April 30, 2024   11:00:35 PM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > ไขความลับ..วายุภักษ์ หนึ่ง
 

????
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 1,238
วันที่: 29/04/2006 @ 10:51:27
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

ตั้งข้อสังเกตวิธีการโยกหุ้นบุริมสิทธิ ธ.ไทยพาณิชย์ (SCB-P) ของกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง (มูลค่าเป็นอันดับ 2 ของพอร์ต) จำนวน 625 ล้านหุ้นไปให้กับกระทรวงการคลัง ...ก่อนถึงวันปิดสมุดทะเบียนเพื่อจ่ายปันผล ซึ่งจะทำให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ได้ประโยชน์จากเงินปันผลนั้นแทน


ดร.พิชิต อัคราทิตย์ อธิบายกรณีที่เกิดขึ้นว่า เนื่องจากตาม พ.ร.บ. ธนาคารพาณิชย์ กำหนดไว้ว่าบุคคลหรือนิติบุคคลใดที่ถือหุ้นของธนาคารเกินกว่า 5% ผู้ถือหุ้นนั้นจะไม่มีสิทธิได้รับเงินปันผลในส่วนที่ถือหุ้นเกิน 5% และไม่สามารถออกเสียงได้

วิธีหาทางเลี่ยง...เพื่อไม่ให้ผู้ถือหน่วยเสียผลประโยชน์ ก็คือ โอนหุ้น SCB-P ในส่วนที่เกิน 5% ไปให้แก่กระทรวงการคลังก่อนวันปิดสมุดทะเบียน โดยที่ทางกองทุนรวมวายุภักษ์จะเหลือหุ้นจำนวน 160 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 4.71%

หลังจากธนาคารจ่ายปันผลเสร็จ ทางกระทรวงการคลังก็จะโอนหุ้นคืนกลับมาให้แก่กองทุนรวมวายุภักษ์เช่นเดิม...พร้อมๆกับ เงินปันผล

เราจำเป็นต้องทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่ากระทรวงการคลังจะให้เราถอดหุ้น SCB-P ออกไป จนเหลือต่ำกว่า 5% หรือจนกว่ากระทรวงการคลังจะยอมซื้อหุ้นกลับไป

สำหรับกรณี ทรัพย์สินรวมของกองทุนเพิ่มขึ้นไปถึง 2 แสนล้านบาท (ต้นทุน 1 แสนล้านบาท) แต่มูลค่าหน่วยลงทุน (NAV) ของผู้ถือหน่วยลงทุน (ประเภท ก.) กลับขยับอยู่เพียง 10.60-10.70 เท่านั้น

ขณะที่ NAV ของผู้ถือหน่วยประเภท ข. กลับวิ่งไปถึง 20 บาท ทั้งๆที่กองทุนรวมวายุภักษ์ก็มีส่วนต่างจากราคาหุ้นของปตท. (PTT) จำนวนมาก เพราะมีต้นทุนเพียงหุ้นละ 63.35 บาท และยังได้หุ้นทีพีไอมาเพียง 3.30 บาทต่อหุ้น รวมถึง SCB-P ซึ่งมีต้นทุนเพียงหุ้นละ 31.35 บาท

ดร.พิชิต ชี้แจงว่า ตามกฎการบันทึกบัญชีเพื่อหาค่า NAV ของ SCB-P ไม่ว่าราคาตลาดของหุ้นจะขึ้นไปเท่าไร แต่เราจำเป็นต้องคำนวณจากราคา ต้นทุน เพื่อให้เป็นไปตามกฎการบันทึกบัญชี แต่หากมีการขายหุ้นออกมาก็สามารถบันทึกเป็นกำไรได้ทันที

สำหรับมูลค่าส่วนต่างจากหลักทรัพย์อื่นๆ นั้น แม้ทรัพย์สินรวมทุกประเภทจะขึ้นไปถึง 2 แสนล้านบาท แต่กองทุนวายุภักษ์ก็ยังต้องมี ภาระหนี้สิน ตามที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน เพื่อเอาไปหักกับสินทรัพย์อีกครั้ง

ในทางหนึ่ง เราอาจเรียกภาระส่วนนี้ว่าเป็น ค่าประกันภัย ตลอดการเดินทาง เนื่องจากผู้ถือหน่วยประเภท ก จะได้รับการคุ้มครองทั้ง เงินต้น และ ผลตอบแทน ขั้นต่ำปีละ 3% ตลอดอายุ 10 ปี

ทีนี้...การที่จะได้สิทธิเช่นนี้ ก็จะต้องมีหนี้สินบางอย่าง กำกับ เอาไว้

ส่วนสูตรคำนวณค่าประกันภัยค่อนข้างจะซับซ้อน แต่หลักการ ก็คือ ในภาวะที่ตลาดหุ้นยังดี...ถ้าหากมูลค่าหุ้นขึ้นไปเกินกว่าระดับหนึ่ง ทรัพย์สินส่วนหนึ่ง (รวมค่าประกันภัย) จะต้องแบ่งปันไปให้แก่กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นผู้ถือหน่วยประเภท ข ในสัดส่วนที่มากกว่าประชาชนทั่วไป (ประเภท ก)

..ยิ่งมูลค่าเพิ่มมากขึ้นเท่าไร สัดส่วนที่จะต้องให้กระทรวงการคลังก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

ถ้าหากตลาดหุ้นลง ค่าประกันภัยก็จะลดลงตาม หรือเมื่อ พอร์ตติดลบ ค่าประกันในส่วนนี้แทนที่จะหักออกไปให้กระทรวงการคลัง ก็จะกลายเป็นส่วนที่กระทรวงการคลังต้องจ่ายกลับให้แก่ประชาชน

เราคาดเดาได้ยากว่าในช่วง 10 ปีนี้ตลาดหุ้นจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง นี่เพิ่งจะผ่านมาเพียง 2-3 ปีเท่านั้น จะเรียกว่ามันเป็นค่า ประกันภัย เพื่อให้ประชาชนผู้ถือหน่วยลงทุน ได้รับความคุ้มครองตลอดการเดินทาง 10 ปี

 กลับขึ้นบน
อาฟง
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 1,238
#1 วันที่: 29/04/2006 @ 10:52:22 : re: ไขความลับ..วายุภักษ์ หนึ่ง
เกาะติดแผนการลงทุนของกองทุนรวม วายุภักษ์ หนึ่ง หลังทรัพย์สินของกองทุนเพิ่มขึ้นพรวดจาก 1 แสนล้านบาท แตะระดับ 2 แสนล้านบาทแล้ว...


ดร.พิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้บริหารกองทุนรวม วายุภักษ์ หนึ่ง อธิบายการลงทุนของวายุภักษ์ ว่า จากเดิมกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง บริหารพอร์ตเริ่มต้นที่ 1 แสนล้านบาท โดยแบ่งเงินกองทุนเป็น 2 ส่วน คือ กองแรกเป็นเงินจำนวน 7 หมื่นล้านบาท นำมาลงทุนในตลาดหุ้นทั้งหมด ซึ่งจะเป็นหุ้นรัฐวิสาหกิจ 11 ตัว ที่กระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ ภายใต้ข้อผูกพันว่าถ้าหากจะขายออก...ต้องขายให้กระทรวงการคลังก่อน

และในทางปฏิบัติถึงปัจจุบัน หุ้นในส่วน 7 หมื่นล้านบาทนี้ จะเป็นการถือยาวเพื่อเอาปันผล ไม่มีการซื้อขายในตลาด

ส่วนเงินกองทุนอีก 3 หมื่นล้านบาทนั้น แต่เดิมเป็น เงินสด ทีแรกเราก็เอาไปลงทุนพันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ คือหลักทรัพย์อะไรก็ตามที่มีความมั่นคงสูง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกันไว้ลงทุนใน หุ้นรัฐวิสาหกิจ ที่จะแปรรูปเข้าตลาดหุ้น และเพื่อเก็บไว้จ่ายเงินปันผลในอนาคต รวมถึงเผื่อกรณีฉุกเฉินจริงๆ

ต่อมาภายหลัง คณะกรรมการกำกับลงทุน (ตั้งโดยกระทรวงการคลัง) ได้ลงความเห็นใหม่กับเงินในส่วน 3 หมื่นล้านบาท โดยขยายกรอบการลงทุนให้สามารถนำทุนส่วนนี้ไปลงทุนในหุ้นกลุ่ม SET 50 ได้

ที่ต้องเพิ่มเงินลงทุนเข้ามาในตลาดหุ้น ก็เพื่อต้องการให้วายุภักษ์ได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น และนโยบายลงทุนก็ต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์

ปัจจุบันเงินกองทุนในส่วนที่ 2 ได้เพิ่มมูลค่าจาก 3 หมื่นล้านบาท เป็นกว่า 3.6 หมื่นล้านบาท และในจำนวนนี้มากกว่า 90% หรือประมาณ 3.25 หมื่นล้านบาท ได้นำไปลงทุนในตลาดหุ้น...เน้นการลงทุนแบบ แอ็คทีฟ คือ จะเทรดแบบซื้อมาขายไปตามสภาวะตลาด แต่ต้องเป็นการเทรดในกลุ่ม SET 50...ถ้าไม่ใช่ก็เทรดไม่ได้

ดร.พิชิต อธิบายเทคนิคการเทรดสำหรับเงินในส่วนนี้ว่า ถ้าราคาหุ้นมันขึ้นไปถึงจุดหนึ่งเราจะเริ่ม ทยอยขาย และหากไปถึงสัก 6-7% เราอาจจะขายหมด ซึ่งถือเป็นการซื้อขายเพื่อทำกำไรตามปกติ และไม่ได้เทรดเป็นจำนวนมากจนสร้างผลกระทบกับตลาดหุ้น เพราะต้องระมัดระวังพอสมควร เนื่องจากการเคลื่อนย้ายพอร์ตขนาดใหญ่อย่างวายุภักษ์ เราต้องห่วงผลกระทบในภาพรวม

การขายเราต้องค่อยๆ ขาย ไม่เช่นนั้นเราเองก็จะเสียผลประโยชน์จากผลกระทบ หรือแม้แต่การซื้อก็ต้องค่อยๆ ซื้อ เพราะถ้าซื้อเร็ว...เราก็จะซื้อแพง

สำหรับเงินกองทุนที่เหลืออีกราว 10% หรือประมาณ 3.5 พันล้านบาท จะเก็บไว้เป็น สภาพคล่อง โดยเอาไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลทั้งหมด เพื่อกันไว้สำหรับรอซื้อ หุ้นเพิ่มทุน หุ้นแปรรูปรัฐวิสาหกิจ หรือแม้แต่สำหรับ จ่ายปันผล

ดร.พิชิต อธิบายว่า ช่วงปลายปี 2548 ที่ผ่านมา เงินส่วนหนึ่งหลังการขยายกรอบการลงทุน กองทุนรวมวายุภักษ์ได้นำไปลงทุนใน หุ้นทีพีไอ จำนวน 1,950 ล้านหุ้น ใช้เงินไปประมาณ 6.43 พันล้านบาท (3.30 บาทต่อหุ้น)

ถ้ามองในเชิงการลงทุน...ไม่เกี่ยวกับการเมือง เราก็เชื่อมั่นว่าทีพีไอคือหุ้นที่ดี และน่าลงทุนในระยะยาว

ดร.พิชิต ชี้แจงต่อไปว่า ถ้าหากจะขาย หุ้นทีพีไอ ออกมาเพื่อทำกำไร ก็สามารถขายได้ทันทีผ่านตลาดหุ้น...ไม่ต้องขายให้แก่กระทรวงการคลัง เพราะถือเป็นการลงทุนตามปกติ

แต่เราคงไม่ขาย เพราะต้องการถือ หุ้นทีพีไอ ยาวพอสมควร อย่างน้อยๆ ก็ประมาณ 2-3 ปีจากนี้ แต่หลังจากนั้น..ก็มีสิทธิที่จะขายได้เช่นกัน แต่ถ้าหากจะขายก้อนใหญ่เราก็ต้องคุยกับกลุ่มพันธมิตรที่เข้าไปร่วมซื้ออยู่ด้วยกันทั้งปตท. กบข. และธนาคารออมสิน

อย่างไรก็ตาม มักมีข้อสงสัยว่ากองทุนรวมวายุภักษ์จะเป็นเพียงทางผ่านหุ้นทีพีไอ...ไปสู่บุคคลที่สามหรือไม่

ขอชี้แจงประเด็นนี้ เราก็คงไม่เอาตัวเองไปเสี่ยงกับเรื่องทำนองนี้ เครดิตและภาพลักษณ์ที่เสียไป...มันกู้คืนมาไม่ได้

ทั้งนี้ สำหรับประเด็นการจ่ายผลตอบแทน ดร.พิชิต ยอมรับว่าค่อนข้างจะเป็นห่วงกับมุมมองของผู้ถือหน่วยลงทุนที่ไม่ต้องการผลตอบแทนที่แย่กว่าการลงทุนในรูปแบบอื่นที่มีความเสี่ยงใกล้เคียงกัน

โดยปีแรกทางกองทุนรวมวายุภักษ์ 1 ได้จ่ายปันผล 2 ครั้ง รวม 6.5% ...ซึ่งสูงกว่าพันบัตรรัฐบาลระยะ 10 ปี ที่ผลตอบแทนเพียง 3-4% และในปีที่สอง จ่ายปันผลอีก 6.0% ขณะที่ช่วงนั้นพันธบัตรรัฐบาลระยะ 9 ปี ให้ผลตอบแทนที่ 5%

ปีนี้ (2549) ดอกเบี้ยมันขึ้นมามาก เราคุยกันแล้วว่า ยังไงแนวโน้มก็น่าจะจ่ายผลตอบแทนให้ไม่ต่ำกว่าผลตอบแทนจากหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงใกล้เคียงกัน กำไรสะสมของเราก็มีเยอะ เพราะต้นทุนของเรา คือ 1 แสนล้านบาท ตอนนี้เกือบ 2 แสนล้านบาท แล้ว ก็น่าจะจ่ายผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหน่วยได้ไม่ต่ำกว่าพันธบัตรรัฐบาลระยะ 8 ปี ที่ให้ผลตอบแทนอยู่ประมาณ 5.7%

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ BizWeek[/color:7f1ee78180">
 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com