May 7, 2024   2:55:44 PM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > หุ้นยานยนต์ไตรมาสแรกปี"49 ทรุดมากกว่าทรง
 

P_aud
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 531
วันที่: 20/07/2006 @ 21:36:02
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันล้วนถูกกดดันจากปัจจัยลบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาน้ำมันแพงความไม่แน่นอนทางการเมือง การปรับตัวสูงขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้ทั้งภาคการบริโภคและการผลิตในประเทศชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด และส่งผลโดยตรงต่อภาวะเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ล่าสุดทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกมายอมรับว่า หากปีหน้าถ้าเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์อย่างรุนแรง เพราะอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอัตราดอกเบี้ยและราคาน้ำมันโดยตรง

ผลดังกล่าวเริ่มทำให้หุ้นในกลุ่มยานยนต์หลายตัวมีปัญหาเรื่องผลกำไรลดลงอย่างถ้วนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ข่าวหุ้นธุรกิจ จึงได้สำรวจผลประกอบการไตรมาสแรก 2549 โดยใช้เกณฑ์การเปลี่ยนแปลงของกำไรต่อหุ้นเรียงลำดับจากมากไปน้อย พบว่าส่วนใหญ่มีผลการดำเนินงานปรับตัวลดลงกว่า 16 บริษัท จากจำนวนทั้งหมด 19 บริษัทโดยมีบริษัทที่ปรับเพิ่มขึ้นเพียง 3 บริษัทเท่านั้น

โดยหุ้นที่มีผลการดำเนินงานปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ SPG หรือ บริษัท สยามภัณฑ์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มีกำไรต่อหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุด 88.89 % จาก 0.63 บาทต่อหุ้น มาเป็น 1.98 บาทต่อหุ้น เป็นผลมาจากบริษัทมีการปรับราคาขายสินค้าต่างประเทศตามภาวะต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ อัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นมาที่ 41.07 ล้านบาท เทียบงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 21.72 ล้านบาท

รองลงมา BAT-3K หรือ บริษัท ไทยสโตเรจ แบตเตอรี่ จำกัด (มหาชน) ซึ่งดำเนินประกอบธุรกิจ ผลิตและจำหน่ายแบตเตอรี่รถยนต์ แบตเตอรี่รถจักรยานยนต์แบตเตอรี่รถยก (Traction Battery) แบตเตอรี่สำรองไฟ (Deep Cycle Battery)โดยจำหน่ายภายในประเทศภายใต้ชื่อการค้า 3K มีกำไรต่อหุ้นปรับเพิ่มขึ้น 38.54 %จาก1.92 บาทต่อหุ้น ปรับมาที่ 2.66 บาท

สาเหตุที่กำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้นมาจากรายได้รวมของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นเป็น 266.84 ล้านบาท คิดเป็น 41.54% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากมีมูลค่าขายในประเทศเพิ่มขึ้น 42.83% และบริษัทฯสามารถเพิ่มปริมาณการส่งออก เป็นผลให้มีมูลค่าขายต่างประเทศเพิ่มขึ้นในอัตรา 41.06%

อันดับสาม STANLY หรือ บริษัท ไทยสแตนเลย์การไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ผลิตหลอดไฟ และอุปกรณ์ส่องสว่างสำหรับวิศวกรรมยานยนต์ ด้วยวิทยาการที่ทันสมัยจากการผลิตที่ครบวงจรที่สุด ทั้งโรงงานหลอดไฟ (Bulb) , โรงงานแม่พิมพ์โลหะ (Die &Mold ) และโรงงานผลิตโคมไฟ (Lamp) มีกำไรต่อหุ้นไตรมาส1 (ใช้ช่วง ม.ค. 49- 31 มี.ค49 เพื่อให้ตรงกับบริษัทอื่น ) เพิ่มขึ้น 29.74% จาก 2.79 บาทต่อหุ้น ขยับขึ้นเป็น 3.62 บาทต่อหุ้น

เนื่องจากบริษัทมียอดขายเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน อันเป็นผลมาจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมยานยนต์ ในประเทศไทย โดยในช่วงปี พ.ศ. 2548รถยนต์มียอดผลิตถึง 1,153,000 คัน ส่งผลให้ความต้องการชิ้นส่วนยานยนต์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย และถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่สามารถผลิตรถยนต์ได้ถึง1ล้านคัน

ส่วนกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น มาจากหลายปัจจัย บริษัทมีการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งในที่ผ่านมาบริษัทมีการออก MODEL สินค้าใหม่ออกมาเป็นระยะ ในขณะเดียวกันบริษัทก็สามารถควบคุมปริมาณของเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันดับสี่ KPN หรือ บริษัท เคพีเอ็น ออโตโมทีฟ จำกัด (มหาชน) กำไรต่อหุ้นปรับตัวลงเล็กน้อย 2.04% มาที่ 0.48 บาทต่อหุ้น จากงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 0.49 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเพียง 47.90 ล้านบาทจากงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 46.48ล้านบาท

แม้ผลการการดำเนินงานที่ออกมาไม่ค่อยเด่น เนื่องจากยอดรายได้เดือนแรกลดลงก่อนจะมาเริ่มดีขึ้นประมาณเดือนที่ 2-3 ประกอบกับบริษัทไปลงทุนเรื่องลอจิสติกเพิ่มเติมคือ ขยายแวร์เฮาส์ใหม่ให้กับยามาฮ่า และลูกค้าบางราย จึงมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากธุรกิจลอจิสติก ขณะที่ตัวผู้บริหารคาดว่าในไตรมาส 2 ผลการดำเนินงานจะดีขึ้น โดยบริษัทยังคงเป้ารายได้ในปีนี้อยู่ที่ 3,300ล้านบาท หรือเติบโตประมาณ30% จากปีก่อนที่มีรายได้ 2,543 ล้านบาท

ที่น่าสนใจ คือ บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนรายใหญ่ของตลาดฯ ต่างประสบปัยหาผลกำไรลดลงกันอย่างถ้วนหน้า อาทิ SAT หรือ บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน)มีกำไรต่อหุ้นลดลง 11.11% จาก0.36 บาทต่อหุ้น มาที่ 0.32 บาทต่อหุ้น โดยกำไรสุทธิปรับตัวลดลงเหลือ 97.11 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อน 100.17 ล้านบาท

บริษัท ยานภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) หรือ YNP เป็นอีกรายที่มีผลการดำเนินงานย่ำแย่ โดยกำไรสุทธิปรับตัวลดลงมาที่ 51.17 ล้านบาท จากเดิมอยู่ที่ 59.73 ล้านบาทส่งผลให้กำไรต่อหุ้นลดลง 33.33% จาก 0.24 บาท มาที่ 0.16 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นผลมาจาก ต้นทุนขาย และค่าใช้จ่ายไตรมาสแรก 2549เพิ่มขึ้น 25.44%

เนื่องจากบริษัทมีสินค้าคงเหลือมากเกินความจำเป็น รวมทั้งต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายจากการจ้างแรงงานภายนอกเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็ประสบปัญหาเรื่องราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวเป็นขาลงอย่างถาวร

ยิ่งกระทรวงอุตสาหกรรมออกมายอมรับว่า เศรษฐกิจชะลอตัวมีผลกระทบต่อยอดขายรถยนต์ ขณะที่ภาคเอกชนก็ออกมายอมรับว่าตลาดคงขยายตัวได้ไม่เกิน 5% ส่งผลทำให้ YNPต้องปรับลดกำลังผลิตเหลือเพียง 70% หลังยอดขายรถยนต์โตโยต้า ยาริสไม่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค

เช่นเดียวกับ AH หรือ บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน)ประสบกับปัญหากำไรสุทธิลดลงอย่างฮวบฮาบเหลือแค่ 114.49 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อน 205.39 ล้านบาท ซึ่งส่งผลให้กำไรต่อหุ้นปรับตัวลดลงมากถึง 44.19 % จาก 0.86บาทต่อหุ้น ปรับลดลงมาที่ 0.48 บาทต่อหุ้น

สาเหตุหลักที่ทำให้กำไรสุทธิไตรมาสแรกลดลงอย่างมาก เป็นผลมาจากการให้ส่วนลดของการจำหน่ายชิ้นส่วนช่วงล่างรถกระบะ ให้แก่อีซูซุ คิดเป็นเงินสูงถึง 108 ล้านบาทซึ่งเป็นผลจากการให้ส่วนลดตามสัญญากับทางอีซูซุ

ส่วนหุ้นประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่องจากปีก่อน ได้แก่ SMC, CWT โดย บริษัทชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CWT มีผลการดำเนินงานขาดทุนอย่างหนักถึง 111.70 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อนขาดทุน17.80 ล้านบาท ส่งผลให้ตัวเลขขาดทุนต่อหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 2.45 บาท จากงวดเดียวกันของปีก่อน 0.39 บาท หรือปรับตัวลดลง 457.78%

สาเหตุที่บริษัทขาดทุนเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มขึ้น 93.18ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการตั้งค่าเผื่อมูลค่าสินค้าเป็นจำนวน 21.63 ล้านบาทและตั้งค่าเผื่อการด้อยค่าของเงินลงทุนจำนวน 70.16 ล้านบาท

เหล่านี้เป็นภาพสะท้อนที่ชี้ให้เห็นว่า ปีนี้คงไม่ใช่ปีทองของหุ้นกลุ่มยานยนต์ค่อนข้างชัดเจน และนักลงทุนรายใดที่คิดลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ก็ควรเลือกเข้าซื้อหุ้นที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวภาคอุตสาหกรรมยานยนต์น้อยที่สุด

ที่มา:
ข่าวหุ้น [/color:e3fe2ec3a8">

 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com