ปัจจัยที่มีผลต่อราคาสินค้าในตลาดซื้อขายสินค้าล่วงหน้า
ปกติแล้วสินค้าเกษตรเป็นสินค้าที่มีปัจจัยเกี่ยวข้องกับอุปสงค์อุปทานมากเป็นพิเศษ โดยปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับสินค้าก็เช่น
1.การเปลี่ยนแปลงนโยบายการเกษตรของรัฐบาล
เช่นการกำหนดพื้นที่เพาะปลูก การส่งออก การให้สินเชื่อแก่ภาคเกษตร การประกันราคาสินค้าเกษตร ฯลฯ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนโยบายแต่ละครั้ง ก็จะทำให้อุปสงค์อุปทานเปลี่ยนแปลงไป
2.เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นทั้งในและนอกประเทศเช่น โรคระบาด สึนามิ ภัยสงคราม
เหล่านี้จะกระทบกับอุปสงค์อุปทานและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านราคาแน่นอน
3.สภาพลมฟ้าอากาศ
จะส่งผลต่อปริมาณผลิตผลและคุณภาพการผลิตโดยตรงซึ่งจะกระทบกับราคาสินค้าตลอดทั้งปี อีกทั้งสภาพอากาศที่รุนแรงก็จะส่งผลต่อการขนส่งที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรด้วย
4.การเปลี่ยนแปลงค่าเงิน
การลดค่าเงินของประเทศคู่ค้าจะทำให้ราคาสินค้านำเข้าลดลงส่งผลให้ราคาสินค้าในตลาดซื้อขายล่วงหน้าลดลงด้วย ในทางกลับกัน หากค่าเงินของประเทศคู่ค้าแข็งค่าขึ้น ก็ทำให้ราคาสินค้าที่นำเข้ามาสูงขึ้น ดังนั้นราคาสินค้าในตลาดซื้อขายล่วงหน้าก็จะสูงขึ้น
5.สภาพเศรษฐกิจโดยรวม
ช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำความต้องการสินค้าโดยรวมก็จะน้อยลงด้วย ทำให้ราคาสินค้าในตลาดซื้อขายลดลง
6.การเคลื่อนไหวของราคาตามฤดูกาล
เป็นลักษณะพิเศษที่จะพบได้เฉพาะสินค้าการเกษตรเท่านั้น ทั้งนี้ราคาตามฤดูกาลเกิดขึ้นเพราะอุปสงค์เป็นไปตามฤดูกาล โดยเฉพาะสินค้าเกษตรในแต่ละปีจะเคลื่อนไหวในลักษณะนี้เช่น ข้าวนาปี และพืชไร่ต่างๆ ช่วงต้นฤดูจะมีราคาแพงแต่เมื่อช่วงกลางฤดูราคาจะต่ำลงมาก และจะเขยิบขึ้นเมื่อถึงช่วงปลายฤดู
7.การเคลื่อนไหวของราคาตามวัฎจักร
เป็นการเปลี่ยนแปลงราคาเป็นช่วงๆ ในแต่ละช่วงอาจจะใช้เวลาหนึ่งปีหรือมากกว่า โดยราคาจะเคลื่อนไหวเป็นช่วง โดยช่วงหนึ่งราคาจะสูง ถัดจากนั้นราคาจะต่ำ สลับกันไปเป็นช่วงๆ
8.ความต้องการในการถือครองเพื่อลงทุน
มีบทบาทอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากกระแสการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์เริ่มได้รับความนิยมในหมู่นักลงทุนเรื่อยๆ เพราะลดความเสี่ยงได้ดี และยังเป็นการลงทุนที่ให้ผลน่าพอใจการเก็งกำไรแบบนี้ทำให้เกิดความต้องการมหาศาลโดยฉับพลัน ซึ่งส่งผลให้ราคาขยับขึ้นลงเร็วผิดธรรมชาติ