May 3, 2024   4:35:56 AM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > ดันBECขึ้น"โฮลดิ้งส์ ทวงความมั่งคั่ง.คืนสู่มาลีนนท์
 

????
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 1,238
วันที่: 07/04/2006 @ 22:32:30
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

จับตาภารกิจทวงคืนความมั่งคั่ง ตระกูลมาลีนนท์ กำลังแปลงโครงสร้าง บีอีซี เวิลด์ (BEC) ขึ้นสู่ โฮลดิ้งส์ คัมปานี หลังจากช่วงสองปีที่ผ่านมา ผลดำเนินงานของ BEC ค่อนข้างจะลุ่มๆดอนๆมาตลอด จนไปบีบ มูลค่าหุ้น BEC ให้หายวับไปกว่า 2 หมื่นล้านบาท


ภารกิจทวงคืน ความยิ่งใหญ่ ถูกบรรจุไว้ในยุทธศาสตร์หลักปี 2549 ทำให้เส้นทางสายบันเทิงของ ตระกูลมาลีนนท์ อดีตแชมป์ตระกูลเศรษฐีหุ้นไทยเมื่อปี 2546 (ปัจจุบันหล่นไปอยู่ อันดับ 3) เริ่มกลับมาน่าจับตาอีกครั้ง

หลังจากที่สองทายาทของตระกูล ดร.แคทลีน มาลีนนท์ และ เทรซี่ แอนน์ มาลีนนท์ บุตรสาว 2 คนของ ประชา มาลีนนท์ ตัดสินใจขนเงินจากกงสีกว่า 191.97 ล้านบาท เข้าไปฮุบหุ้นใหญ่ใน ซีวีดี เอ็นเตอร์เทนเมนท์ (CVD) มาจากกลุ่ม หงษ์ฟ้า และกลุ่ม ว่องสุภัคพันธุ์ คิดรวมเบ็ดเสร็จ 7.12 ล้านหุ้น หรือ 21.97% ที่ราคาหุ้นละ 27 บาท

โดยเมื่อนำหุ้นใหม่ (ส่วนตัว) ไปรวมกับสัดส่วนเดิมที่ บีอีซี เวิลด์ (ตระกูลมาลีนนท์ถือหุ้น 56.58%) ถือหุ้นใน ซีวีดี อยู่ก่อนหน้านั้น จำนวน 6.33 ล้านหุ้น หรือ 19.52% กับหุ้นของ อัมพร มาลีนนท์ อีก 221,500 หุ้น คิดเป็น 0.68%

เท่ากับว่า ตระกูลมาลีนนท์ สามารถกักตุน หุ้น CVD ไว้ได้แล้วทั้งสิ้น 13.65 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนถึง 42.11%

เป็นการปิดตำนาน 21 ปี ของเจ้าพ่อหนังแผ่น เผด็จ หงษ์ฟ้า เพื่อพา ซีวีดี ขึ้นสู่บันทึกหน้าใหม่ด้วยมือของคน มาลีนนท์

ผ่านแนวคิดในการ ซีเนอยี่ ระหว่าง BEC และ CVD ที่พร้อมจะสะท้อนอนาคตธุรกิจผ่านราคาหุ้น...ในทิศทางเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ทางด้าน ฉัตรชัย เทียมทอง ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินของ บมจ.บีอีซี เวิลด์ (มือการเงิน ประจำตระกูลมาลีนนท์) กลับแสดงท่าทีว่า ในการเคลื่อนทุนเข้าไปซื้อหุ้นเกือบครึ่งมาจาก CVD ต้องแยกให้ออกว่า การเข้าไปซื้อหุ้นของ 2 ทายาทมาลีนนท์ครั้งนี้ เป็นเพียงการลงทุนส่วนตัว

เพราะฉะนั้น สัดส่วนการครองหุ้น จึงไม่เกี่ยวข้องกับภาพของ บีอีซี เวิลด์ ตามมุมมองหรือกฎของ ก.ล.ต.

บริษัทจึงไม่เข้าข่ายถือหุ้นเกิน 25% ซึ่งจะต้องทำคำเสนอซื้อจากผู้ถือหุ้นรายอื่น (เทนเดอร์ ออฟเฟอร์) ขณะเดียวกัน ทาง บีอีซี เวิลด์ เอง ก็ไม่ได้แสดงเจตนาที่จะ เทคโอเวอร์ กิจการของ CVD แต่อย่างใด

จึงขอยืนยันกับนักลงทุนว่า บีอีซี เวิลด์ จะไม่ทำคำเสนอซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ เทนเดอร์ ออฟเฟอร์ อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ดี แม้จะหลบพ้นกติกาเทนเดอร์ ออฟเฟอร์ แต่หากมองในภาพทางธุรกิจ ก็กลายๆ ว่าดีลของ 2 ทายาทมาลีนนท์ในการทุ่มซื้อหุ้น CVD ในคราวนี้ ก็เปรียบได้กับการ เทคโอเวอร์ ไว้แล้วในทางพฤตินัย

เนื่องจากว่า บีอีซี เวิลด์ ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุด จะสามารถเข้ามามีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แทนที่กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมของ เผด็จ หงษ์ฟ้า ซึ่งเลือกที่จะ ยุติบทบาท ในเครือซีวีดี หลังก่อตั้งมากว่า 21 ปี

ผู้เชี่ยวชาญวงการบันเทิงมองความเคลื่อนไหวของกลุ่ม บีอีซี เวิลด์ ไว้ว่า ซีวีดี น่าจะเป็นอีก จิ๊กซอว์ ชิ้นสำคัญเพื่อเดินแผนขยายอาณาจักร มาลีนนท์ ที่ต้องการปรับโครงสร้างธุรกิจของ บีอีซี เวิลด์ ให้ขึ้นสู่การเป็น โฮลดิ้งส์ คัมปานี บนถนนสายบันเทิง...อย่างสมบูรณ์

และเป็นยุทธศาสตร์กระจาย ความเสี่ยง ของตระกูลมาลีนนท์ หลังจากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รายได้ของบริษัทส่วนใหญ่ กระจุกตัว อยู่กับการดำเนินงานของภาคทีวี ช่อง 3 เป็นสำคัญ

ผู้บริหารของ บีอีซี เวิลด์ ตระหนักดีว่า การพึ่งพารายได้จากเงินโฆษณาด้วยสัดส่วนถึง 85% ย่อมเสี่ยงเกินไป โดยเฉพาะ รายได้ที่มาจากโฆษณา มากกว่า 50% ก็มาจากเวลาโฆษณาในช่วงละคร...หลังข่าวภาคค่ำ

ฉัตรชัย อธิบายภาพใหม่ของบริษัทว่า อนาคตต่อไปของเราต้องไม่ใช้การรอเพียงเงินโฆษณาจากละครหลังข่าวเท่านั้น นั่นเหมือนเอาทั้งชีวิตไปแขวนไว้กับความเสี่ยงที่มีโอกาสพลิกล็อกได้ตลอดเวลา

เพราะรายการละครมันมีกำหนดในเรื่องของเวลา และเวลาฉายก็มีโอกาสถูกเปลี่ยนโดยตลอด ยิ่งหากรายการนั้นๆ ไม่ได้รับความนิยม รายได้ มันก็จะหายวับทันที

...และเช่นกัน ราคาหุ้น BEC ก็พร้อมที่จะวูบลงตามไป

จากกรณีศึกษาเมื่อต้นปี 2547 ถึงปลายปี 2548 ...มาร์เก็ตแคปของอาณาจักร บีอีซี เวิลด์ ได้สูญหายไปอย่างมหาศาลร่วมๆ 2 หมื่นล้านบาท จนส่งผลให้ความมั่งคั่งของคนเชื้อสาย มาลีนนท์ ถดถอยอย่างน่าใจหาย

นั่นคือ ประสบการณ์ในการดำลึกของ มาร์เก็ตแคป ซึ่งเคยขยับขึ้นไปถึง 4.52 หมื่นล้านบาท (หุ้นละ 226 บาท พาร์ 10 บาท) แต่ปัจจุบันลดฮวบเหลือเพียง 2.56 หมื่นล้านบาท (หุ้นละ 12.80 พาร์ 1 บาท)

หนทางของ กลุ่มมาลีนนท์ ในการฟูมฟักให้ความมั่งคั่งกลับคืนมา มีทางเดียวคือ ราคาหุ้นต้องกลับมาอีกครั้ง

นักวิเคราะห์รายหนึ่งแสดงความเห็นว่า วิธีการที่จะให้ บีอีซี เวิลด์ ก้าวขึ้นเป็น โฮลดิ้งส์ คัมปานี ซึ่งถือเป็นอีกแนวทางในการ เพิ่มมูลค่า ให้กับหุ้นของ บีอีซี เวิลด์ และนับว่าเป็นทางออกที่น่าสนใจทีเดียว

หลังจากก่อนหน้านั้น ตระกูลมาลีนนท์ ได้เคยมีความพยายามที่จะนำ บ.บีอีซี-เทโรเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ซึ่งอยู่ในธุรกิจ จัดคอนเสิร์ต และ แสดงโชว์ เข้ามาระดมทุนในตลาดหุ้น เพียงแต่ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นขณะนั้นกลับไม่แสดงท่าทีต้อนรับ จนกระทั่งสภาพทางธุรกิจของ บีอีซี-เทโรเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ก็เริ่มง่อนแง่น และน่าวิตกขึ้นทุกที

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานไตรมาส 4 ที่ผ่านมา บีอีซี เวิลด์ มีส่วนแบ่งรายได้จากธุรกิจ คอนเสิร์ต และ แสดงโชว์ รวมกันเพียง 162 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 25% ที่มีรายได้ร่วมๆ 220 ล้านบาท

เมื่อแผนระดมทุนของ บีอีซี เทโรฯ ยังคงถูก กัน ไว้นอกตลาดหลักทรัพย์ จึงทำให้แผนการซื้อ ซีวีดี ถูกบรรจุเข้าสู่แผนขยายความมั่งคั่งของตระกูลมาลีนนท์

เนื่องจากว่า หลังจากนี้ไป บีอีซี เวิลด์ สามารถที่จะแสดงบทเป็นผู้กำกับ สั่งให้ ซีวีดี ซ้ายหันขวาหันได้ตามต้องการ ขอเพียงให้สามารถ เกื้อกูล ต่อธุรกิจของกลุ่มบีอีซีเท่านั้นพอ

ภาพการเชื่อมโยงก็คือ ยกตัวอย่างธุรกิจคอนเทนท์ของ บีอีซี เวิลด์ จะสามารถได้รับการสนับสนุนผ่านช่องทางขายของ ซีวีดี ที่มีกระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งจะดำเนินไปอย่าง WIN - WIN

โดย ฉัตรชัย ยอมรับว่า หลังจากที่ทางกลุ่มของ เผด็จ หงษ์ฟ้า ขายหุ้นออกมาแล้ว แนวทางของบริษัทซีวีดีต่อจากนี้ไป ก็อาจจำเป็นต้องมีการสับเปลี่ยนโครงสร้างผู้บริหาร เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งกลุ่มธุรกิจ

มั่นใจได้ว่า กลุ่มผู้บริหารของเรา มีทั้งความสามารถและคอนเนคชั่นที่ไม่เป็นรองคุณเผด็จ อย่างแน่นอน ฉัตรชัย กล่าวพร้อมอธิบายต่อไปว่า

ยอมรับว่าคุณเผด็จ เขาลึกในเรื่องของคอนเนคชั่น แต่ทางเราก็มีคอนเทนท์ (หนัง) และเราก็คุ้นเคยกับหนังต่างชาติ เพราะเราเคยติดต่อซื้อมาก่อน และก็ยังทำอยู่ สัมพันธ์ไมตรีเราก็มี แม้จะเป็นเรื่องยากในการสรรหามืออาชีพ(คนใหม่)มานั่งบริหาร แต่ไม่ใช่ว่าจะหาไม่ได้

...เราอยู่ในอุตสาหกรรมนี้มาตลอด ค่ายหนังต่างๆ เราเองก็รู้จักดี

แผนธุรกิจของ บีอีซี เวิลด์ นับจากวันนี้ จึงยิ่งน่าสนใจ เพราะปัจจุบัน บีอีซี เวิลด์ ก็ยังมีบริษัทย่อยอยู่ถึง 16 แห่ง หากบริษัทใดมีความสามารถในการทำกำไรมากพอ การที่จะผลักดันเข้าตลาดหุ้น เพื่อสร้างมูลค่าให้แก่หุ้น BEC ในทางอ้อม...นั่นย่อมมีความเป็นไปได้

ขณะที่ คอร์บิสซิเนส ของบริษัท ซึ่งก็คือ สถานีโทรทัศน์ ช่อง 3 ถึงวันนี้ ดูคล้ายกำลังจะฟื้นตัวอีกรอบ การันตีได้ระดับหนึ่งด้วยผลจากการสำรวจของ เอซี นีลเส็น ที่ยืนยันว่า

ตลอดช่วง 2 เดือนแรกของปี 2549 อัตราการโฆษณาของช่อง 3 เติบโตมากสุดถึง 28% ...ขณะที่อุตสาหกรรมโฆษณาทางโทรทัศน์ในภาพรวม สามารถเติบโตได้เพียง 8% เท่านั้น

ฉัตรชัย อธิบายว่า การออกอากาศของ ช่อง 3 ได้รับกระแสความนิยม มาตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน 2548 โดยเชื่อว่ากระแสยังน่าจะแรงไปได้จนถึงเดือน พฤษภาคม 2549 เป็นอย่างน้อย

โดยเฉพาะอัตราค่าโฆษณาในช่วงละครช่วงค่ำ (ไพร์มไทม์) ที่ยังคงอัตราค่าเช่าไว้ได้ถึงนาทีละ 420,000 บาท ที่ยืนมาตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งถือว่าดีมากๆ เมื่อเทียบกับโทรทัศน์ช่องอื่นๆ ในช่วงเวลาเดียวกัน จนกระทั่งตอนนี้บริษัทต้องขยายอัตรานี้ไปกระทั่งถึงเวลาออกอากาศจนเกือบเวลา 5 ทุ่ม

อย่างไรก็ตาม อัตราค่าโฆษณาช่วงไพร์มไทม์ที่ 420,000 บาทต่อนาที จะมีการปรับราคาหรือไม่นั้น คงต้องรอพิจารณาในเดือนตุลาคมปีนี้ ซึ่งถ้ามีการปรับ...ก็คงจะปรับขึ้นประมาณ 8-10%

นอกจากนี้ การดำเนินรายการของ ช่อง 3 ในปีนี้ จะพยายามเน้นอยู่บนแผน กระจายความเสี่ยง ให้มากที่สุด โดยการเคลื่อนยุทธศาสตร์ไปสู่การ หากิน จากช่วงเวลาอื่นๆ โดยเฉพาะ รายการช่วงเช้า โดยมีการปรับอัตราโฆษณาเป็นนาทีละ 135,000 บาท พร้อมมีการขยายเวลาโฆษณาจาก 12 นาที เป็น 15 นาที ...ซึ่งถึงวันนี้รายการภาคเช้าสามารถสร้างรายได้ด้วยสัดส่วนที่สูงกว่า 10% ของเงินโฆษณา

...จึงมั่นใจว่ารายได้จากโฆษณาของ บีอีซี เวิลด์ ในปี 2549 จะเติบโตสูงกว่าอุตสาหกรรมรวมอย่างแน่นอน

 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com