ่านไป ขอให้พิจารณาว่าวิกฤติที่ผ่านไปนี้เราได้ละเลยการแจ้งเตือนในช่องทางใด หรือเชื่อถือการแจ้งเตือนจากช่องทางใดมากเกินไปหรือไม่ ทั้งนี้ ต้องระลึกไว้ด้วยว่าการแจ้งเตือนอย่างเป็นทางการ ซึ่งมักเป็นการเตือนในภาพรวม ทำให้มีการเตือนที่ถูกต้องสำหรับกลุ่มหนึ่ง ทันเวลาสำหรับกลุ่มหนึ่ง แต่กลายเป็นเตือนผิดพลาด หรือเตือนไม่ทันสำหรับกลุ่มอื่นๆ ได้ ดังนั้น การแจ้งเตือนจากสิ่งบอกเหตุที่เราพบเห็นด้วยตนเอง และจากการบอกกล่าวของผู้คนผ่านเครือข่ายสังคม จึงช่วยลดโอกาสที่จะรับมือช้าเกินไปหรือผิดพลาดไปได้บ้าง การใช้การแจ้งเตือนเสริมจากทั้งสองหนทางอย่างน้อยก็จะช่วยลดความย่ำแย่จากการรับมือวิกฤติผิดพลาดเพราะตั้งตัวไม่ทันหรือเสียเงินเสียทองตั้งรับวิกฤติไปมากมายจากการแจ้งเตือนที่ผิดพลาดของผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องไปได้มากบ้างน้อยบ้าง


นอกจากจะเป็นผู้รับการแจ้งเตือนแล้ว ทุกคนสามารถทำหน้าที่เป็นผู้แจ้งเตือนวิกฤติได้เช่นกัน ถ้าช่วยกันเตือนช่วยกันบอกสิ่งบอกเหตุวิกฤติที่พบเห็นให้คนอื่นได้ทราบ การรับมือวิกฤติในภาพรวมย่อมดีขึ้น ถ้าจะช่วยกันแจ้งเตือนวิกฤติให้ได้ผลต้องรับรู้ความจริงเกี่ยวกับการรับฟังการแจ้งเตือนของผู้คนไว้สองสามประการ ได้แก่ คนเราไม่ต้องการรับทราบความน่าจะเป็นในการที่วิกฤติจะมาถึงตนเอง แต่คนทั่วไปคิดแค่ว่าวิกฤติจะมาถึงหรือไม่มาถึงเท่านั้น การบอกว่าโอกาสที่วิกฤติจะมาถึงคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์แทบไม่มีประโยชน์กับการตัดสินใจรับมือวิกฤติ ถ้าพบเห็นสิ่งบอกเหตุว่ามีวิกฤติแน่ๆ ก็บอกต่อไปเลยว่าได้พบวิกฤติเกิดขึ้นที่ไหน และรุนแรงเพียงใด คนที่ได้ทราบการแจ้งเตือนนี้ จะได้เตรียมตัวรับมือได้อย่างเหมาะสมตามความคิดของเขาเอง


หากเปรียบเทียบกันระหว่างการแจ้งเตือนก่อนที่วิกฤติจะมาให้เห็น กับแจ้งเตือนเมื่อมองเห็นวิกฤติอยู่ไกลๆ แล้ว พบว่าแจ้งเตือนเมื่อเห็นวิกฤตินั้นทำให้คนรับฟังและเตรียมตัวรับมือได้ดีกว่า และที่สำคัญขึ้นไปอีกคือผู้คนไม่ได้ต้องการให้แจ้งเตือนว่าต้องทำอะไร แต่ผู้คนต้องการให้บอกว่ากำลังจะเกิดวิกฤติในลักษณะใดขึ้นมาต่างหาก โดยต้องมีรายละเอียดที่เพียงพอสำหรับที่จะให้คิดต่อไปได้เองว่าจะรับมือวิกฤตินั้นอย่างใดต่อไป การแจ้งให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ในขณะที่ยังมองไม่เห็นวิกฤติ เป็นได้แค่สร้างความหวาดกลัวให้กับคนขวัญอ่อน จนมีการตระเตรียมการที่มากเกินความจำเป็น หรือในทางตรงข้ามถ้าเตือนแล้วแต่มองไม่เห็นวิกฤติใกล้ตัว ย่อมทำให้ความเชื่อถือที่มีต่อคำเตือนและผู้แจ้งเตือนน้อยลง จนกลายเป็นความประมาทในการรับมือวิกฤติ แล้วสูญเสียอย่างมากมายเมื่อวิกฤติมาถึงตัว ทั้งนี้ จะเตือนใครให้ทราบเรื่องวิกฤติต้องมั่นใจว่าเรามีความน่าเชื่อถือที่เพียงพอ และบอกกล่าวคำเตือนในจังหวะที่สมควร บอกเตือนเพียงแค่ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นโดยไม่ต้องย้ำเตือนว่าต้องทำอย่างไรบ้าง ถ้าเป็นคนที่มีความรู้ มีประสบการณ์เกี่ยวกับวิกฤตินั้นมาบ้าง ขอแค่บอกให้ทราบว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ต่างคนต่างหาวิธีรับมือกับวิกฤตินั้น ตามแนวความคิดของตนเองได้


การแจ้งเตือนที่สำคัญที่สุด คือ แจ้งให้ผู้คนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขวิกฤติ ไม่ใช่เพียงแค่รอให้คนที่มีหน้าที่มาแก้ไขให้แต่เพียงอย่างเดียว วันใดที่รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของกลไกในการแก้ไขวิกฤติ ผู้คนจะช่วยคิดช่วยทำต่อๆ กันไปอย่างจริงจัง วิกฤติเกิดขึ้นเมื่อใด ต้องเตือนทันทีให้ทุกคนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขวิกฤติ ถ้าไม่เตือนกันไว้ให้ดีแล้ว เกิดวิกฤติเมื่อใด เมื่อนั้นจะมีแต่คนคอยชี้ให้คนอื่นทำอย่างนั้นอย่างนี้ โดยที่ตัวเองไม่ได้ทำอะไรสักอย่างในการแก้ไขลดทอนวิกฤตินั้น ชี้แล้วคนอื่นไม่ทำตามก็ยังไปด่าคนทำงานให้หมดกำลังใจเสียอีก



Tags : ดร.บวร ปภัสราทร
ดร.บวร ปภัสราทร
ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ประจำคอลัมน์ "ก้าวไกล วิสัยทัศน์"

 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com