April 30, 2024   10:29:55 PM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > ช้างใหญ่" ติดหล่ม..??? เครือซิเมนต์ไทย..ถึงคราวชะลอ
 

????
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 1,238
วันที่: 29/04/2006 @ 10:49:10
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

ด้าน ปูนกลาง-ปูนทีพีไอ ก็ตกอยู่ในสภาพ ติดหล่ม ไม่แตกต่าง.. ขณะที่กองทุนยักษ์รัฐบาลสิงคโปร์ จีไอซี เป็นเสือปืนไว รีบทิ้งหุ้น SCC จนไม่ติดชาร์ทรายใหญ่


สัญญาณอันตรายหุ้น ปูนใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ฉายแววชัดขึ้นเรื่อยๆ ภายหลังกลุ่มธุรกิจหลักต่างเผชิญศึกหนัก โดยเฉพาะธุรกิจ..ปิโตรเคมี ได้รับผลกระทบจากวัฏจักร ขาลง ของราคาผลิตภัณฑ์

บวกกับความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ภายในประเทศเริ่มชะลอตัวลง..ผลพวงโดยตรงมาจากปัญหาราคาน้ำมันแพง ทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลง

แม้ว่าราคาหุ้นปูนใหญ่ จะแข็งแกร่งยืนราคาได้ระหว่าง 230-250 บาท แต่ราคาหุ้นก็ไปไหนไม่ได้ไกล..เปรียบเสมือนช้างที่กำลัง ติดหล่ม

อันที่จริงอาการสะดุดของกำไรสุทธิ เครือปูนใหญ่ เริ่มส่งสัญญาณ ชะลอตัว มาตั้งแต่ไตรมาส 3 ปีที่แล้ว (2548) เรื่อยมา...

หลังจากที่บริษัทประสบปัญหา มาร์จินหด ในธุรกิจปิโตรเคมี และธุรกิจกระดาษและบรรจุภัณฑ์ จนทำให้กำไรสุทธิของเครือลดลงไปถึง 30% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สวนทางกับ ยอดขาย ที่ยังคงเพิ่มขึ้น

ผลประกอบการของธุรกิจปิโตรเคมี และ ธุรกิจกระดาษและบรรจุภัณฑ์ ที่ลดลง ยังคงส่งผลต่อผลกำไรของปูนใหญ่ ชะลอตัว ต่อเนื่องมาจนถึงไตรมาสแรก ปี 2549

ล่าสุด เครือซิเมนต์ไทย ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาสแรก มีกำไรสุทธิ 9.55 พันล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากงวดเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 87% จากไตรมาสก่อน เนื่องจากปูนใหญ่มีกำไรจากการถือหุ้นเพิ่มจาก 17% เป็น 21% ในบริษัทร่วม คือ บริษัท กรุงเทพซินธิติกส์ (เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตยางสังเคราะห์) จำนวน 1.4 พันล้านบาท

...แต่หากไม่รวมกำไรจากบริษัทร่วมแห่งนี้ จะทำให้กำไรของปูนใหญ่หดตัวลงถึง 19%

ในขณะที่ยอดขาย แม้ยังคงเพิ่มขึ้น แต่เป็นการเพิ่มขึ้นจากราคาผลิตภัณฑ์ในธุรกิจเคมีภัณฑ์ที่สูงขึ้น และผลการดำเนินงานของ บริษัท ไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ (TPC) และบริษัท ไทยบริติช ซีเคียวริตี้ พริ้นติ้ง (TBSP) ที่นำงบการเงินมารวมกับเครือปูนซิเมนต์ไทยในงวดนี้ ทำให้มียอดขายสุทธิ 6.4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% จากงวดเดียวกันของปีก่อน

ก่อนหน้านั้นเครือซิเมนต์ไทย ได้มีนโยบายปรับโครงสร้างธุรกิจ โดยลดบทบาทการลงทุนในธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักของกลุ่ม ซึ่งในปีนี้ได้ตัดสินใจขายหุ้น บริษัท เทเวศประกันภัย (DVS) สัดส่วน 20.87% ให้แก่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

นอกจากนี้ยังได้ขายหุ้น บริษัท มิลเลนเนียม สตีล (MS) ที่ถืออยู่ทั้งหมดออกไปอีกด้วย

ปัจจุบันธุรกิจหลักของ เครือซิเมนต์ไทย แยกกลุ่มธุรกิจเป็น 5 สาย ประกอบด้วย ธุรกิจเคมีภัณฑ์ ,กระดาษ ,ปูนซีเมนต์ ,ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง และธุรกิจจัดจำหน่าย ซึ่งปัจจุบันทุกกลุ่มธุรกิจดังกล่าวได้รับผลกระทบจากปัญหาต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น

ด้านโบรกเกอร์มองแนวโน้มผลการดำเนินงานของปูนใหญ่ปีนี้ (2549) ยังเติบโตชะลอตัว เนื่องจากทุกกลุ่มธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างมากจากราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้น ประกอบกับความต้องการใช้ปูนซีเมนต์จะไม่โตขึ้น หลังจากโครงการเมกะโปรเจคของรัฐบาลต้องเลื่อนออกไป

อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ มองว่าหุ้นปูนใหญ่ ยังไม่ถึง จุดเลวร้าย เนื่องจากกำไรของบริษัทไม่ได้หดหายไปมากมาย เพียงแต่เกิดการชะลอตัวเท่านั้น ซึ่งถ้าหากเครือซิเมนต์ไทย สามารถบริหารจัดการต้นทุนการดำเนินงานให้ลดลงได้ รวมถึงกลุ่มธุรกิจหลักกลับสู่สถานการณ์คลี่คลาย ก็จะทำให้กำไรของปูนใหญ่กลับมาเติบโตได้อีกครั้ง

ด้านฝ่ายวิจัย บล.นครหลวงไทย มองว่า แนวโน้มการเติบโตของปูนใหญ่ปีนี้จะยังชะลอตัว เนื่องจากสเปรดของธุรกิจปิโตรเคมีลดลง ตามกำลังผลิตจากจีน ไต้หวัน และอิหร่าน ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ความต้องการใช้ซีเมนต์ในประเทศก็ชะลอตัวลง แต่ต้นทุนราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น จะกดดันต่อมาร์จินของกลุ่ม

ฝ่ายวิจัยแห่งนี้ยังมองว่า ความผันผวนของสินค้าที่เป็นคอมโมดิตี้ในธุรกิจปิโตรเคมี และกระดาษ และการชะลอโครงการเมกะโปรเจคของภาครัฐ จะทำให้ธุรกิจซีเมนต์ขยายตัวน้อยกว่าที่คาด

ในแง่กลยุทธ์การลงทุน โบรกเกอร์หลายราย แนะนำให้ เลี่ยง ลงทุนออกไปก่อน เนื่องจากราคาหุ้นไม่มีการเคลื่อนไหว และยังอยู่ท่ามกลางปัจจัยลบ ควรลงทุนเมื่อราคาอ่อนตัว เพราะยังถือว่าเป็นหุ้นที่จ่ายเงินปันผลดีตัวหนึ่ง

ขณะที่นักลงทุนสถาบัน เช่น กองทุน จีไอซี ของรัฐบาลสิงคโปร์ ได้ทยอยขายหุ้นปูนใหญ่ออกไปตั้งแต่ปี 2547-2548 จนปีนี้ (2549) พบว่า ได้ขายหุ้นออกไปจนไม่ติดอันดับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ถึง 0.5%

โดยกองทุน จีไอซี เมื่อ 8 เมษายน 2547 ถือหุ้นปูนใหญ่อยู่ 9,426,600 หุ้น หรือ 0.79% และเพิ่มการถือหุ้นในเดือนสิงหาคม 2547 เป็น 11,088,650 หุ้น หรือคิดเป็น 0.92%

ต่อมาในปี 2548 มีรายงานการถือหุ้น 3 ครั้ง คือ เมื่อ 3 มีนาคม 2548 ลดการลงทุนเหลือ 10,400,300 หุ้น สัดส่วน 0.87% แต่มาในปี 2549 ไม่พบการถือหุ้นของ จีไอซี ในโครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัทแต่อย่างใด

เชื่อว่าการที่ จีไอซี ถือหุ้น SCC แล้วไม่เฟอร์ฟอร์ม จึงได้ขายหุ้นออกไปทั้งหมด แม้ว่าเป็นสัญญาณไม่ดีกับหุ้น แต่ก็เป็นการทำกำไรแล้วจึงออกไป ซึ่งถือเป็นการลดความเสี่ยงและหาโอกาสลงทุนในหุ้นตัวใหม่ที่มีผลตอบแทนที่ดีกว่า สะท้อนว่ากำไรของปูนใหญ่จะไม่เติบโตหรือลดลง เขาจึงออกไป นักวิเคราะห์รายหนึ่งกล่าว

ด้านหุ้นปูนกลาง บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง (SCCC) และ บริษัท ทีพีไอ โพลีน (TPIPL) ก็มีอาการ ติดหล่ม ไม่แพ้ ปูนใหญ่

แม้ผลประกอบการไตรมาส 1/2549 ของ SCCC จะยังไม่ออกมา แต่นักวิเคราะห์จาก บล.กิมเอ็ง คาดว่า กำไรขั้นต้นของบริษัทจะหดตัวเหลือ 32% จากปีก่อน 34% ขณะที่กำไรสุทธิของบริษัทจะทรงตัวจากปีก่อน โดยจะมีกำไรที่ 4,165 ล้านบาท และมียอดขาย 2.4 หมื่นล้านบาท

ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาเดียวกันกับปูนใหญ่ คือ ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศชะลอตัว ตลอดจนปัญหาต้นทุนด้านพลังงานที่สูงขึ้น

ขณะที่ผลกำไรไตรมาส 4/2548 ทรุดหนัก มีกำไรสุทธิเพียง 661 ล้านบาท ลดลงถึง 25% จากปีก่อน

ด้าน ทีพีไอ โพลีน นับว่าอยู่ในอาการย่ำแย่ที่สุด แม้ผลงานไตรมาสแรกปี 2549 จะดีขึ้นจากที่มีผลขาดทุนในไตรมาสก่อน แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ก็มีผลกำไร ลดลง ถึง 68%

แม้ว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้น 7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ด้วยต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นลดจาก 30.4% เป็น 23.6% ในไตรมาสแรกปีนี้ บวกกับค่าใช้จ่ายการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น ทำให้ EBITDA ลดลง 20% ขณะที่ราคาหุ้นปัจจุบันมีค่าพี/อีสูงถึง 13 เท่า และสูงกว่ามูลค่าพื้นฐานที่ 18 บาท ที่เราประเมิน จึงแนะขาย บล.ซีมิโก้ ระบุไว้ในบทวิเคราะห์

 กลับขึ้นบน
NIKKEI
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 146
#1 วันที่: 29/04/2006 @ 17:20:48 : re: ช้างใหญ่" ติดหล่ม..??? เครือซิเมนต์ไทย..ถึงคราวชะลอ
งืม ๆ ๆ .0004
 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com